ให้กำลังใจ “นักรบ” เศรษฐกิจ ใน “สมรภูมิ” ที่ไม่เหมือนเดิม

เมื่อวานนี้ผมเขียนเล่าให้ท่านผู้อ่านได้ทราบว่าบรรดาศิษย์เก่าของสภาพัฒน์จำนวนหนึ่งที่เคยทำงานด้านพัฒนาประเทศให้กับ “ป๋าเปรม” มีโอกาสไปกราบคารวะท่าน ณ พระที่นั่งทรงธรรม วัดเบญจมบพิตรฯ

หลังจบพิธีสวดพระอภิธรรมแล้ว ดร.เสนาะ อูนากูล อดีตเลขาธิการสภาพัฒน์ ผู้เปรียบเสมือนแม่ทัพด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศของป๋าเปรม ก็ชวนพวกเรา ซึ่งเปรียบเสมือนนายทหารหน่วยรบของท่าน ไปรับประทานอาหารต่อที่โรงแรมปริ๊นเซส หลานหลวง

พูดคุยกันถึงเรื่องราวแต่หนหลังเมื่อครั้งพวกเราทำงานให้แก่ป๋าเปรมในการสร้างความแข็งแกร่งให้แก่เศรษฐกิจไทยดังที่ทราบกันอยู่แล้ว

เป็นธรรมดาของคนแก่ละครับ มักจะคุยถึงแต่เรื่องของอดีต

เมื่อแยกย้ายกันกลับบ้านแล้วผมก็ลองมานึกย้อนหลังดูว่า “ปัจจัย” หรือ “เหตุ” แห่งความสำเร็จในยุคนั้นมีอะไรบ้าง?

ปัจจัยแรกที่สำคัญที่สุดก็คือ ตัวนายกรัฐมนตรี หรือ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นั่นเอง

ต้องยอมรับว่าท่านสมกับตำแหน่ง “รัฐบุรุษ” โดยแท้จริง ทั้งฉลาด, ลึกซึ้ง, แหลมคม, เรียนรู้, รับฟัง, ละเอียด, รอบคอบ ฯลฯ ครบถ้วน

การตัดสินใจในเรื่องใหญ่ๆ จึงไม่มีพลาด รวมทั้งการตัดสินใจยอมเชื่อ ปู่ สมหมาย ฮุนตระกูล ให้มีการลอยตัวเงินบาททำให้ค่าเงินบาทลดลงอย่างใหญ่หลวง เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจใน พ.ศ.ดังกล่าว

ที่สำคัญการนิ่งและไม่พูดอะไรมาก จนถูกตั้งฉายาว่า “เตมีย์ใบ้” กลับกลายเป็นจุดแข็งของท่าน เพราะไม่มีประเด็นอะไรที่จะให้ฝ่ายการเมืองนำไปตอบโต้จนกลายเป็นหัวข่าวหนังสือพิมพ์แบบยืดเยื้อ

ฝ่ายค้านยุคนั้นความจริงก็มีนักค้านที่ปากคอจัดจ้านอยู่ไม่น้อย แต่พอมีเรื่องมีราวและมีข่าวว่าจะลุกขึ้นค้านในเรื่องนั้นเรื่องนี้…ก็จะมีนายทหารที่สุภาพและฝ่ายการเมืองยอมรับไปช่วยเจรจาล่วงหน้าที่เรียกว่า “ล็อบบี้” แบบลับๆ ทำให้ผ่อนหนักเป็นเบา

ในขณะที่ฝ่ายทำงานในทุกด้านโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจก็จะเป็นข้าราชการล้วนๆ นอกจากสภาพัฒน์ที่ช่วยท่านในแง่แนวความคิดและการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ แล้ว ก็จะมีปลัดกระทรวงเศรษฐกิจอธิบดีกระทรวงเศรษฐกิจเข้ามาร่วมในการลงมือปฏิบัติ

การแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง แม้จะมีอยู่แต่ป๋าเปรมก็จะช่วยปกป้องให้ ทำให้ฝ่ายข้าราชการประจำทำงานได้อย่างสบายใจ

ในระดับสากลช่วงนั้นประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในย่านนี้ที่หลุดพ้นจาก “ทฤษฎีโดมิโน่” ในสายตาของนักลงทุนทั่วโลกจึงมองว่าไทยมีโอกาสดีมากกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน

เมื่อเขาคิดจะโยกย้ายโรงงานจากประเทศเขาซึ่งค่าแรงแพงมากมาอยู่ในย่านนี้…ประเทศไทยที่ค่าแรงยังไม่สูงนักในช่วงนั้นและมีความมั่นคงในด้านต่างๆ ดีพอควร จึงเป็นเป้าหมายแรกที่เขาจะเลือก

ดังนั้น เมื่อจุดพลุขึ้นโดยการทำงานที่มีแบบมีแผน โดยเฉพาะการตั้งคณะทำงานหลังลดค่าเงินบาท ที่มี ดร.เสนาะ อูนากูล เป็นประธาน จึงทำให้การฟื้นฟูเศรษฐกิจเป็นไปโดยง่าย

ทั้งหมดนี้เป็นเหตุผลส่วนหนึ่ง เท่าที่ผมนึกออกว่าเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จใน พ.ศ.ดังกล่าว

ยุคนี้ พ.ศ.นี้รัฐบาลปัจจุบัน ท่านดูเหมือนจะใช้กลยุทธ์แบบเดียวกัน มีการตั้ง ครม.เศรษฐกิจขึ้นมาคล้ายๆ กัน

ต่างกันที่ “สิ่งแวดล้อม” และ “บริบท” ซึ่งดูจะไปคนละเรื่อง

ผู้นำของรัฐบาลนั้นเปลี่ยนจาก “พระเตมีย์ใบ้” เป็น “พระจำนรรจาเจื้อยแจ้ว” กลายเป็นข่าวหนังสือพิมพ์โต้กันไปโต้กันมาทุกวัน

ฝ่ายค้านที่พอล็อบบี้ได้ กลายเป็นฝ่ายค้านที่แทบพูดจากันไม่รู้เรื่องเลย

ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ฝ่ายการเมืองมีมากกว่าข้าราชการประจำและดูเก่งกว่าฝ่ายประจำ แถมยังมีความคิดที่เป็นของตนเองและไปคนละทางกับที่ฝ่ายประจำคิด

ที่สำคัญ “เสน่ห์” ของประเทศไทยเริ่มด้อยลง โดยเพื่อนบ้านเราที่เคยล้าหลังเพราะพิษสงครามกลับพุ่งมาเป็น “ดาวรุ่ง” แทน

งานเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศในยุคนี้จึงน่าจะมีปัญหายุ่งยากซับซ้อนกว่าในยุคป๋าเปรม

ด้วยความเข้าใจและเห็นใจผมขอส่งกำลังใจไปช่วยขอให้ รัฐบาลบิ๊กตู่เอาชนะ “สงครามเศรษฐกิจ” ใน พ.ศ.นี้ นำรัฐนาวาไทยฝ่าคลื่นฝ่าลมไปได้โดยสวัสดิภาพจบทุกประการเทอญ.

“ซูม”