“ปตท.” เดอะมิวสิคัล ละครฉลอง “40 ปี” ปตท.

เมื่อวันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา หัวหน้าทีมซอกแซกได้รับการ์ดฉบับหนึ่งจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เชื้อเชิญไปร่วมงานฉลองครบรอบ 40 ปี ที่ศูนย์การประชุมไบเทค บางนา ตั้งแต่เวลา 18.30 น.เป็นต้นไป

ตัดสินใจรับเชิญทันที เพราะมีความสนิทสนมคุ้นเคยกับผู้หลักผู้ใหญ่ทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ขององค์กรนี้มานานมาก จะบอกว่าตั้งแต่แรกตั้งเลยก็คงจะได้กระมัง

ก็นึกว่าจะไปพบปะทักทาย และแสดงความคารวะต่อผู้บริหาร ปตท. โดยเฉพาะผู้บริหารรุ่นเก่าๆ ที่มีข่าวว่าจะมาร่วมงานนี้หลายท่าน

เสร็จแล้วก็จะถือโอกาสร่วมรับประทานอาหารกับท่านและชมการแสดงต่างๆ โดยเฉพาะการขับร้องเพลง หรือการจัดดนตรีมาบรรเลง ซึ่งเป็นปกติวิสัยของงานเฉลิมฉลองครบรอบเท่านั้นปีเท่านี้ปีของหน่วยงานส่วนใหญ่

ที่ไหนได้…กลับไปเจอเรื่อง “เซอร์ไพรส์” มากๆ ชนิดคาดไม่ถึง จนเป็นเหตุให้ต้องหยิบมาเป็นประเด็นในการเขียนคอลัมน์ซอกแซกสัปดาห์นี้ ได้แก่ การแสดงส่งท้ายที่ออกมาเป็น “ละครเวที” ที่เรียกกันว่า “เดอะ มิวสิคัล” คือ มีการร้องเพลงประกอบด้วย แบบเดียวกับการแสดงของ “ซีเนรีโอ” ที่ โรงละครรัชดาลัย หรือของ เวิร์คพอยท์ ที่ โรงละครเคแบงค์สยาม-พิฆเนศ อย่างไรอย่างนั้น

เขาตั้งชื่อเรื่องว่า “The Musical of Love 40 ปี รักนี้ไม่มีหยุด” เพื่อถ่ายทอดเรื่องราว 4 ทศวรรษของ ปตท. ผ่านตัวละครผู้เป็นพ่อที่สมมติว่าทำงานอยู่ใน ปตท. ตั้งแต่ทศวรรษแรกจนได้เป็นผู้บริหารระดับสูง ในทศวรรษที่ 4 ที่กำลังฉลองกันอยู่นี้

โดยให้พ่อผู้เป็นผู้บริหารระดับสูงของ ปตท.จะแต่งเพลงเนื่องในโอกาสฉลอง 40 ปี จึงไปว่าจ้างค่ายเพลงแห่งหนึ่งให้รับผิดชอบ ซึ่งก็ปรากฏว่าค่ายเพลงที่ว่านี้ได้ส่งเด็กหนุ่มนักแต่งเพลงมือดีที่สุดของค่ายมาเป็นผู้แต่ง

ทำให้ผู้บริหารระดับสูงกับเด็กหนุ่มนักแต่งเพลง ซึ่ง “บังเอิญ” เป็นพ่อลูกกัน และมีความหลังที่ฝังใจในเชิงลบต่อกัน ต้องมาเผชิญหน้ากันอีกครั้ง ในฐานะคู่สัญญาที่จะต้องแต่งเพลงให้ ปตท.

เด็กหนุ่มเห็นว่าพ่อของเขาทุ่มเทให้กับงานที่ ปตท.มากเกินไป จนไม่สนใจลูก ไม่มาให้กำลังใจแม้ในงานแสดงดนตรีที่ลูกจะขึ้นโชว์เป็นครั้งแรกในอดีต เพราะเอาแต่ทำงาน ทำงาน

เป็นดราม่าในครอบครัวมาตลอด 40 ปีเต็มๆ ว่าอย่างนั้นเถอะ

ระหว่างที่พ่อลูกถกเถียงกัน ก็มีการเล่าประวัติความเป็นมาของ ปตท. ที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2522 “ยุคนํ้ามันขาดแคลน คุยกับแฟนก็ต้องดับไฟ” เพื่อรับหน้าที่ในการจัดหานํ้ามัน ไม่ให้ “ภาวะขาดแคลน” เกิดขึ้นได้อีก

เรื่อยมาจนถึงยุคแก๊ส ยุคโชติช่วงชัชวาลย์ ยุคต้มยำกุ้ง ฟองสบู่แตก มาจนถึงยุครุ่งเรืองสุดขีด และยุคค้ากาแฟอเมซอนควบคู่ไปด้วยในปัจจุบัน

ทำให้คนดูได้รับรู้เรื่องราวว่า กว่า ปตท.จะเติบโตมาอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้นั้น ต้องเผชิญกับปัญหาอุปสรรคอะไรมาบ้าง และสามารถเอาชนะทั้งปัญหา ทั้งอุปสรรคได้อย่างไร

