จาก “ซูม” ถึง “ม.ร.ว.ถนัดศรี” ด้วย “รัก-เคารพ” และ “อาลัย”

สัปดาห์ที่ผ่านมา ประเทศไทยของเราได้สูญเสียทรัพยากรบุคคลอันทรงคุณค่ายิ่งไปอีกท่านหนึ่ง ได้แก่ ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ศิลปินแห่งชาติ ที่ถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็งท่อน้ำดี ในวัย 93 ปี

ในฐานะผู้ที่ฝากเนื้อฝากตัวเป็นลูกศิษย์คนหนึ่งของท่านและรู้จักคุ้นเคยกับท่านมาไม่น้อยกว่า 40 ปี ผมควรจะได้เขียนแสดงความเคารพและอาลัยท่านตั้งแต่วันพฤหัสบดี หรือวันศุกร์ที่แล้ว แต่เพราะเขียนติดพันเกี่ยวกับเรื่องราวที่ไปดูงานที่ฟินแลนด์กับเดนมาร์กอยู่ จึงต้องผัดผ่อนมาเขียนถึงท่านในวันนี้

ถ้าจะถามว่าผมรู้จักท่านมานานแค่ไหน ก็คงต้องบอกว่ารู้จักข้างเดียวและเป็นแฟนคลับของท่านมาตั้งแต่ พ.ศ.2500 ต้นๆ ที่ผมเข้ามาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯครั้งแรกเมื่อ 60 ปีก่อนโน้น

เพราะช่วงนั้น ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ในวัย 30 เศษๆ ท่านโด่งดังเป็นที่รู้จักของชาวไทยทั่วประเทศอยู่แล้วด้วยคอลัมน์ “เชลล์ชวนชิม” แนะนำร้านอาหารรสอร่อยต่างๆ ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์

ขณะเดียวกันก็ยังเป็นนักร้องลูกกรุงชื่อดังคนหนึ่งของประเทศไทย ด้วยเพลงฮิตที่เด็กหนุ่มรุ่นโน้นชื่นชอบ อาทิ เพลง ยามรัก, สีชัง, หวงรัก, ทะเลระทม, สาวบ้านบึง, ขุ่นลำโขง, แล้งในอก ฯลฯ เป็นต้น

เพลงที่ผมชอบมากและยังชอบจนถึงทุกวันนี้ได้แก่เพลง หวงรัก ที่ขึ้นต้นว่า “ของของใครของใครก็ห่วง” นั่นแหละครับ

จนกระทั่งประมาณ พ.ศ.2520 เศษๆ ผมมาเขียนหนังสือที่ไทยรัฐแล้ว 4-5 ปี จึงได้มีโอกาสพบและรู้จักกับท่านเป็นครั้งแรก

สืบเนื่องมาจากเรา 3 คน นักเขียนคอลัมน์ของไทยรัฐใน พ.ศ.นั้น อันได้แก่ คุณ เปลว สีเงิน คุณ ลม เปลี่ยนทิศ และผมริอ่านจะหาเงินใช้สักก้อนหนึ่ง จึงคิดจะรวมรายชื่อของร้าน “เชลล์ชวนชิม” มาพิมพ์ไว้ในที่เดียวกันแบบสมุดหน้าเหลืองขององค์การโทรศัพท์ยุคก่อน

พร้อมกับจัดหมวดหมู่ตามลำดับตัวอักษรระบุว่าเมนูเด็ดของร้านคืออะไร? ตั้งอยู่ที่ไหน ด้วยความมั่นใจว่าจะขายได้อย่างแน่นอน

จึงติดต่อผ่านไปทาง คุณ ประกิต อภิสารธนรักษ์ ประธาน บริษัทประกิตโฆษณา เพื่อนร่วมรุ่นเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ของผม ผู้ซึ่งสนิทสนมกับ ม.ร.ว.ถนัดศรี และได้เชิญท่านมาเป็นพรีเซนเตอร์โฆษณาสินค้าประเภทอาหารแล้วหลายๆ แบรนด์ในช่วงเวลาดังกล่าว

ที่โด่งดังมากจนกลายเป็นแบรนด์ที่ยังขายดีติดอันดับประเทศไทยอยู่จนถึงวันนี้ก็คือ “ซอสตราภูเขาทอง” นั่นเอง

คุณประกิตติดต่อขอลิขสิทธิ์ “เชลล์ชวนชิม” มาให้พวกเราจัดพิมพ์ได้ในที่สุด และได้นัดหมายท่านมาเจอกับพวกเราเพื่อยืนยัน และเพื่อให้ผมสัมภาษณ์สำหรับนำลงเป็นปฐมบทของหนังสือเล่มนี้

ผมยังจำได้ถึงบัดนี้ว่าเป็นการสัมภาษณ์ที่ผมมีความสุข และสนุกที่สุดเท่าที่เคยสัมภาษณ์บุคคลต่างๆมาในชีวิตของผม

เพราะ “อาหม่อม” ซึ่งผมถือโอกาสฝากตัวเป็นหลานในระหว่างสัมภาษณ์ด้วยนั้น มีลูกเล่นลูกหาและมีเกร็ดต่างๆ ที่น่ารู้น่าฟัง รวมทั้งแทรกอารมณ์ขันอยู่ในทุกๆ นาที ที่ท่านให้สัมภาษณ์

หนังสือของอาหม่อมขายได้ดีตามคาดหมาย จำได้ว่าสำหรับผมเองได้ส่วนแบ่งมาถึง 1 แสนบาท ซึ่งถือว่าเยอะมากใน พ.ศ.นั้น

นับเป็นเงินขวัญถุงของผมและครอบครัวที่ผมยังจดจำจารึกมาจนถึงทุกวันนี้

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ผมจะมีโอกาสพบท่านปีละครั้งเป็นอย่างน้อย คือในวันคล้ายวันเกิดของท่านที่ คุณ ประกิต อภิสารธนรักษ์ และผู้บริหารบริษัทประกิตโฆษณาจัดเลี้ยงให้ท่าน

เพิ่งจะห่างหายไปในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้เอง หลังจากท่านเริ่มมีอาการเจ็บป่วยขึ้นแล้ว

ตลอดเวลาที่ผมฝากเนื้อฝากตัวเป็นหลานและเป็นศิษย์ของท่านผมมีโอกาสได้เรียนรู้จากท่านในหลายๆ เรื่องและสามารถนำมาใช้ทั้งในด้านการครองชีวิตและการทำงานควบคู่กันไป

ได้ฟังเรื่องราวเก่าๆ ที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังที่ไหนมาก่อน ที่ท่านมักจะเล่าอย่างละเอียด แต่ก็สนุกสนานสามารถนั่งฟังได้โดยไม่รู้เบื่อ

ผมจึงรู้สึกใจหายและอาลัยเป็นที่สุด เมื่อได้ทราบข่าวว่า “อาหม่อม” ได้จากพวกเราไปแล้ว และหมดโอกาสแล้วที่พวกเราจะได้ร่วมรับประทานอาหารและร่วมรับฟังเรื่องราวอันมากด้วยสาระความรู้จากท่าน

ขอดวงวิญญาณของ ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ผู้เป็นมากกว่า “ศิลปินแห่งชาติ” ในทัศนะของผม จงเป็นสุขและสงบ ณ สัมปรายภพ ตราบกาลนิรันดร์.

“ซูม”