ฝาก “บิ๊กตู่” เรื่อง “กูเกิล” จะดีกว่านี้ถ้ารัฐยอมลงทุน

ตลอดบ่ายวันศุกร์มาจนถึงวันเสาร์ที่ผ่านมา สังคมโลกออนไลน์ต่างวิพากษ์วิจารณ์ “บิ๊กตู่” กันอย่างสนุกมือ (ที่ใช้เคาะคีย์บอร์ด) กรณีที่ท่านไปพูดจาปราศรัยเรื่องคนไทยกับการใช้กูเกิลที่สหรัฐอเมริกา

ดูเหมือนท่านจะไปพูดในทำนองว่าคนไทยไม่ค่อยใช้ประโยชน์จากกูเกิล ทำให้ไม่ได้เรียนรู้อะไรมาก ก็เลยโดนพรรคฝ่ายค้าน และนักเลงคีย์บอร์ดเยาะเย้ยไยไพ ยกใหญ่หาว่าท่านไปอยู่ไหนมา

คนไทยเขาใช้กูเกิลกันตั้งเยอะ คิดเป็นสัดส่วนถึง 99.33 เปอร์เซ็นต์ ของเสิร์จเอ็นจินในประเทศไทยรู้เปล่าท่าน?

ท่านนายกฯ จะผิดจะถูกอย่างไรก็สุดแล้วแต่เถอะ แต่ผลดีที่ได้รับจากข่าวนี้ก็คือ…เราจะได้ถกกันต่อว่า “กูเกิล” เป็น “เทวดา” หรือ “เทพทันใจ” สำหรับคนไทยจริงหรือไม่?

เท่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์พอหรือยัง? ถ้าไม่พอ ควรจะทำอะไรเพิ่มขึ้นอีกบ้าง?

ผมเชื่อตัวเลขทั้งหมดที่ระบุว่าคนไทยเราใช้กูเกิลกันอย่างมากมายก่ายกองจนติดอันดับสูงๆ ดังที่มีการนำมายันบิ๊กตู่

รวมทั้งผมเองด้วยที่จะเข้ากูเกิลเพื่อค้นหาเรื่องราวหรือข้อมูลที่ผมอยากรู้สำหรับมาเขียนคอลัมน์ วันหนึ่งๆ น่าจะเกิน 10 ครั้ง

ผมเชื่อและเห็นด้วยว่ากูเกิลเป็นเทพทันใจ พอสมควร สามารถชี้แนะให้ผมค้นหาสิ่งที่ผมอยากรู้ได้ เป็นส่วนมาก

ที่ผมใช้ คำว่า พอสมควร และ ส่วนมาก ก็เพราะจากประสบการณ์ที่ผมเข้าใช้ ผมพบว่าบางครั้งกูเกิลก็ช่วยตอบคำถามให้ผมไม่ได้ทั้งหมด

โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับไทยๆ ของเราที่ผมอยากรู้หลายๆ เรื่องกูเกิลชี้ทางสว่างให้ผมไม่ได้เลย

อย่าลืมว่าแม้กูเกิลจะเก่งดุจเทพ แต่ก็ไม่ใช่เทพที่มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ด้วยตนเอง ต้องพึ่งพาอาศัยแหล่งข้อมูลจากที่อื่นๆ ทั้งสิ้น

ข้อมูลหรือข่าวสารที่ว่านั้นก็จะต้องบันทึกผ่านระบบ “อินเตอร์เน็ต” เท่านั้น เทพกูเกิลจึงจะดึงหรือนำมารวมไว้ให้เราใช้ค้นต่อได้

เรื่องราวใดข้อมูลใดที่ไม่มีการบันทึกไว้ในระบบอินเตอร์เน็ต หรือนำเข้ามาเชื่อมโยงกับอินเตอร์เน็ตละก็เทพกูเกิลจะไม่มีอิทธิฤทธิ์เลย

ผมยกตัวอย่างครั้งหนึ่งผมได้รับเชิญให้ไปพูดถึงนักมวยไทยเก่าแก่ ที่ขึ้นชิงแชมป์โลกคนแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่ชื่อ จำเริญ ทรงกิตรัตน์ จึงต้องอาศัยบารมีของเทพกูเกิลเข้ามาช่วย

ปรากฏว่าเมื่อเข้าไปในชื่อของจำเริญในภาษาไทย จะมีข้อมูลเกี่ยวกับคนชื่อนี้และนามสกุลนี้เพียง 4-5 หัวข้อเท่านั้น และไม่มีรายละเอียดอะไรมาก

แต่พอผมเข้าในชื่อภาษาอังกฤษ Chamreon Songkitrat กลับมีเรื่องราวมากมายจากสื่อต่างประเทศหลายสำนัก รวมทั้งรายละเอียดการชก กับ จิมมี่ คารัทเธอร์ ชาวออสเตรเลีย ณ สนามมวยชั่วคราวศุภชลาศัย ที่เกิดฝนตกหนักจนทั้งคู่ต้องถอดรองเท้าชกกลางฝน

แถมยังโยงไปถึงการชกครั้งหลังๆ รวมทั้งมีคลิปการชกของจำเริญครั้งล่าสุดกับนักชกเม็กซิกันที่แอลเอ มาให้ดูด้วย

ทำให้ผมตระหนักในอิทธิฤทธิ์ของเทพกูเกิลตั้งแต่นั้นว่าท่านจะช่วยเราก็ต่อเมื่อเราต้องช่วยตัวเองก่อน ตามภาษิตโบราณที่สอนกันมา

หมายความว่าเราจะต้องไปเอาบันทึกหรือเหตุการณ์สำคัญหรือข้อมูลข่าวสารที่เราอยากรู้ อยากเก็บไว้ เอามาลงในอินเตอร์เน็ตเสียก่อน…นั่นแหละเทพกูเกิลจึงจะช่วยเราได้

หลังจากผมไปพูดเรื่องจำเริญ ทรงกิตรัตน์ ผมก็เสนอให้รัฐบาลไทยตั้งงบไว้จำนวนหนึ่ง ให้สถาบันใดสถาบันหนึ่งกลับไปเก็บรวบรวมเรื่องที่น่ารู้ เรื่องที่เป็นข่าวใหญ่ ที่น่าสนใจของบ้านเราจากหนังสือพิมพ์เก่าๆ มาลงในอินเตอร์เน็ตให้มากเท่าที่จะมากได้

ฝรั่งเขารู้จักอินเตอร์เน็ตก่อนเรา และเขาก็จัดการกับสิ่งพิมพ์หรือเอกสารบันทึกเรื่องราว โดยนำมาเข้าระบบอินเตอร์เน็ตเอาไว้มาก ทำให้เขาสามารถใช้กูเกิลเป็นช่องทางในการกลับไปค้นเรื่องราวเหล่านั้นได้มากกว่าเราดังเช่น ในกรณีของ Chamreon Songkitrat ที่เขามีเยอะกว่าเราหลายเท่า

สรุป เพื่อให้การถกเถียงเรื่องบิ๊กตู่กับกูเกิลครั้งนี้จบลงอย่างเป็นแก่นสาร…ผมขอให้จัดงบสักก้อนหนึ่ง ให้กระทรวงไหนก็ได้ที่เกี่ยวข้องไปรวบรวมเรื่องเก่าของไทยเรามาไว้ในโลกออนไลน์ให้ครบถ้วน

เพื่อให้เทพทันใจกูเกิล สามารถเป็นที่พึ่งของคนไทยการค้นหา เรื่องที่กำลังจะหายไปจากประวัติศาสตร์ไทยได้อย่างแท้จริง.

“ซูม”