ในตอนท้ายบทละครก็หักมุมจบลงให้มีเหตุที่พ่อกับลูกหันมาเข้าใจซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะความจริงที่เฉลยออกมาว่า ที่พ่อไม่มีเวลาให้เขา ไม่ใช่เพราะเหตุผลอื่นใดทั้งสิ้น นอกเสียจากทุ่มเทเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ชาติบ้านเมือง จนประเทศไทยของเราไม่มีปัญหาด้านพลังงานและเจริญรุ่งเรืองอย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

อาจจะเว่อร์ๆ ไปบ้างตามประสาละคร และเต็มไปด้วยการสมมติและความบังเอิญ แต่ก็ถือว่าโดยรวมแล้ว “มิวสิคัล” เรื่องนี้สามารถตรึงคนดูทั้งฮอลล์ได้ชนิดอยู่หมัด

ถึงขนาดปรบมือให้หลายตลบเมื่อการแสดงจบลง

ตัวพ่อหรือพระเอก ซึ่งแสดงได้ดีมาก ทั้งร้อง ทั้งพูดได้อย่างยอดเยี่ยม นั้นก็คือ “กบ” ทรงสิทธ์ิ รุ่งนพคุณศรี นักแสดงรุ่นกลาง แต่เก๋ามากคนหนึ่ง ในขณะที่ตัวลูกที่แสดงได้ยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน ได้แก่ “ปั้นจั่น” ปรมะ อิ่มอโนทัย พระเอกวัยรุ่นขวัญใจทีวียุคนี้

ส่วนนางเอกที่เป็นภรรยาลูกชายจอมทระนงของคุณพ่อทรงสิทธิ์ แม้จะมีบทไม่มาก แต่การร้องเพลงที่แสนไพเราะก็ช่วยเติมบรรยากาศให้ละครน่าดูน่าชมขึ้นอีกหลายเท่า ได้แก่ “น้องนิว” หรือ นภัสสร ภูธรใจ นักร้องดูโอคู่ขวัญกับ “จิ๋ว” ปิยนุช เสือจงพรู ที่แฟนเพลงยุคใหม่รู้จักอย่างดียิ่งในนามของ “นิว-จิ๋ว”

นอกจากนี้ ยังมี ตี๋ ดอกสะเดา ดาราตลกรุ่นใหม่ที่ผ่านละครทีวีและละครเวทีมาหลายเรื่อง มาแสดงเป็นเพื่อน ซึ่งกลายเป็นลูกน้องคนสนิทของนักบริหาร ปตท.ระดับสูงอย่างทรงสิทธิ์ ก็ทำให้การเดินเรื่องเป็นไปอย่างลื่นไหล เรียกรอยยิ้มสลับฉากได้เป็นระยะ

นักแสดง “หมู่มวล” ที่มาในเครื่องแต่งกายของเด็กปั๊ม ปตท.บ้าง พนักงาน ปตท.บ้าง นายช่าง ปตท.บ้าง หรือแม้แต่พนักงานขายกาแฟอเมซอนบ้าง ต่างก็คัดสรรมาโดยเฉพาะ…เห็นแล้วคุ้นหน้าคุ้นตาว่าอยู่แถวๆ โรงละครรัชดาลัยนี่เอง ทั้งลีลา ทั้งการร้องเหมือนกันเด๊ะเลย

รวมความแล้วก็เป็นนักแสดงของรัชดาลัยจริงๆ เพราะมีการเฉลยแบบมีเสียงกระซิบมาที่โต๊ะหัวหน้าทีมซอกแซกว่า ทั้งการประพันธ์เรื่อง ประพันธ์เพลง ทำบท จัดฉาก อยู่ภายใต้การอำนวยการของ “คุณบอย” ถกลเกียรติ วีรวรรณ ทั้งสิ้น

แม้แต่ฉากจบตอนให้นักแสดงออกมาคารวะคนดู ก็ปล่อยตัวละครออกมาในสไตล์ของคุณบอย เพียงแต่ไม่มีตัวคุณบอยมากล่าวสรุปในตอนท้ายเท่านั้น

สรุปว่าเป็นมิวสิคัลที่เซอร์ไพรส์จริงๆ และอดมิได้ที่จะชมตัวเองที่ตัดสินใจอยู่รับประทานอาหารจนถึงจานสุดท้าย ทำให้มีโอกาสได้ดูละครมิวสิคัลพิเศษเรื่องนี้

เกือบจะตัดสินใจลากลับก่อนจะเสิร์ฟเมนคอร์สอยู่แล้วเชียว…ไม่งั้นก็จะชวดดูละครดีไปหนึ่งเรื่องอย่างน่าเสียดายยิ่ง

ขอแสดงความยินดีในวาระ 40 ปีนะครับ ปตท. และขอให้เจริญๆ ต่อไปเรื่อยๆ ไปจนถึงอายุ 60 ปี ฉลองแซยิดให้ยิ่งใหญ่กว่านี้อีกหลายเท่า

งวดหน้าอย่าลืมไปจัดที่โรงละครรัชดาลัยเลยนะครับ แสดงเต็มเหยียด 2 ชั่วโมงครึ่งแบบ “บังลังก์เมฆ” ไปเลยซีน่ะ.

“ซูม”