บทเรียนจาก “โฮปเวลล์” อย่าให้เสีย “ค่าโง่” ซ้ำซาก

เป็นอันว่ากระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทยจะต้องจ่ายค่าโง่ประมาณ 12,000 ล้านบาท ให้แก่ บริษัทโฮปเวลล์อย่างแน่นอนแล้ว จากการตัดสินของศาลปกครองสูงสุด

ถือเป็นอันสิ้นสุดของโครงการและคดีความอันยาวนาน ที่เรียกกันว่า “มหากาพย์” อายุยืนยาวกว่า 29 ปี โดยการพ่ายแพ้ของกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทยอย่างราบคาบ

แรกๆ ก็นึกว่าเมื่อโครงการ “โฮปเวลล์” กลายเป็นโครงการ “โฮปเลสส์” คงไม่เป็นไรเพราะคนไทยไม่ได้เสียอะไร นอกจากเสียพื้นที่ของการรถไฟฯ ที่ต้องกลายเป็นที่สำหรับปักตอม่อที่โด่เด่ไร้ประโยชน์ไปเท่านั้น

กับเสียความรู้สึกนิดหน่อย คืออดรำคาญตาไม่ได้เวลานั่งรถไฟผ่านแล้วเห็นตอม่อโผล่อยู่ที่นั่น โผล่อยู่ที่นี่

แต่ตอนนี้คงไม่ใช่แค่เสียความรู้สึกแล้วล่ะ เพราะต้องควักเงินภาษีออกไปจ่ายให้แก่โฮปเวลล์ถึง 12,000 ล้านอย่างที่ว่า

โครงการนี้เป็นตัวอย่างของการ “โคตรโกง” ที่มีการหยิบยกมาอ้างอิงแทบทุกครั้ง เวลามีการพูดถึงเรื่องเกี่ยวกับคอร์รัปชันในประเทศไทย

ขณะเดียวกันก็เป็นตัวอย่างของโครงการประเภท “ขายฝัน” คือคิดฝันว่าจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วก็เอาไปขายให้นักการเมือง หรือไม่ก็ผู้นำที่อยู่ในอำนาจ

อาศัยอำนาจทางการเมืองสั่งตูมลงมาโดยแทบไม่ผ่านการกลั่นกรองของหน่วยงานหลักๆ ทางด้านวิชาการของรัฐ เช่น สภาพัฒน์ สำนักงบประมาณ หรือกระทรวงการคลัง

อย่างโครงการนี้ก็ฝันถึงวิธีแก้ปัญหาจราจรด้วยการคิดสร้างทางยกระดับคร่อมไปตามเส้นทางรถไฟใน กทม. เพื่อให้รถไฟขึ้นไปวิ่งข้างบน จะได้ไม่ต้องกั้นแยกต่างๆ ให้รถไฟผ่าน ซึ่งต้องเสียเวลาไปพอสมควร

บนทางคร่อมนั้นก็ยังมีพื้นที่สำหรับรถยนต์วิ่งคู่ขนานไปแบบทางด่วนได้ด้วย มีความยาวทั่วกรุงเทพฯ ถึง 60 กิโลเมตร

ขณะเดียวกัน ภายใต้ทางคร่อมหรือสถานีบางจุด ก็สามารถที่จะพัฒนาเป็นศูนย์การค้าเพื่อหารายได้ไปด้วยพร้อมๆ กัน

รัฐบาลไม่ต้องควักเงินลงทุนเลย เพราะจะใช้วิธีให้ผู้ประมูลได้เป็นผู้ลงทุนแลกกับสัมปทาน 30 ปี สำหรับการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ ทั้งจากค่าทางด่วนและค่าบริหารศูนย์การค้าต่างๆ

ฝันเสร็จก็เปิดประมูล และบริษัทโฮปเวลล์ ของนาย กอร์ดอน วู จากฮ่องกง ก็ประมูลได้ เป็นข่าวครึกโครมในยุครัฐบาลของน้าชาติ

แต่เผอิญว่าเศรษฐกิจไทยที่บูมเต็มที่ตอนน้าชาติขึ้นบริหารใหม่ๆ เริ่มชะลอตัวลง บริษัทโฮปเวลล์หาผู้ร่วมลงทุนไม่ได้ ความคิดที่จะพัฒนาศูนย์การค้าเพื่อหาเงินมาหมุนก่อนก็ไม่เดินหน้า แถมต่อมารัฐบาลน้าชาติโดนปฏิวัติเข้าให้เสียอีก

จากนั้นก็เรื่องยาวเลย โครงการนี้ก็เลยเกิดขึ้นเพียงตอม่อโด่เด่อย่างที่เห็นๆ ก่อนที่จะมีการบอกเลิกสัญญาในรัฐบาลชวน 2 ซึ่งมีคุณ สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

ตามมาด้วยการยื่นเรื่องต่ออนุญาโตตุลาการ และการฟ้องร้องศาลปกครองเมื่อปี 2551 เรื่อยมาจนถึง 22 เมษายน 2562 คดีจึงสิ้นสุดลงด้วยคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว

นอกจากจะเป็นบทเรียนของการโกงกินแล้ว มหากาพย์เรื่องนี้ยังเป็นบทเรียนสำหรับโครงการช่างฝันประเภทฝันใหญ่ ฝันยาว ฝันไกลเป็นอย่างดีอีกด้วย

ว่าโครงการแห่งความฝันราคาแพงๆ นั้น มิใช่จะเกิดขึ้นง่ายๆ เพราะมีความซับซ้อนยุ่งยาก และปัญหาอุปสรรคมากมาย เนื่องจากโลกแห่งความฝันกับโลกแห่งความเป็นจริงนั้นต่างกัน

มาถึงรัฐบาลนี้ก็มีโครงการใหญ่ๆ จากคนช่างฝันอยู่เยอะ โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงราคาแสนแพงทั้งหลายที่ลงทุนผูกพันกันไปแล้วหลายโครงการ ล่าสุดก็กำลังจะเซ็นสัญญาเรื่องรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินกันอีกหนึ่ง

ผมไม่ห่วงเรื่องคอร์รัปชัน เพราะเชื่อใจ “บิ๊กตู่” อยู่แล้ว

แต่ห่วงเรื่องข้างเคียงครับ โดยเฉพาะเรื่อง “ค่าโง่” โน่นนี่ ที่อาจจะมองไม่เห็นและอาจจะพลาดเอาอีกในวันข้างหน้า

ก็ขอให้ใช้โครงการโฮปเวลส์เป็นกรณีศึกษาและดูสัญญาต่างๆอย่างรอบคอบนะครับ…ลำพังตัวโครงการก็เสี่ยงต่อการขาดทุนจะแย่อยู่แล้ว ถ้าจะโดนฟ้องค่าโง่อะไรเข้าอีกในอนาคต คนเขาจะว่ารัฐบาลไทย หรือข้าราชการไทยนี่ยังไงหนอ ช่างโง่ซ้ำซากซะจริงๆ.

“ซูม”