มนุษย์เหยียบดวงจันทร์กับตำนานหนังสือพิมพ์ไทย

หลังจากประสบความสำเร็จอย่างงดงามในการส่งมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์เป็นครั้งแรกด้วย “อพอลโล 11” แล้วนาซาก็ส่ง “อพอลโล 12” ไปเยือนดวงจันทร์อีกครั้ง

ออกเดินทางวันที่ 14 พฤศจิกายนของปี 1969 หรือ 2512 ปีเดียวกันกับอพอลโล 11 นั่นเอง ไปถึงดวงจันทร์ และส่งมนุษย์อวกาศอีก 2 ราย ชาร์ล คอนราด และ อลัน บีน ลงไปย่ำพื้นดวงจันทร์อีกหน

ช่วงนั้นผมใกล้จบแล้วเตรียมตัวสอบชุดสุดท้าย และเตรียมตัวกลับบ้านในเดือนมกราคมปี 1970 ซึ่งเหลืออยู่อีกไม่กี่เดือน

แล้วก็มาถึง อพอลโล 13 ที่นาซาจะส่งไปเยือนดวงจันทร์อีกเป็นครั้งที่ 3 ในวันที่ 11 เมษายนของปี 1970 หรือปี 2513 ถัดมา

ช่วงนี้ผมกลับมาเมืองไทยแล้วครับ และได้งานเสริมภาคค่ำด้วยการไปช่วยนั่งแปลข่าวต่างประเทศให้กับหนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย

ได้รับมอบหมายให้แปลและสรุปข่าวอพอลโล 13 ส่งให้แก่หน้า 1 เพื่อนำไปเป็นข่าวยักษ์ประจำวัน เพราะแม้จะเป็นครั้งที่ 3 แล้ว แต่คนไทยก็ยังสนใจอยู่มาก

จริงๆ แล้วการแปลข่าวนี้ไม่ยากอย่างที่คิดไว้ เหตุเพราะสำนักข่าวสารสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย หรือ ยูซิส เขาช่วยแปลมาแล้วล่วงหน้า

สรุปโครงการทั้งหมด สรุปปฏิทินการเดินทางแบบวันต่อวัน ยิงจรวดเมื่อไร? ไปถึงเมื่อไร? วนดวงจันทร์กี่รอบ? จะลงจากยานอวกาศเวลาใด? ใครลงบ้าง? ลงแล้วไปทำอะไร? ระบุไว้ละเอียดยิบ

ผลจากการที่ยูซิสสรุปโปรแกรมไว้ทั้งหมดนี่แหละครับที่มาโยงเข้ากับประวัติศาสตร์การทำหนังสือพิมพ์ของบ้านเรา

ท่านผู้อ่านรุ่นเก่าคงจำได้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2510 เป็นต้นมา ได้เกิดการแข่งขันในการจัดพิมพ์หนังสือพิมพ์ในบ้านเราอย่างใหญ่หลวง

มีการแข่งกันพิมพ์หนังสือล่วงหน้า เพราะเชื่อกันว่าการพิมพ์ล่วงหน้า จะทำให้ดูเหมือนว่า หนังสือพิมพ์ของเราเร็วกว่าและจะขายได้มากกว่า

แรกๆ ก็ล่วงหน้าวันเดียว แต่แข่งๆ กันไปกลายเป็นล่วงหน้าถึง 2 วัน ยกตัวอย่างเช่น วันนี้พฤหัสฯ ที่ 25 กรกฎาคม แต่หนังสือพิมพ์ฉบับวันที่ 27 กรกฎาคมออกมาวางแผงแล้ว

ทีนี้พอออกล่วงหน้าบางฉบับก็เอาผลหรือเอาเหตุการณ์ข้างหน้ามาลงด้วย เพื่อให้ดูสดและทันเวลา อะไรที่คาดว่าจะเกิดแน่นอนหรือมีโปรแกรมแน่นอนอยู่แล้ว ก็จะเอามาเขียนเสมือนหนึ่งว่าเกิดขึ้นแล้ว

โดยไม่คำนึงว่าจริงๆ จะเกิดขึ้นตามนั้นหรือไม่ และบ่อยครั้งก็ไม่เกิดขึ้น แต่หนังสือพิมพ์ก็จะทำเฉยๆ ไปเสีย ไม่แก้ตัว ไม่ชี้แจงแต่ประการใด

รวมทั้ง “อพอลโล 13” ซึ่งมีกำหนดการเดินทางที่แน่นอน มีตารางเดินทางละเอียดยิบที่ยูซิสแจ้งมา ซึ่งด้วยความเชื่อมือนาซาที่ส่งไปลงดวงจันทร์แล้วถึง 2 ครั้ง หนังสือพิมพ์ทุกฉบับก็ลอกโปรแกรมมาหมด

เขียนข่าวและพาดหัวข่าวล่วงหน้าเสมือนหนึ่งว่าเหตุการณ์ได้เกิดขึ้นแล้วจริงๆ โดยเฉพาะตอนอพอลโล 13 ร่อนลงดวงจันทร์ และมนุษย์อวกาศลงไปเดินนั้นบรรยายล่วงหน้ากันสุดเหวี่ยง

แต่เอาเข้าจริงๆ เกิดเหตุการณ์พลิกล็อก อพอลโล 13 ไม่สามารถลงสู่ดวงจันทร์ได้ เพราะถังออกซิเจนระเบิด ทำให้นักบินอวกาศต้องแก้ไขสถานการณ์เพื่อเอาตัวรอดกลับสู่โลกก่อนลงดวงจันทร์

แต่สื่อไทยเกือบทุกฉบับเขียนข่าวในฉบับล่วงหน้าและพาดหัวล่วงหน้า ตามโปรแกรมที่ยูซิสแจกว่าลงพื้นดวงจันทร์เรียบร้อย

ทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตำหนิการทำหนังสือพิมพ์ล่วงหน้า และเป็นผลให้มีการประชุมตกลงกันระหว่างหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ ยุติการจัดพิมพ์ล่วงหน้าหลายๆ วันหลังจากนั้น

เหลือเพียงล่วงหน้าวันเดียว สำหรับไปขายต่างจังหวัดแต่ให้แบ่งมาขายใน กทม. บ้าง มาจนถึงวันนี้

รวมถึงไม่ให้เขียนข่าวล่วงหน้าด้วยเช่นกัน อะไรที่ยังไม่เกิดขึ้นก็จะบอกว่ายังไม่เกิด แม้วันที่จะเลยไปแล้วก็ตาม

สำหรับโครงการอพอลโลนั้น แม้อพอลโล 13 จะลงดวงจันทร์ไม่สำเร็จ แต่นาซาก็ยังส่งอพอลโลไปดวงจันทร์อีกหลายครั้ง จนถึงอพอลโล 17 เป็นชุดสุดท้าย ซึ่งไปลงดวงจันทร์ระหว่าง 7-19 ธันวาคม ค.ศ.1972 หรือ พ.ศ.2515 ก่อนปิดโครงการ

ต้องขอบคุณนาซาย้อนหลังไว้ ณ ที่นี้ ที่ทำให้หนังสือพิมพ์ไทยกลับมาเป็นเครื่องมือในการบันทึกประวัติศาสตร์ที่ถูกต้องอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะอพอลโล 13 ถ้าไม่เจออุบัติเหตุจนลงดวงจันทร์ไม่ได้ ป่านนี้หนังสือพิมพ์ไทยอาจจะยังพิมพ์ล่วงหน้าหลายๆ วัน และยังเขียนข่าวล่วงหน้ากันอยู่ก็ได้นะครับ.

“ซูม”