เส้นทาง “กังหันไฟฟ้า” จาก “เดนมาร์ก” สู่อินเตอร์ฯ

3 วันที่ปักหลักอยู่ที่โคเปนเฮเกน คณะของเรามีโอกาสไปเยี่ยมและฟังบรรยายสรุปที่สำนักงานพลังงานแห่งชาติของเดนมาร์ก หรือ Danish Energy Agency กับเข้าพบผู้บริหารบริษัท Orsted ผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าใหญ่ที่สุดของดินแดนโคนม

รวมทั้งได้ลงเรือไปเยี่ยมเกาะแซมโซ (SAMSO) เกาะขนาดไม่ใหญ่ไม่เล็ก กว้าง 11 กิโลเมตร ยาว 26 กิโลเมตร มีประชากร 3,724 คน ที่ขันอาสาเป็นชุมชนทดลองใช้พลังงานสะอาดทั้งเกาะให้แก่รัฐบาล โดยตั้งเป้าว่าจะปลอดฟอสซิล และถ่านหินภายในปี 2030

ได้รับความรู้ทั้งในระดับนโยบาย และระดับปฏิบัติ และมีโอกาสลงไปย่ำเท้าเดินสำรวจ ใช้ตาดู หูฟัง ปากสอบถาม มือสัมผัส ที่เกาะสมุย เดนมาร์ก เอ๊ย เกาะแซมโซ่ เดนมาร์ก เกือบ 1 วันเต็มๆ

ที่สำนักงานพลังงานกับบริษัทผลิตไฟฟ้าแห่งชาติของเขา เราได้เรียนรู้ถึงการทำงานที่ประสานกันอย่างดียิ่ง ในการนำนโยบายของรัฐไปสู่การปฏิบัติ

โดยเฉพาะบริษัท Orsted ซึ่งเป็นผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าใหญ่สุดของเดนมาร์กและเป็นรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลถือหุ้นอยู่ 50.1 เปอร์เซ็นต์นั้น ก็คือหน่วยปฏิบัติด้านผลิตพลังงานสะอาดนั่นเอง

ไม่เพียงแต่ทำหน้าที่ผลิตไฟฟ้าขายในประเทศเท่านั้น บริษัท นี้ยังออกไปรับจ้างผลิตไฟฟ้าให้แก่อีกหลายๆ ประเทศทั่วโลก ซึ่งในการผลิตนั้นเขาก็จะขนเทคโนโลยีและสินค้าของเขาไปขายด้วย…อันได้แก่ “กังหันลมปั่นไฟ” สัญลักษณ์ของเดนมาร์กยุคใหม่ที่ผมเขียนถึงเมื่อวันก่อน

ที่ตัวเลขส่งออกของเขาระบุว่าสินค้าชั้นนำที่ทำรายได้เพิ่มขึ้นในระยะหลังๆ ได้แก่เครื่องผลิตไฟฟ้าพลังลมนั้น ส่วนหนึ่งก็มาจากผลผลิตของ Orsted นี่แหละครับที่ไปมีโครงการไฟฟ้าพลังลมในทะเล ทั้งในอังกฤษ, สวีเดน, เยอรมนี, เนเธอร์แลนด์ และล่าสุด กำลังไปสร้างอยู่ที่ชายฝั่งทะเลของสหรัฐอเมริกา และแคนาดา

ส่วนที่ผมบอกว่าการทำงานของเขาประสานกับฝ่ายแผนฝ่ายนโยบายของรัฐบาลอย่างดียิ่งก็ตรงที่บริษัทนี้จะรับเป้าหมาย “พลังงานสะอาด” ที่รัฐบาลกำหนดไว้มาปฏิบัติอย่างครบถ้วน

ไฟฟ้าทุกหน่วยที่บริษัทนี้ผลิตแล้วจำหน่ายให้รัฐบาลเดนมาร์กมาจากพลังงานสะอาดทั้งสิ้น โดยเฉพาะจากพลังลมมีสัดส่วนสูงสุด ถึง 80 เปอร์เซ็นต์

จากเอกสารที่เขาพิมพ์แจกทำให้ทราบว่าบริษัทนี้เมื่อแรกก่อตั้งก็คือ บริษัทค้าน้ำมันกับแก๊สของรัฐบาลเดนมาร์กนั่นเอง คล้ายๆ กับ ปตท. ของไทยเรานี้แหละ

แต่ทำไปทำไปกลับค่อยๆ ขยายกิจการไปในด้านผลิตไฟฟ้า และเมื่อไปพัฒนากังหันลมไฟฟ้าจนได้ที่ก็หันไปเอาจริงเอาจังกับการผลิตไฟฟ้า จนในที่สุดก็กลายมาเป็นบริษัทผลิตพลังงานไฟฟ้าเต็มรูป

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานไว้เมื่อปีกลายว่า บริษัทนี้เป็นบริษัทที่สร้างกังหันลมไฟฟ้าในทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีส่วนแบ่งตลาดกว่า 16 เปอร์เซ็นต์ โดยเมื่อปี 2016 ที่ผ่านมาก็มีกังหันผลิตไฟฟ้าในทะเลที่เขาเรียกว่า “ฟาร์ม” มีต้นกังหันที่ปลูกเรียบร้อยแล้วถึงกว่า 1,000 ต้นทั่วโลก

เมื่อมาขยายกิจการบุกไปอเมริกา ไปแคนาดาอีกในปีหลังๆ ก็ชักจดสถิติไม่ถูกเหมือนกันว่าเขามีฟาร์มกังหันไฟฟ้าในทะเลกี่แห่ง และรวมแล้วทั้งหมดกี่พันต้นกันแน่ รู้แต่ว่าบริษัทมีกำไรมากพอสมควร เลี้ยงคนทำงานได้ถึง 5,638 คนจากยอดล่าสุด

วันนี้ผมคงจะเล่าได้เพียงเรื่องราวของ “กังหันลมไฟฟ้า” ต้นไม้เหล็กที่เดนมาร์กกำลังขยายพันธุ์ไปปลูกทั่วโลกในขณะนี้เท่านั้น

ส่วนเกาะ “แซมโซ” ที่ขันอาสามาเป็นต้นแบบหรือหนูตะเภาของรัฐบาลเดนมาร์กในการใช้พลังงานสะอาด 100 เปอร์เซ็นต์ คงต้องเก็บไปว่าต่อในวันพรุ่งนี้ตามระเบียบ

เขาลงมือทำไปแล้วแค่ไหน? จะทำได้ตามเป้าหรือไม่? พรุ่งนี้เราจะลงเรือเฟอร์รี่ไปค้นหาความจริงกันนะครับ.

“ซูม”