เอาใจช่วยขอให้ “สำเร็จ” โครงการ “รถไฟ” 3 สนามบิน

หนังสือพิมพ์หลายฉบับลงข่าวว่า วันพรุ่งนี้ พฤหัสบดีที่ 24 ตุลาคม ช่วงบ่ายๆ จะมีการลงนามสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทยกับกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด หรือที่เราเรียกกันย่อๆ ว่า “กลุ่มซี.พี.”

ในรายงานข่าวที่ว่านี้ระบุด้วยว่าพิธีจะมีขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานด้วยตัวเอง

ท่านที่ติดตามข้อเขียนของผมมาโดยตลอด คงจะพอจำได้ว่าผมห่วงใยโครงการนี้มาก เพราะเป็นโครงการที่ยากแก่การคุ้มทุน และเสี่ยงเป็นอย่างยิ่งในทัศนะของผม

ถึงแม้จะมีภาคเอกชนมาร่วมเสี่ยงด้วย ผมก็ยังรู้สึกไม่ค่อยสบายใจ เพราะเงินในส่วนของภาครัฐบาลที่คนไทยทุกคนเป็นเจ้าของก็ค่อนข้างเยอะ หากการลงทุนไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ก็จะทำให้ประเทศชาติต้องสูญเสียเงินไปอย่างน่าเสียดาย

ต่อมาหลังจากมีโอกาสได้พูดคุยกับน้องๆ ที่รับผิดชอบโครงการ EEC แล้วก็รู้สึกใจอ่อนลงไปเยอะเพราะส่วนใหญ่เป็นศิษย์เก่าสภาพัฒน์มาด้วยกัน เคยร่วมงานกันมาในยุคที่มีการวางรากฐานพัฒนาประเทศครั้งใหญ่ สมัย พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี

ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ยํ้ากับผมว่า โครงการนี้เปรียบเสมือนหัวหอกของ EEC ใหญ่ทั้งหมด และได้เดินหน้าไปถึงขั้นเปิดประมูล และคัดเลือกภาคเอกชนที่เสนอเงื่อนไขดีที่สุดไว้แล้ว

ถ้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบินไม่เกิดโครงการทั้งหมดที่วาดหวังกันไว้ หรือคิดฝันกันไว้ใน EEC จะไม่มีวันเกิดขึ้นได้เลย

ซึ่งจริงๆ แล้วผมก็ไม่เห็นด้วยทั้งโครงการ EEC นั่นแหละ เพราะล้วนแต่มีความเสี่ยงสูงทั้งสิ้น

แต่จะทำอย่างไรได้ เพราะเดินหน้ามาจนถึงขนาดนี้แล้ว เหมือนเครื่องบินกดปุ่มสตาร์ตออกวิ่งไปตามลานบิน เตรียมตัวจะเงยหัวอยู่แล้ว จะเบรกกะทันหันก็คงเบรกไม่ได้

ก็ต้องหันมาเอาใจช่วยและขอให้โครงการใหญ่ที่มีความเสี่ยงสูงนี้ จงประสบความสำเร็จในที่สุด

ผมต้องถือโอกาสนี้ ขอบคุณ ซี.พี.โฮลดิ้ง และพันธมิตร ที่ตัดสินใจกระโจนเข้ามาร่วมในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และจะลงนามในสัญญาวันพรุ่งนี้

แม้จะมีคนว่า ซี.พี. โยกโย้เล่นแง่เล่นมุม ไม่ค่อยอยากเซ็น จะมีลับลมคมในอะไรหรือเปล่า แต่ผมกลับเห็นใจและเข้าใจว่านี่คือการตัดสินใจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของ ซี.พี. ย่อมจะต้องคิดอย่างรอบคอบที่สุด

เท่าที่ผมเคยเขียนถึง ซี.พี. ก็ฝากไว้แต่เพียงว่า เมื่อท่านขันอาสาจะช่วยพัฒนาประเทศชาติ ดังที่ผู้บริหารระดับสูงของท่านได้กล่าวไว้ในการประชุมใหญ่ของ ซี.พี. ผมก็หวังไว้ว่าหากโครงการนี้มีอะไรเกิดขึ้นในอนาคต ขอ ซี.พี.อย่าฟ้องเรียกค่าโง่จากรัฐบาลไทยก็แล้วกัน

ผมขอเอาใจช่วยให้การลงนามในวันพรุ่งนี้จงดำเนินไปด้วยดี และขอให้โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินอันเปรียบประดุจโครงการ “หัวหอก” จงเดินหน้าไปสู่ความสำเร็จ

รวมถึงโครงการ EEC ใหญ่ทั้งโครงการ ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานหลักถึง 650,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐภาคเอกชนทุกโครงการ มากบ้างน้อยบ้างจงประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน

ผมเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่กลัวการลงทุนใหญ่มาโดยตลอด ในยุคป๋าเปรมตอนที่สภาพัฒน์ทำโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด พวกผมทำทางด้านพัฒนาชนบทยากจน ผมก็เป็นห่วงเพื่อนๆ ฝ่ายอีสเทิร์นซีบอร์ดกลัวว่าเขาจะพลาด

แต่ในที่สุดเราเอาตัวรอดได้หมด ไม่มีใครพลาด โดยเฉพาะซีกอีสเทิร์นซีบอร์ดไปได้สวยมาก โชติช่วงชัชวาลมาจนถึงเดี๋ยวนี้

ก็ได้แต่หวังว่าการต่อยอดอีสเทิร์นซีบอร์ดใน พ.ศ.นี้ ซึ่งใช้เงินลงทุนสูงมากจะประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน…

อย่าว่าอะไรเลย หากผมจะสวดมนต์เอาใจช่วยบ้าง เพราะตอนอีสเทิร์นซีบอร์ดยุคโน้นผมก็ตั้งนโมหลายครั้ง เพียงแต่ไม่ได้กราบเรียนให้ท่านอาจารย์ ดร.เสนาะ อูนากูล เจ้านายผม และ ดร.สาวิตต์ โพธิวิหค เพื่อนผมรับรู้รับทราบเท่านั้นเอง.

“ซูม”