ในฉบับเมื่อวานนี้ความหลังที่สามย่านของผมมาจบลงที่โรงจำนำ “ฮะติ๊ดหลี” ซึ่งเป็นโรงจำนำเก่าแก่คู่กับตลาดสามย่านมานานมาก
อย่างน้อยก็ต้องก่อน พ.ศ.2502 ที่ผมมาฝากเนื้อฝากตัวเป็นชาวสามย่านอย่างแน่นอน เพราะตอนที่ผมอพยพมาเช่าห้องที่อยู่ตรงข้ามกับวัดหัวลำโพงนั้น โรงจำนำแห่งนี้ก็เปิดให้บริการอยู่แล้ว
เวลาผมไม่มีเงินใช้เพราะทางบ้านส่งเงินมาไม่ทัน ก็จะเดินไปเข้าฮะติ๊ดหลี โดยมีแหวนบ้าง นาฬิกาบ้างไปจำนำ และพอทางบ้านส่งเงินมาให้ก็จะมาไถ่ถอนคืน
รู้จัก “แปะโป้ง” คือพิมพ์หัวแม่มือในกระดาษที่เรียกว่าตั๋วจำนำแผ่นแรกในชีวิตก็ที่โรงจำนำนี้แหละครับ
นอกจากผมจะใช้บริการของ “ฮะติ๊ดหลี” จนคุ้นเคยแล้วผมเชื่อว่า เด็กจุฬาฯ และเด็กเตรียมจากต่างจังหวัดใน พ.ศ.นั้นน่าจะมาใช้บริการของที่นี่ด้วยจำนวนมาก
จนคำว่า “ฮะติ๊ดหลี” เป็นคำพูดติดปากของชาวจุฬาฯ และในเพลงคล้ายเพลงเชียร์ที่เพื่อนจุฬาฯ แต่งร้องกันเองในวงเหล้าจะมีอยู่เพลงหนึ่งที่ลงท้ายด้วยการเดินไปเข้าโรงจำนำแห่งนี้
หลายๆ ปีต่อมา บัณฑิตอักษรศาสตร์รายหนึ่งที่มาเป็นประชาสัมพันธ์ของโรงภาพยนตร์ สยามลิโด้สกาล่า อยู่หลายปี ตอนหลังไปสร้างภาพยนตร์ไทยฟอร์มใหญ่เรื่องหนึ่งเขาก็หยอดเรื่องราวของฮะติ๊ดหลีไว้ในภาพยนตร์ของเขาด้วย
ชื่อของเขาอยู่ที่ริมฝีปากนี่เอง นึกอยู่นานยังนึกไม่ออกเลยต้อง ขอผ่านไปก่อน
ผมเขียนถึงฮะติ๊ดหลีเสียยาวก็เพื่อจะส่งข้อความไปถึงท่านที่เป็นผู้รับผิดชอบในการสร้างพิพิธภัณฑ์เล็กๆ หรือนิทรรศการเล็กๆ ว่าด้วยเรื่องราวของสามย่านที่ผมเล่าแล้วว่าตั้งอยู่ในมุมใดมุมหนึ่งของอาคาร สามย่านมิตรทาวน์ และเป็นอีกจุดที่ผู้คนชอบไปถ่ายรูปเช็กอิน
ในพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวแม้จะเล่าเรื่องสามย่านได้ดีพอสมควร แต่ผมว่ายังไม่ครบและยังขาดสัญลักษณ์ของสามย่านหลายๆ อย่าง
แม้จะมีเรื่องราวของร้าน “จีฉ่อย” ห้องแถวเล็กๆ ที่ดูเหมือนขายโชห่วย แต่ขายสารพัดอย่างตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันคอมพิวเตอร์ (ผมเองก็เคยเขียนถึงในคอลัมน์ซอกแซกหลายปีมาแล้ว)
หรือแม้จะเอ่ยถึง นพชูส์ ร้านตัดรองเท้าของสามย่าน และร้านถ่ายรูป อัดรูป ทีมคัลเลอร์แล็บ ฯลฯ รวมถึงโรงภาพยนตร์สามย่านรามา และโจ๊กสามย่านเอาไว้ด้วย
แต่การไม่เอ่ยถึง “ฮะติ๊ดหลี” เลยผมว่าจะขาดสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความเป็นสามย่านไปน่ะนา
ไม่เอ่ยถึง “ซ่องนางโลม” ข้างๆร้านหมอญี่ปุ่นไม่เป็นไร เพราะเป็นเรื่องลับใต้ดินของหนุ่มๆจุฬาฯและหนุ่มที่นมเพิ่งแตกพานอย่างเด็กเตรียมเช่นผม ซึ่งอาจจะไม่เป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวางเท่าไรนัก
แต่ไม่เอ่ยถึง “ฮะติ๊ดหลี” โรงจำนำคู่บารมีสามย่านเลยเนี่ย ศิษย์เก่าสามย่านชักน้อยใจแล้วนะครับ
กลับมาพูดถึงความเห็นรวมๆส่งท้ายกันดีกว่า เพื่อให้ข้อเขียนชุด “สามย่านมิตรทาวน์” ของผมจบลงได้ในวันนี้
ผมอยากจะบอกว่าถ้าผมเลือกได้ ผมยังอยากจะเห็นสามย่านทั้ง 2 ฝั่งถนนพญาไทและด้านถนนพระราม 4 ยังเป็นตึกแถวโบราณเหมือนเดิม
แต่ผมคงเลือกไม่ได้เพราะทุกสรรพสิ่งต้องมีการเปลี่ยนแปลงและทางฝ่ายบริหารของจุฬาฯก็คงต้องเปลี่ยนแปลงพัฒนาไปเรื่อยๆ
ผมขอบคุณที่ยังเก็บเรื่องราวของสามย่านไว้บ้าง แม้จะไม่ครบ แต่ก็ให้ภาพได้ดีพอใช้ และขอบคุณที่คณะผู้สร้างมีเจตนาที่จะให้ “มิตรทาวน์” เป็นศูนย์รวมทางด้านการเรียนด้วย
การให้เปิดบริการ 24 ชั่วโมงและให้มีโต๊ะนั่งดูหนังสือยามดึกๆ หรือโต้รุ่งเป็นความคิดที่ถูกใจผมที่สุด
ขอให้การลงทุนประสบความสำเร็จได้เงิน 9,000 ล้านบาทคืนนะครับ ส่วนทางจุฬาฯ นั้นผมมั่นใจว่าเงินค่าเช่าหรือค่าอะไรต่างๆ ที่จุฬาฯ ได้จากโครงการนี้จะมีส่วนช่วยอย่างมากในการพัฒนาการศึกษาของจุฬาฯให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นไปอีกในอนาคตข้างหน้า
ส่วนจะไปเติมเรื่องราวของฮะติ๊ดหลีหรือไม่ก็สุดแต่จะพิจารณานะครับ ผมไม่ซีเรียสอะไรหรอก เพียงแค่อยากจะให้ประวัติหรือตำนานสามย่านของท่านสมบูรณ์แบบเท่านั้นเอง.
“ซูม”