ผนึกกำลัง “รัฐ+เอกชน” รับมือ “สงครามการค้า”

ในช่วงที่สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ กำลังสาดกระสุนเข้าใส่กันอย่างดุเดือดอยู่ในขณะนี้ ก็มีข่าวความเคลื่อนไหวของฝ่ายรัฐบาลไทยและข้าราชการไทย “ที่น่ายินดี” ทยอยออกมาเป็นระยะๆ

เช่น มีข่าวว่ารองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มีคำสั่งให้กระทรวงพาณิชย์ติดตามผลกระทบของสงครามการค้าอย่างใกล้ชิด และรวบรวมข้อมูลเตรียมเสนอรัฐบาลโดยเร็ว

มีข่าวว่าสภาพัฒน์กับสภาหอการค้าไทยพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูล และหารือกันในทุกๆ ประเด็นเศรษฐกิจ รวมทั้งประเด็นสงครามการค้าที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยด้วย

เพื่อสำหรับเตรียมข้อมูลและเตรียมข้อเสนอในโอกาสที่หอการค้าไทยจะเข้าร่วมหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ หรือคณะกรรมการ กรอ. ซึ่งคงประชุมไปเรียบร้อยก่อนที่ต้นฉบับของผมวันนี้จะลงตีพิมพ์

รวมทั้งมีข่าวว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยก็กำลังจับตาดูอยู่ว่า การท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบหรือไม่ ในขณะที่ฝ่ายวิจัยของธนาคารหลายแห่งก็นำเสนอข้อมูล เสนองานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นระยะๆ ไปจนถึงครูบาอาจารย์ในมหาวิทยาลัยก็ออกมาเสนอความคิดความเห็นและข้อเสนอแนะผ่านสื่อต่างๆ เป็นระยะๆ เช่นกัน

ที่ผมใช้คำว่า “น่ายินดี” ที่อ่านเจอข่าวคราวความเคลื่อนไหวดังที่สรุปมาโดยสังเขปนี้ เป็นเพราะผมเองก็เชื่อเหมือนที่นักวิเคราะห์เศรษฐกิจหลายๆ ท่านเชื่อแหละครับว่า สงครามการค้าหนนี้ใหญ่หลวงนัก และจะมีผลกระทบอย่างกว้างขวางพอสมควร

การติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด การหาข้อมูล หาข่าวสาร หาผลกระทบในส่วนที่แต่ละฝ่ายเกี่ยวข้องแล้วนำมารวมกันเป็นผลรวมหรือภาพรวมของประเทศ จะทำให้เราสามารถวางแผนแก้ปัญหา หรือแก้ไขสถานการณ์เอาตัวรอดได้ในที่สุด

หลายๆ ท่านตั้งข้อสังเกตว่า ช่วงนี้พอดีกับที่เราเพิ่งมีการเลือกตั้งกันหมาดๆ อยู่ระหว่างฟอร์มรัฐบาลกันอยู่พอดี แถมผลการเลือกตั้งก็ออกมาในลักษณะที่ทำให้ฟอร์มรัฐบาลยากเอาเสียอีก คะแนนเสียงปริ่มๆ กันไปหมด

ถึงตั้งรัฐบาลได้ก็ไม่รู้จะอยู่ได้ยาวหรือเปล่า อันจะทำให้การเตรียมตัวรับมือกับปัญหา ผลกระทบจากสงครามการค้าที่กำลังปะทุอยู่ทุกวันนี้เป็นไปอย่างยากลำบาก เผลอๆจะเป็นผลให้เราเจ็บหนักเอาได้

ผมเห็นด้วยครับในประเด็นนี้และรู้สึกกังวลใจเช่นเดียวกัน

จึงต้องขอร้องให้นักการเมืองหันหน้าเข้าหากัน ยอมลดจุดยืนของแต่ละพรรคลง หันมามองผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติ คือรีบตั้งรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศโดยเร็วที่สุด

แต่ขณะเดียวกันผมก็ยังมั่นใจว่าผู้ที่รู้เรื่องดีเพราะอยู่กับเหตุการณ์ อยู่กับข้อมูล อยู่กับโลกของการค้าขายที่แท้จริงก็คือข้าราชการประจำ และพ่อค้า นักธุรกิจ ผ่านสมาคมการค้าหรือหอการค้าต่างๆ นี่แหละ

หากทุกฝ่ายร่วมมือกันเอาข้อมูลเอาตัวเลขเอาข้อเท็จจริงของผลกระทบต่างๆ ทั้งๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว หรือคาดว่าจะเกิดขึ้นมาแลกเปลี่ยนกัน จัดทำแผนปฏิบัติการย่อๆตกผลึกเอาไว้ก่อน เมื่อรัฐบาลใหม่เข้ามาก็จะมีมาตรการต่างๆอยู่ในมือและนำไปใช้ไปปฏิบัติได้เลย

ผมขอฝากความหวังไว้กับหน่วยเศรษฐกิจหลักของรัฐ หรือของราชการอย่างสภาพัฒน์, กระทรวงการคลัง, กระทรวงพาณิชย์, ธนาคารแห่งประเทศไทย รวมตลอดถึงภาคเอกชน เช่น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สมาคมธนาคารไทย ฯลฯ ที่เราเรียกว่า กรอ.นี่แหละครับ

ขอให้ท่านร่วมกันเตรียมรายละเอียดของปัญหาและผลกระทบตลอดจนแนวทางแก้ไขให้พร้อม ใครจะมาเป็นรัฐบาลก็แล้วแต่เถอะพอมาปุ๊บท่านก็สามารถจะเสนอแผนการ หรือมาตรการแก้ปัญหาได้เลยทันที

สำหรับประชาชนอย่างเราก็ควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดโดยไม่ตื่นตระหนกและควรปรับตัวปรับใจหรือเตรียมตัวเตรียมใจรับสถานการณ์เอาไว้ด้วย

การประหยัดรัดเข็มขัดไม่ฟุ่มเฟือยน่าจะเป็นทางเลือกที่สำคัญของคนไทยเราในระหว่างรอดูสถานการณ์อยู่ในขณะนี้

เก็บเงินไว้ใช้ในเรื่องที่จำเป็นน่าจะดีที่สุด เพราะ ณ นาทีนี้ไม่มีใครสามารถบอกได้เลยว่าสงครามการค้าจะลงเอยอย่างไร? จะกินเวลายาวนานแค่ไหน? และจะนำไปสู่ความเสียหายอย่างไรบ้าง?

“ซูม”