แด่…“วันปากกาลูกลื่น” จาก…คนที่ยังใช้ “ปากกา”

ผมเชื่อว่าคนเขียนคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์จะมีคุณสมบัติเหมือนกันอยู่ข้อหนึ่ง…นั่นก็คือ…จะหยิบหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ หรืออย่างน้อยก็ 2–3 ฉบับที่เป็นฉบับฮิตๆ ขึ้นมาอ่านข่าวอย่างละเอียดว่า หนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่ประจำวันนั้น พาดหัวข่าวเรื่องอะไรบ้าง

จากหัวใหญ่หน้า 1 ก็ไปดูหัวรองๆ หน้า 1 จนครบทั้งหน้า แล้วก็พลิกต่อไปเรื่อยๆ จากหน้า 2 หน้า 3 ไปจนถึงหน้าสุดท้าย เพื่อจะหาหัวข่าวหรือเรื่องราวที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเขียนถึงในวันนั้นๆ

ผมเขียนต้นฉบับวันนี้ ในช่วงเย็นๆ ของวันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน ข่าวหนังสือพิมพ์ทุกฉบับยังเป็นเรื่อง “แบ่งสมบัติ” ฉันจะเอากระทรวงนั้นกระทรวงนี้อันแสนน่าเบื่อ ซึ่งผมก็เขียนถึงไปหลายครั้ง

จะเขียนถึงอีกก็หมดมุกที่จะล้อเลียนหรือตักเตือนแล้วละครับ

เมื่อจนแต้มจากข่าวการเมืองก็ลองพลิกอ่านข่าวอื่นๆ จนในที่สุดไปเจอในออนไลน์ข่าวมติชน พาดหัวเล็กๆ ว่า วันนี้ (10 มิถุนายน) เป็น “วันปากกาลูกลื่น”

โดนขึ้นมาทันทีเลย เพราะผมยังเขียนหนังสือด้วยปากกาและก็ด้วยปากกาลูกลื่นนั่นแหละ ควรจะเขียนขอบคุณ “ปากกาลูกลื่น” หรือ Ballpoint Pen ซึ่งเปรียบเสมือนอาวุธประจำตัวของผมสักวัน

ข่าวเล็กๆ ของมติชนข่าวนี้ระบุว่า นาย ลาซาโล บิโร บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ชาวฮังการี คือผู้คิดค้นปากกาลูกลื่นขึ้นเป็นคนแรกของโลก เมื่อ พ.ศ.2486 หรือเมื่อ 76 ปีที่แล้ว

เนื่องจากเป็นข่าวสั้นมติชนก็เลยเสนอสั้นๆ บอกให้รู้แค่เพียงว่า ใครเป็นคนคิดปากกาหมึกแห้งและคิดขึ้นมาเมื่อไรเท่านั้นเอง

ผมจึงต้องไปค้นต่อโดยปรึกษา “อากู๋” กูเกิลเจ้าเก่า ทำให้ทราบว่า ในสหรัฐอเมริกานั้นถึงกับยกให้วันนี้เป็น “วันปากกาลูกลื่นแห่งชาติ” ไปด้วยเลย โดยถือเอาวันที่ 10 มิถุนายน อันเป็นวันที่คุณ ลาซาโล บิโร ไปจดทะเบียนลิขสิทธิ์เมื่อ 76 ปีก่อนโน้น เป็นวันปากกาลูกลื่นแห่งชาติ

มีการเฉลิมฉลองกันตามห้างสรรพสินค้าและตามร้านขายเครื่องเขียนเป็นข่าวครึกโครมพอสมควร…ส่วนใหญ่มักจะมีโปรโมชันพิเศษมีการขายปากกาลูกลื่นในราคาพิเศษในวันนี้

ว่าไปแล้ว นาย ลาซาโล บิโร ชาวฮังการี คิดค้นปากกาลูกลื่นได้ตั้งแต่ปี 1938 หรือ พ.ศ.2481 โน่นแล้ว แต่ยังไม่ได้ผลิตออกมาเป็นแก่นสารนัก เผอิญเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงต้องหนีเยอรมนีไปอยู่ที่อาร์เจนตินา และไปเริ่มผลิตขายใน พ.ศ.2486 ดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลงก็มีการผลิตปากกาลูกลื่นขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในประเทศที่นาย ลาซาโล บิโร ไม่ได้จดทะเบียนไว้ อย่างเช่นสหรัฐอเมริกา ก็มียี่ห้อ เรย์โนลด์ส (Reynolds) ออกมาได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง และในฝรั่งเศสก็มียี่ห้อ BIC ออกมาแข่งและติดตลาดอย่างรวดเร็ว

มาถึงปัจจุบันนี้ปากกาลูกลื่นจะขายได้เฉลี่ยแล้ว 125 ด้ามต่อ 1 วินาทีทั่วโลก และ 1 ใน 3 ของปากกาลูกลื่นที่ขายในอเมริกาจะเป็นของยี่ห้อ BIC ซึ่งขายดีกว่ายี่ห้ออื่นๆ

ปากกาลูกลื่นเป็นปากการาคาถูก 5 บาท 10 บาท ก็ซื้อได้แล้ว แต่ยี่ห้อที่แพงที่สุดในขณะนี้คือ มองต์ บลังก์ ฝังเพชร ราคา 730,000 เหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นเงินไทยแค่ 24 ล้านบาทกว่าๆ เท่านั้นเอง

ผมเองเป็น 1 ในคอลัมนิสต์ 2 คนของไทยรัฐ (อีกคนก็คือ ยิ่งยง สะเด็ดยาด) ที่ยังใช้ปากกาลูกลื่นเขียนต้นฉบับ เนื่องจากคนอื่น ทั้งโรงพิมพ์เขาหันไปใช้ คอมพิวเตอร์ กันหมดแล้ว

ปากกาลูกลื่นที่ผมใช้ก็ BIC นี่แหละ ไม่มีปัญญาใช้มองต์ บลังก์ กะเขาหรอก แต่ดัดจริตหน่อยว่าเป็น BIC ที่จำหน่ายในสหรัฐอเมริกา เพราะขนาดใหญ่กว่าในเมืองไทยและเขียนได้ไหลลื่นดีเวลาไปอเมริกาจะแอบซื้อกลับมาทีละหลายโหล

เนื่องในวันปากกาลูกลื่นปีนี้ผมขออวยพรให้ปากกาลูกลื่นจงอยู่ยั้งยืนยงสืบไป เพื่ออยู่เป็นเพื่อนผมต่อไป…เพราะยังไงๆ ก็ต้องเขียนหนังสือด้วยปากกา เพราะแก่เต็มทีแล้ว พยายามหัดพิมพ์คอมพิวเตอร์หลายหนแต่ไปไม่รอด

แต่มาคิดอีกที เขียนด้วยปากกาลูกลื่นก็ได้อารมณ์ดีเหมือนกันนะครับ เวลานึกไม่ออกเอาด้ามปากกาแหย่ปากแหย่จมูกเบาๆ ซัก 2–3 ครั้ง จะเขียนออกขึ้นมาเลยทันที…แฮ่ม!

“ซูม”