ใน “สงครามเศรษฐกิจ” “ความเชื่อมั่น” สำคัญที่สุด

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยท่านอธิการบดีเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง สมาชิกหอการค้าไทย 369 ตัวอย่าง เมื่อปลายสิงหาคมที่ผ่านมา พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นของสมาชิกยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง

เป็นการลดเดือนที่ 6 ติดต่อกัน โดยหล่นลงมาอยู่ที่ระดับ 46.5 ต่ำกว่าเดือนกรกฎาคม ซึ่งอยู่ที่ 46.7 และต่ำสุดในรอบ 19 เดือน

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นของ สมาชิกหอการค้าไทย ลดต่ำในเดือน สิงหาคม ที่สำรวจเป็นผลมาจากความยืดเยื้อของสงครามการค้าระหว่างจีน สหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อภาคการส่งออก และเศรษฐกิจของไทย

รวมไปถึงปัญหาเงินบาทแข็งค่าและภัยธรรมชาติ ซึ่งมีทั้งภัยแล้งและน้ำท่วม ที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาเดียวกัน

ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งครับกับผลการสำรวจที่ท่านอธิการบดีนำมาเปิดเผยในครั้งนี้ เพราะในสถานการณ์เศรษฐกิจเท่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ความเชื่อมั่นของผู้คนที่อยู่ในวงการค้าขาย ย่อมจะหวั่นไหวเป็นของธรรมดา

แต่ผมก็ไม่อยากจะให้ท่านเกิดความวิตก หรือขาดความเชื่อมั่นเสียจนไม่มีแก่จิตแก่ใจที่จะดำเนินธุรกิจในส่วนที่ท่านรับผิดชอบ หรือกำลังดำเนินการอยู่ ขอให้กัดฟันสู้ๆ กันต่อไปนะครับ

ในถ้อยแถลงของท่านอธิการบดีบอกด้วยว่า สมาชิกหอการค้าไทยที่ท่านสำรวจครั้งนี้ ได้เสนอความคิดความเห็นมาด้วยหลายอย่าง เช่น ให้เร่งเดินหน้าโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเร็ว เพิ่มมาตรการป้องกันภัยธรรมชาติให้มากขึ้น สนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยตํ่า ฯลฯ

ผมก็หวังว่ารัฐบาลท่านคงจะรับไว้พิจารณา พร้อมกับเร่งรัดดำเนินการไปตามที่หอการค้าไทยเสนอแนะ

ถ้าจะว่าไปรัฐบาลก็มิได้นั่งดูดาย พยายามหาทางแก้ไขปัญหาอยู่ตลอดเวลา เข้ามารับหน้าที่ไม่ทันไร ก็มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเยอะแยะไปหมด

เพียงแต่เป็นมาตรการที่สังคมไทยยังมีความเห็นแตกต่าง เพราะท่านใช้วิธีแจกแหลก แถมแหลก ซึ่งผู้คนจำนวนมากเชื่อว่าจะตำน้ำพริกละลายแม่น้ำสูญเปล่า และจะไม่ช่วยในการกระตุ้นอะไรมากนัก

เป็นวิธีที่ท่านใช้มาอย่างซ้ำซากตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว และในความเห็นของประชาชนส่วนใหญ่มองว่าไม่เกิดผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม

แต่ก็มีหลายๆ วิธีที่จะช่วยกระตุ้น และแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในระยะปานกลาง ซึ่งถ้าออกดอกออกผลเมื่อใดจะช่วยได้มาก โดยเฉพาะมาตรการที่เรียกว่า “ไทยแลนด์ พลัส” ที่ออกมาเป็นแพ็กเกจ เพื่อจูงใจให้นักลงทุนต่างประเทศเบนเข็มมาลงทุนในบ้านเรามากขึ้น

ก็ต้องให้เวลารัฐบาลท่านสักพัก แม้ตอนนี้จะดูไม่ค่อยมีอะไรโดดเด่น แต่ต่อๆ ไปอาจจะมีอะไรออกมาอีก และอาจจะช่วยพลิกสถานการณ์ให้กลับมาดีขึ้นได้ในที่สุด

แม้แต่ในสถานการณ์ระดับโลกก็อาจพลิกผันไปในทางที่ดีขึ้นก็ได้ เพราะล่าสุดทางจีนกับสหรัฐฯ ก็จะหันหน้ามาเจรจากันต่อ เพื่อหาทางประนีประนอมเรื่องสงครามการค้า รวมทั้งล่าสุดก็มีข่าวว่าคุณทรัมป์ ปลดที่ปรึกษาด้านความมั่นคงที่ไม่ชอบอิหร่านออกไปแล้ว และมีท่าทีว่าจะหันไปพูดคุยประนีประนอมกับอิหร่านมากขึ้น

ถ้าโลกพลิกไปในทางที่ดี เศรษฐกิจของโลกก็จะกลับมาดี และผลดีนั้นๆ ก็ย่อมจะแผ่มาถึงเราบ้างไม่มากก็น้อย

สำหรับตัวผมเองขออนุญาตสรุปความเห็นของผมในวันนี้ว่า ผมเห็นด้วยกับทุกๆ ฝ่ายที่บอกว่าเศรษฐกิจไทยช่วงนี้ชะลอตัวลง และต้องการมาตรการกระตุ้นเฉพาะหน้าที่เหมาะสมควบคู่ไปกับการวางมาตรการระยะปานกลางไว้รองรับ

แต่ในการฟื้นฟูหรือแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจนั้น นอกจาก “มาตรการ” หรือ “กลไก” หรือ “แพ็กเกจ” ต่างๆ แล้ว ผมมีความเห็นเพิ่มเติมว่า “กำลังใจ” และความ “เชื่อมั่น” เป็นปัจจัยหลักที่สำคัญที่สุด

ถ้าเราไม่มีกำลังใจ ไม่มีความเชื่อมั่น ไปทำสงครามเศรษฐกิจกับใครก็จะเข้าทำนอง “รบร้อยครั้ง แพ้ร้อยครา” แน่นอน

ผมจึงขอให้กำลังใจทุกๆ ท่านที่มีส่วนในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ รวมทั้งท่านสมาชิกหอการค้าไทยทั้ง 369 ตัวอย่าง ในการสำรวจครั้งนี้ด้วย

สำรวจเดือนหน้าหวังว่าดัชนีความเชื่อมั่นของท่านคงจะ “เพิ่มขึ้น” นะครับ…ไม่เชื่อมั่นบิ๊กตู่ ไม่เชื่อมั่นรองสมคิด ก็ขอให้เชื่อมั่นใน “ดวง” ของประเทศไทยก็แล้วกัน.

“ซูม”