มหกรรมวิจัยแห่งชาติ “ดอกไม้” แด่ “นักวิจัย

มีงานของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติอยู่งานหนึ่ง ที่ผมจะช่วยเขียนให้ด้วยความเต็มใจอยู่เสมอทุกๆ ปี ได้แก่งาน “มหกรรมการวิจัยแห่งชาติ” ซึ่งมักจะจัดขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคม

งานนี้มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “Thailand Research Expo” ครับ จัดขึ้นในปีไหนก็จะใส่เลขประจำปีไว้หลังชื่องานในปีนั้น ดังเช่นของปีนี้ก็จะได้ชื่อภาษาไทยว่า “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2562” และภาษาอังกฤษว่า “Thailand Research Expo 2019”

แม้ผมจะทราบดีว่าเขียนวันไหน คนก็จะอ่านคอลัมน์ผมน้อยลงในวันนั้น เพราะเห็นหัวเรื่องว่า “วิจัย” หรือ “Research” ท่านผู้อ่านส่วนใหญ่ก็จะอ่านแค่หัวเรื่องแล้วก็ผ่านไป ไม่ลงอ่านในรายละเอียด

เพราะคนไทยเราไม่ชอบคำว่าวิจัย ไม่ค่อยสนใจงานวิจัย เห็นงานวิจัยเป็นเรื่องน่าเบื่อหน่าย ยุ่งยาก ฯลฯ ว่าอย่างนั้นเถิด

แต่ผมก็พร้อมที่จะเขียนให้ เพราะอยากจะให้กำลังใจนักวิจัยบ้านเราน่ะครับ แม้คนจะอ่านน้อยลงบ้างในวันนั้นก็ตามที

โดยหวังว่าการเขียนถึงบ่อยๆ จะช่วยให้นักวิจัยของเรามีความรู้สึกว่ายังมีคนไทยที่พร้อมจะยืนอยู่ข้างหลังพวกเขา และพร้อมที่จะเชียร์พวกเขา ให้อดทน อดกลั้น และหมกมุ่นหรือสู้ๆต่อไปกับงานวิจัยเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่พวกเขากำลังทุ่มเทอยู่ในขณะที่ผมเขียนต้นฉบับวันนี้

ผมเองไม่ใช่นักวิจัย แต่เชื่อมั่นในนักวิจัยและงานวิจัย ว่าพวกเขานี่แหละที่จะเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันให้ประเทศของเราก้าวเดินต่อไปในอนาคตข้างหน้า แม้จะไม่ทัดเทียมกับชาติพัฒนาแล้วทั้งหลาย แต่ก็จะไม่ถูกทิ้งจนไม่เห็นหน้าเห็นหลังอย่างแน่นอน

ดังนั้น เมื่อทราบว่ามหกรรมงานวิจัยปีนี้ 2562 จะเริ่มขึ้นอีกแล้ว จึงต้องรีบนำมาเขียนให้โดยไม่ชักช้า

แต่เมื่อดูวันที่ที่เขาจัดงานแล้วก็รู้สึกเสียดายว่ายังเขียนให้ช้าอยู่ดี เพราะเป็นความผิดของผมเองที่นึกว่างานนี้ซึ่งเคยจัดในเดือนสิงหาคม ทำไมถึงส่งมาเร็วนัก จึงเก็บใส่แฟ้มซุกเอาไว้ก่อน

มาเปิดอ่านเมื่อวานนี้เอง ปรากฏว่าเขาเลื่อนมาจัดในวันที่ 7-10 เมษายน แทนกำหนดเดิม…ซึ่งแปลว่างานเปิดไปแล้วตั้งแต่เมื่อวาน (อาทิตย์ที่ 7 เมษายน)

แต่ก็ยังดีที่งานยังเหลืออีก 3 วัน คือวันนี้ พรุ่งนี้ มะรืนนี้ ท่านที่อ่านคอลัมน์ผมวันนี้แล้วประสงค์จะไปร่วมงานก็เชิญนะครับ

ที่ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และ บางกอก คอนเวนชัน เซ็นเตอร์ เซ็นทรัล เวิลด์ กรุงเทพฯ เหมือนปีที่แล้วนั่นแหละครับ

มาในธีม “วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ซึ่งจะมี ผลงานวิจัย กว่า 100 หัวข้อเรื่องมานำเสนอต่อที่ประชุม ทั้งใหญ่และเล็กหลายๆ ห้องในแต่ละวัน

แถมด้วย นิทรรศการผลงานวิจัย มาให้ยืนชม ยืนจด ยืนอ่านอีกหลายร้อยผลงาน

จากมหาวิทยาลัยและหน่วยงานของรัฐ ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย กว่า 100 หน่วยงาน เท่าที่ผมนับดูอย่างคร่าวๆ

งานจะเริ่มตั้งแต่ 09.00-18.00 น. ทุกวัน ยกเว้นวันที่ 10 เมษายน ซึ่งเป็นวันสุดท้าย จะเริ่ม 09.00 น. ถึงแค่ 16.00 น.

ปกติแล้วเขาให้ลงทะเบียนล่วงหน้า แต่ในเอกสารที่แจกมา เขาบอกว่าไปลงทะเบียนที่หน้างานก็ได้เช่นกัน

ผมอ่านอย่างเร็วๆ ไม่เห็นข้อความว่าจะมีการเก็บค่าลงทะเบียน หรือค่าเข้าฟัง เข้าชมนิทรรศการในแผ่นปลิวเชิญชวนแต่อย่างใด ก็ขออนุญาตฟันธงว่างานนี้ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ครับเหมือนทุกๆ ปีที่ผ่านมา

มีข่าวประชาสัมพันธ์อยู่ข่าวหนึ่ง ระบุว่าจะมีการโชว์ผลงานนวัตกรรมเครื่องวัดฝุ่นและควบคุมฝุ่นละอองในอากาศของ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มาโชว์ด้วย

กำลังฮิตเลยครับเรื่องนี้ โดยเฉพาะภาคเหนือของเราขณะนี้ รวมทั้งที่จังหวัดเชียงราย อันเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงด้วยนั้น กำลังเจอปัญหาฝุ่นพิษ…เครื่องจากงานวิจัยของ ม.แม่ฟ้าหลวงเครื่องนี้น่าจะช่วยชาวเชียงรายได้ไม่มากก็น้อย

ผมยกตัวอย่างเรื่องเดียวเท่านั้น ยังมีอีกหลายๆ งานวิจัยที่น่าสนใจ…อย่าลืมแวะไปดูชมกันด้วยนะครับ

อย่างที่ผมเกริ่นไว้ตอนต้นแหละครับ ถือเสียว่าไปให้กำลังใจนักวิจัยเพื่อให้พวกเขาอดทน มุ่งมั่นในการที่จะนั่งวิจัยแบบปิดทอง หลังพระเพื่อความ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ของประเทศไทยเราต่อไป.

“ซูม”