ชื่นใจคนไทยยังใจบุญ จ่ายกุศลปีละ 1.3 แสนล้าน

เมื่อวานนี้เอง หนังสือพิมพ์ไทยรัฐพาดหัวข่าวขนาดกลางๆ ไว้ข่าวหนึ่ง ที่ผมอ่านแล้วก็อดปลาบปลื้มเสียมิได้ ในอุปนิสัยอันดีงาม ซึ่งเป็นคุณลักษณะประจำตัวของพี่น้องชาวไทยเรา

นั่นก็คือ ความเป็นคนใจบุญสุนทาน ความโอบอ้อมอารี ตลอดจนความเชื่อถือศรัทธา ที่มีต่อศาสนาที่คนไทยเคารพ

สืบเนื่องมาจากผลการวิเคราะห์ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมครัวเรือนไทยปี 2552-2560 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติโดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ และธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ ที่พบว่าร้อยละ 96 ของครัวเรือนไทยเรา ยังมีการจ่ายเงินเพื่อการกุศลในด้านต่างๆ มากบ้าง น้อยบ้าง ตามอัตภาพ

อย่างน้อยสมาชิก 1 คน ใน 1 ครัวเรือนที่มีรายจ่ายเพื่อการกุศลตั้งแต่ 1 บาทขึ้นไป เป็นค่าอาหารค่าของถวายพระไหว้เจ้าหรือบริจาค หรือซื้อข้าวของเครื่องใช้ ให้แก่ องค์กรกุศลต่างๆ

รวมตัวเลขทั้งหมดที่คำนวณจากการสำรวจในปี พ.ศ.2560 มีจำนวนสูงถึง 130,000 ล้านบาทเลยทีเดียว หรือเฉลี่ยแล้วจะตกประมาณ 6,200 บาท ต่อ 1 ครัวเรือนต่อปี

เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ.2552 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 94,000 ล้านบาท หรือประมาณครัวเรือนละ 5,000 บาทต่อปี ถึงร้อยละ 3.8

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองเฉพาะครัวเรือนจะพบว่าสัดส่วนของค่าใช้จ่ายเพื่อการกุศลต่อรายจ่ายทั้งหมด จะลดลงบ้างเล็กน้อยคือจากที่เคยจ่ายเพื่อการกุศลเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.8 ในปี 2552 ปรากฏว่าลดลงมาเหลือร้อยละ 2.6 ปี 2560

ครั้นเมื่อเจาะดูรายละเอียดที่ลึกลงไปจากข้อมูลด้านสัดส่วนนี่แหละ ก็จะพบว่าคนไทยที่เป็นคนยากจนมากๆ จะมีสัดส่วนในการจ่ายเงินเพื่อทำบุญสูงกว่าคนไทยที่ร่ำรวยมากๆ ถึงเกือบ 4 เท่า

โดยพบว่าสัดส่วนของการจ่ายเงินเพื่อการกุศลของครัวเรือนไทยในกลุ่ม 10 เปอร์เซ็นต์ บนสุดของครัวเรือนที่มีรายได้สูงสุดมีเพียงร้อยละ 1.4 เท่านั้น ในขณะที่กลุ่ม 10 เปอร์เซ็นต์ของคนจนล่างสุดกลับมีสัดส่วนจ่ายเงินเพื่อการกุศล ถึง 5.1 เปอร์เซ็นต์

อ่านตัวเลข อ่านข้อมูลเหล่านี้แล้วก็ชื่นใจจริงๆที่พบว่าคนไทยเรายังใจบุญสุนทาน ไม่ว่ายากดีมีจนก็ยังควักเงินทำบุญอยู่เสมอ

ใครจะทำมากทำน้อยกว่ากันก็สุดแต่ศรัทธาปสาทะ เราไม่ว่ากันอยู่แล้ว

แม้ว่าสัดส่วนของค่าใช้จ่ายเพื่อการกุศลจะลดลงบ้าง แต่ก็ไม่มากนัก เพราะเมื่อมองจากจำนวนรวมก็ยังเพิ่มขึ้น และยังสูงอยู่

อย่างตัวเลขรวมของปี 2560 ที่บอกว่าประมาณ 130,000 ล้านบาทนั้น เป็นเงินค่อนข้างก้อนโตมากทีเดียว เอาไปทำอะไรต่างๆ ได้มากมาย

ผมยังเสียดายที่เขาไม่ได้แยกแยะรายละเอียดว่า คนไทยทำบุญในเรื่องอะไรบ้าง? เป็นเปอร์เซ็นต์หรือจำนวนเงินเท่าไรในแต่ละประเภท แต่ละการทำบุญ ทำกุศลต่างๆ

แต่ถ้าจะให้เดาโดยสังเกตจากพฤติกรรมของคนไทยที่ประพฤติปฏิบัติกันมาแต่โบราณกาล ผมก็เดาว่าสัดส่วนของรายจ่ายการกุศลเพื่อการทำนุบำรุงพระศาสนาน่าจะสูงกว่าอะไรทั้งหมด

โดยเฉพาะการสร้างโบสถ์ สร้างศาลา บำรุงวัด ถวายพระ ฯลฯ

รวมๆ แล้วน่าจะมากกว่าสร้างโรงเรียน สร้างโรงพยาบาล ฯลฯ

ซึ่งก็เป็นเพราะความเชื่อของคนไทยที่มีมาแต่โบราณกาลว่าการทำบุญให้แก่วัด หรือสร้างโบสถ์ สร้างศาลา ตายแล้วจะได้ขึ้นสวรรค์

เพิ่งจะมีในระยะหลังๆ ที่คนไทยเราเริ่มเรียนรู้และเริ่มมีความรู้สึกนึกคิดก้าวหน้าขึ้นไปในทำนองที่ว่าการทำบุญสร้างโรงเรียน สร้างโรงพยาบาล หรือช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสกว่าเราในด้านอื่นๆ ก็จะได้ไปสวรรค์เหมือนกัน และหันมาทำบุญในด้านนี้กันมากขึ้น

แต่ไม่ว่าแนวโน้มจะเป็นอย่างไร? ผมก็ขอแสดงความปลาบปลื้มยินดีที่ทราบว่าคนไทยยังใจบุญใจกุศลกันอยู่…และขอให้ทำกุศลไปเรื่อยๆ เถอะครับ จะทำแบบไหนก็ไม่ว่ากันอยู่แล้ว มีแต่จะอนุโมทนาสาธุอย่างเดียวเท่านั้นละครับญาติโยม.

“ซูม”