สามย่านแห่งความหลัง 60 ปีก่อนมี “มิตรทาวน์”

เมื่อวานนี้ผมเขียนเรื่อง “สามย่านมิตรทาวน์” ศูนย์การค้าใหม่ที่เป็น “ของหอม” ก้อนใหม่ของคนกรุง ถึงบรรยากาศทั่วไป

ที่ผมเห็นด้วยสายตา ยังไม่ได้ลงลึกไปถึงข้อมูลอื่นๆ ของโครงการนี้

กลับถึงบ้านเข้า “กูเกิล” (ทำตามนายกฯแนะ) ทำให้ทราบว่า โครงการนี้เป็นโครงการประเภท“มิ๊กซ์ยูส” หรือใช้ประโยชน์หลายๆ อย่าง มีทั้งที่อยู่อาศัย, โรงแรม, อาคารสำนักงาน และพื้นที่ค้าปลีก

เพราะฉะนั้น “ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์” ที่ผมเขียนถึงเมื่อวานนี้ จึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งใน 4-5 ส่วนของโครงการนี้เท่านั้นเอง

เพียงแต่เป็นเสมือนส่วนที่เป็น “ด่านหน้า” ของโครงการ จะเรียกเสียว่าเป็น “นางกวัก” เรียกแขกให้แก่โครงการก็คงจะได้

เพราะจะทำให้คนรู้จักโครงการพูดถึงโครงการอย่างกว้างขวางอันจะเป็นผลให้ส่วนอื่นๆ ของโครงการมีคนมาอยู่อาศัย มีคนมาพักโรงแรม หรือมาเช่าห้องทำงานจนเต็มพื้นที่ในที่สุด

ใน วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรีระบุว่า เจ้าของโครงการก็คือบริษัท ยูนิเวนเจอร์ จำกัด มหาชน ซึ่งเป็นคู่สัญญาเช่าที่ดินจำนวน 13 ไร่ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นเวลา 30 ปี และใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 9,000 ล้านบาท ในการก่อสร้างต่างๆ

พร้อมกันนี้ก็ลงรูปภาพให้เห็นโครงการทั้งโครงการ ซึ่งก็จะปรากฏว่าส่วนที่เป็นศูนย์การค้าซึ่งมีเพียง 6 ชั้นนั้น เล็กไปถนัดใจเมื่อเทียบกับตึกสูงตระหง่านอีก 2 ตึก ซึ่งจะเป็นคอนโดฯ ออฟฟิศทำงาน และโรงแรมที่อยู่ข้างหลัง

สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมของที่ดินผืนที่นำมาจัดทำโครงการสามย่านมิตรทาวน์นั้น วิกิพีเดียขยายความว่า “พื้นที่โครงการทั้งหมด ตั้งอยู่บริเวณหมอน 21-22 เป็นที่แปลงหนึ่งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่จัดสรรไว้สำหรับประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์

“เดิมทีที่ดินผืนนี้เป็นที่ตั้งของตลาดสามย่านและอาคารพาณิชย์โดยรอบจำนวน 171 คูหา ใช้ประโยชน์หลายอย่าง เช่น ที่พักอาศัย ร้านสะดวกซื้อ ธนาคาร ร้านอาหาร และร้านค้าทั่วไป ฯลฯ”

อ่านแล้วก็ทำให้ผมนึกถึงความหลังย้อนกลับไปถึงปี 2502 ที่ผมเคยมาเป็นสมาชิกคนหนึ่งของชุมชนสามย่าน โดยมาเช่าห้องพักอยู่กับเพื่อนนักเรียนเตรียมอุดมอีก 2-3 คน ที่บ้านของผู้มีอันจะกินรายหนึ่ง ตั้งอยู่ตรงข้ามวัดหัวลำโพง ซึ่งก็คือ จามจุรีสแควร์ ใน พ.ศ.นี้ นั่นเอง

ยุคนั้นตลาดสามย่านจะมีทั้ง 2 ฟากฝั่งถนนพญาไท และเป็นตลาดที่สร้างในลักษณะตึกแถวเฉพาะริมถนนเท่านั้น แต่ด้านหลังตึกที่อยู่ในซอกซอยต่างๆ จะเป็นอาคารไม้เสียเป็นส่วนมาก

ตลาดสามย่านได้ชื่อว่าเป็นย่านที่อุดมด้วยอาหารการกินมานานแล้ว ทางซีกที่ผมอยู่จะมีร้านข้าวต้ม และร้าน “กาแฟแข็ง” คือใช้กาแฟดำใส่แก้วไปแช่ตู้เย็นจนเป็นน้ำแข็ง สัญลักษณ์ประการหนึ่งของสามย่าน

ในช่วงที่ผมอยู่สามย่านนั้นยังไม่มีร้านอาหารทะเล “สมบูรณ์ภัตตาคาร” เพราะร้านนี้เพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อปี 2512 หลังผมเรียนจบเตรียมอุดมและย้ายจากสามย่านไปอยู่ท่าพระอาทิตย์เพื่อเรียนหนังสือต่อที่ท่าพระจันทร์ เมื่อปี 2503 ถึง 9 ปี

ภาพเด่นที่ยังอยู่ในความทรงจำของเด็กหนุ่มสามย่านยุคโน้นน่าจะเป็นร้าน แพทย์ญี่ปุ่น ร้านหนึ่ง ซึ่งอยู่ในหมู่บ้านหลังตลาดสามย่านที่กลายเป็นที่ตั้งของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีของจุฬาฯ ในปัจจุบัน

ผมจำชื่อร้านหมอ ซึ่งเป็นชื่อญี่ปุ่นไม่ได้เสียแล้ว แต่ยังจำรูปลักษณ์ของคลินิกท่านได้จนถึงทุกวันนี้

ท่านเปิดร้านของท่านเป็นคลินิกอยู่ดีๆ ก็มีคุณป้ารายหนึ่งมาเปิดซ่องนางโลมข้างๆคลินิกของท่าน

เวลานิสิตจุฬาฯ หรือนักเรียนเตรียมอุดมอย่างพวกผมจะไปติวหลักสูตรพิเศษ “เพศศึกษา” ที่สำนักนี้ เราจะนัดแนะกันว่าเจอกันที่ร้านแพทย์ร้านนี้นะ

จนชื่อร้านแพทย์ญี่ปุ่นที่ว่ากลายเป็นชื่อของสำนักนางโลมไปโดยปริยายจากการแอบเรียกของพวกเรา

ผมเชื่อว่านิสิตชายจุฬาฯ ใน พ.ศ.2500-2504 ที่เคยแอบไปติววิชาพิเศษข้างๆ ร้านแพทย์ที่ว่านี้หากยังมีชีวิตอยู่น่าจะจำร้านแพทย์ดังกล่าวนี้ได้เป็นอย่างดี

อีกภาพจำหนึ่งของสามย่านยุคโน้นก็คือโรงจำนำเก่าแก่บริเวณหัวมุมใกล้สี่แยก ค่อนไปทางถนนพระราม 4 ได้แก่ โรงจำนำ “ฮะติ้ดหลี” ซึ่งเป็นหนึ่งในตำนานของสามย่านและชาวจุฬาฯ

แล้วกันเนื้อที่หมดซะอีกแล้ว ตั้งใจจะจบวันนี้เลยจบไม่ได้…ขออนุญาตต่อพรุ่งนี้อีกวันนะครับ.

“ซูม”