หนังสือพิมพ์ทุกฉบับยังคงพาดหัวข่าวเรื่องภาวะฝนแล้งและฝนทิ้งช่วงอย่างต่อเนื่อง บางฉบับพาดหัวใหญ่มาก ใหญ่กว่าข่าวการเตรียมตัวแถลงนโยบายของรัฐบาลบิ๊กตู่เสียด้วยซ้ำ
อย่างของไทยรัฐฉบับที่วางอยู่ข้างหน้าผมก็พาดหัวตัวเท่าหม้อแกงว่า “เขื่อนใหญ่ 17 แห่งวิกฤติ เก็บกักน้ำได้ต่ำกว่า 30 เปอร์เซ็นต์”
พร้อมทั้งมีหัวรองบรรยายเหตุการณ์ฝนแล้งที่จังหวัดนครราชสีมาไว้ว่า “อนาถอ่างเก็บน้ำโคราช…กลายเป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์”
มีภาพอ่างเก็บน้ำเชียงไกรตอนบนที่อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีน้ำอยู่ที่ก้นอ่างเพียงนิดเดียว แต่มีฝูงวังฝูงควายลงไปเล็มหญ้าที่สระริมน้ำ (อันเหลือน้อยนิด) ไม่ต่ำกว่า 30 ตัว มาให้ดูด้วย
แต่ที่อ่านแล้วใจหาย เห็นจะเป็นถ้อยแถลงของท่าน ผอ.สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสนก.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สุทัศน์ วีสกุล ที่ระบุว่า การคาดการณ์สถานการณ์ฝนในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน หรืออีก 2 เดือนเศษข้างหน้านี้ประเทศไทยจะมี “ฝนน้อยกว่าค่าปกติ”
เนื่องจากดัชนีเอนโซยังคงสภาวะเอลนีโญ กำลังอ่อนมีแนวโน้มคล้ายกับปี 2550 คาดว่าตลอดเกือบกรกฎาคมประเทศไทยตอนบน คือเหนือกับอีสานจะมีฝนตกน้อยกว่าปกติ
ในขณะที่เดือนสิงหาคมภาคเหนือและภาคกลางโดยส่วนใหญ่จะมีฝนตกน้อยกว่าค่าปกติ แต่ภาคอีสานจะมีฝนตกเพิ่มมากขึ้น
สำหรับเดือนกันยายนประเทศไทยตอนบนจะมีฝนตกเพิ่มมากขึ้น แต่ในภาคกลางและภาคตะวันออกอาจมีฝนตกน้อยกว่าปกติ
จะเห็นได้ว่าอีก 2 เดือนจากนี้ไป ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝนร้อยเปอร์เซ็นต์นั้น ฝนฟ้าก็จะมิได้ตกอย่างที่ควรจะตกในฤดูนี้เลย ยังคงน้อยกว่าปกติในภาคนั้นภาคนี้บ้างสลับกันไปสลับกันมาอยู่ตลอด
อ่านคำพยากรณ์ของท่านแล้วก็สรุปได้เลย ว่าหนีไม่พ้น “ภัยแล้ง” อย่างแน่นอน จะหนักหรือเบาเท่านั้น
ความเห็นของนักวิชาการที่ผมฟังมาจากวิทยุคลื่น FM.100.5 ของ อสมท เมื่อค่ำวันศุกร์ที่แล้ว และนำมาเขียนบอกกล่าวเมื่อวานนี้ ที่ท่านมองต่างมุมและเป็นความต่างที่สร้างความหวัง เพราะท่านเชื่อว่าฝนทิ้งช่วงอาจเกิดขึ้นสั้นๆ แล้วจะมีพายุลูกโน้นลูกนี้เข้ามาช่วยเติมน้ำให้ประเทศไทยเป็นระยะๆ
ถ้าจะไม่เป็นไปตามที่ท่านว่าเสียละกระมัง? เพราะเหตุผลของผอ.สุทัศน์ฟังดูมีน้ำหนักมากกว่าเยอะ
ที่ ผอ.สุทัศน์ท่านห่วงอีกอย่างคือ ปริมาณน้ำที่จะไหลเข้าเขื่อน หากไหลเข้าน้อย เพราะฝนที่อาจจะมาน้อยนั้น เกิดไปตกใต้เขื่อนเอาซะอีกละก็จะเดือดร้อนหลายต่อเลยทีเดียว
เพราะทั้งการเกษตรก็ต้องการน้ำ ในขณะที่การอุตสาหกรรมตลอดจนการอุปโภคบริโภคของชาวเมืองต่างๆ ก็ต้องการน้ำเช่นกัน
ปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อน 17 แห่ง ซึ่งมีอยู่โดยเฉลี่ยแล้วไม่ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ จะรับมือไหวได้อย่างไร?
จำเป็นจะต้องคิดอ่านและวางแผนการใช้น้ำอย่างประหยัด และเพื่อประโยชน์สูงสุด โดยส่วนรวมของสังคมไทยเสียตั้งแต่บัดนี้ ซึ่งก็ดูเหมือนว่าทางฝ่ายราชการที่เกี่ยวข้องท่านก็เตรียมแผนเอาไว้แล้ว
ผมขออนุญาตไม่ลงลึกรายละเอียดว่าภาครัฐได้เตรียมแผนการและมาตรการรับมือภัยแล้งเอาไว้อย่างไร? แต่จะขอให้กำลังใจและเอาใจช่วยขอให้แผนงานและมาตรการต่างๆ สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี สามารถบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยแล้งลงได้ตามที่คาดหวังไว้
โชคดีนะครับ บิ๊กตู่และรัฐบาลใหม่ ชูเรื่องภัยแล้งเป็นนโยบายเร่งด่วนซะเลย พร้อมกับออกปฏิบัติหน้าที่ทั้งเยี่ยมเยือน ทั้งช่วยเหลือทั้งสั่งการให้จัดทำแผนช่วยเหลือให้เสร็จในวันนี้ พรุ่งนี้ ก่อนเข้าแถลงนโยบายในวันที่ 25 กรกฎาคม
ทำได้แบบนี้ประชาชนจะชื่นชมจะเอาใจช่วยเอาใจเชียร์ และจะเป็นเกราะคุ้มภัยอย่างดีเวลาแถลงนโยบายและโดนฝ่ายค้านรุมอภิปราย
แต่ถ้าไปทำป้อแป้ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนไม่เต็มที่ ไม่มีแผนช่วยเหลืออยู่ในมือ ก็จะกลายเป็นนิยายอีกเรื่องหนึ่งและมีหวังโดนสับเละและจะเละยิ่งไปกว่าที่ฝ่ายค้านออกข่าวล่วงหน้ามาแล้วด้วยซ้ำ
เพราะฉะนั้นไม่ต้องคิดอะไรมาก…ลุยลูกเดียวครับ บิ๊กตู่ แวะไปจังหวัดที่แล้งจัดๆ สัก 2–3 จังหวัดในวันนี้พรุ่งนี้ได้เลย.
“ซูม”