“เซ็นทรัล” กับความสำเร็จ ตำราเล่มใหญ่ที่น่าศึกษา

เมื่อวานนี้ผมเล่าถึงตำนาน “72 ปี ห้างเซ็นทรัล” มาจบที่กำเนิด เซ็นทรัล ลาดพร้าว เมื่อ พ.ศ.2526 ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นศูนย์การค้าใหญ่ที่สุด โออ่าทันสมัยที่สุด มีทั้งโรงแรม และศูนย์การประชุมทันสมัยรวมอยู่ด้วย

แล้วผมก็ทิ้งท้ายว่า เซ็นทรัล ลาดพร้าว เป็นทั้ง “โชคลาภ” และ “ทุกขลาภ” ของเครือเซ็นทรัลเพื่อที่จะมาเฉลยต่อในวันนี้

ในแง่ของโชคลาภก็คือ เซ็นทรัล ลาดพร้าว ประสบความสำเร็จอย่างสูงยิ่ง ทำรายได้ให้แก่กลุ่มเซ็นทรัลสูงสุดใน พ.ศ.ดังกล่าว

ความดังและความ “ใหญ่” ได้มาตรฐานของศูนย์การประชุม บางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ทำให้กระทรวงการคลัง เลือกเซ็นทรัลลาดพร้าว เป็นสถานที่สำหรับจัดการประชุมประจำปี “ธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟ” ครั้งที่ 46 พ.ศ.2534 ในประเทศไทย

การประชุมระดับโลกนี้ ปกติจะจัดที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา แต่ทุก 3 ปี จะออกไปจัดที่ประเทศสมาชิกเป็นการสลับฉาก

เมื่อประเทศไทยขอเป็นเจ้าภาพพร้อมกับยื่นเอกสารประกอบเกี่ยวกับสถานที่จัดประชุม คือบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ที่ว่านี้แก่ธนาคารโลก ก็ได้รับฉันทานุมัติในทันที

แต่พอกระทรวงการคลังเริ่มเตรียมการโดยส่งสารไปเชิญชาติสมาชิกทั่วโลกให้มาประชุมในบ้านเราพร้อมกำหนดไว้ว่าจะประชุมในเดือนตุลาคมปี 2534

ก็มีข่าวแพร่สะพัดไปว่าเซ็นทรัล ซึ่งจะหมดสัญญาการเช่าพื้นที่ลาดพร้าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ขอต่อสัญญาและร่ำลือกันว่าได้ใช้คำพูดในทำนองว่าหากไม่ต่อประเทศไทยจะจัดการประชุมธนาคารโลกไม่ได้ เพราะห้องประชุมจะอยู่ที่นี่

ทำให้หัวหน้ารัฐบาลขณะนั้นคือนายกฯ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ โกรธมาก หาว่าแบบนี้ข่มขู่กัน หันไปสั่งให้กระทรวงการคลังจัดสร้างศูนย์ประชุมแห่งใหม่ทันที

สร้างอย่างเร่งด่วนให้แล้วเสร็จภายในเวลาประมาณปีเศษๆ ก่อนการเป็นเจ้าภาพการประชุมธนาคารโลกให้จงได้

เป็นที่มาของการสร้าง ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งกระทรวงการคลังก็สามารถสร้างได้เสร็จทัน สามารถจัดการประชุมธนาคารโลกได้อย่างยิ่งใหญ่

แต่รัฐบาลที่เข้ามาจัดการประชุมกลับมิใช่รัฐบาลของ “น้าชาติ” พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ…เพราะคงจะจำกันได้ว่าท่านถูกรัฐประหารไปในเดือนกุมภาพันธ์ของปี 2534 นั้นเอง

ประเทศไทยได้ คุณ อานันท์ ปันยารชุน มาเป็นนายกรัฐมนตรี และเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมธนาคารโลกระหว่างวันที่ 1-15 ตุลาคม 2534 และได้รับคำชื่นชมจากผู้เข้าประชุมกว่า 10,000 คน จากประเทศสมาชิกธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟ ว่าจัดการประชุมได้อย่างยอดเยี่ยม

การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลอย่างกะทันหัน และไม่คาดฝัน น่าจะเป็นผลดีต่อห้างเซ็นทรัลในโอกาสต่อมา เพราะรัฐบาลน้าชาติที่เคยโกรธเซ็นทรัล และสั่งให้สร้างศูนย์สิริกิติ์ฯ แทนบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ลาดพร้าว หลุดจากอำนาจไปเรียบร้อย

ดูเหมือนว่า “ทุกข์” ของเซ็นทรัลกรณีลาดพร้าวจะเลือนหายไปหลังจากนั้น และในที่สุดก็ได้ต่อสัญญากับการรถไฟฯ และยังคงประกอบกิจการมาจนถึงปัจจุบัน ผมเองยังแวะไปเดินเล่นบ่อยครั้ง

จากนั้นเป็นต้นมาธุรกิจของเซ็นทรัลก็เจริญรุ่งเรืองอย่างไม่หยุดยั้ง มีการขยายสาขาไปต่างจังหวัดคือที่เชียงใหม่เป็นสาขาแรก เมื่อ พ.ศ.2535 แล้วก็ตามมาด้วยจังหวัดโน้นจังหวัดนี้ จนกระทั่งถึงประเทศโน้น ประเทศนี้ ดังที่เราได้ยินข่าวมาอย่างต่อเนื่อง

ความสำเร็จของ “เซ็นทรัล” เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจยิ่ง…แน่นอนย่อมมาจากผู้บริหารชุดต่างๆ ที่มากไปด้วยฝีมือและวิสัยทัศน์ และสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นอย่างเป็นระบบ

ไม่มากนักที่ธุรกิจแบบครอบครัวและก็เป็นครอบครัวใหญ่จะ “สามัคคีปรองดอง” รวมพลังการบริหารธุรกิจขนาดยักษ์ได้ถึงขนาดนี้

ผมขอแสดงความยินดี ในความสำเร็จของตระกูล “จิราธิวัฒน์” อีกครั้งหนึ่ง แต่ก็มีความในใจอะไรบางอย่างที่อยากจะฝากไปถึงผู้หลักผู้ใหญ่ของตระกูลในยุคนี้ ซึ่งจริงๆ แล้วก็อยากจะฝากต่อไปถึงคนรวยทุกๆ คนของประเทศไทย ไม่ว่าจะติดอันดับเท่าไหร่ของฟอร์บส์ก็ตาม

เผอิญเนื้อที่หมดอีกแล้ว ขออนุญาตเก็บความในใจถึงคนร่ำรวยทั้งหลายของผมไปขยายความต่อในฉบับวันจันทร์ ก็แล้วกันครับ!

“ซูม”