เรือด่วนเจ้าพระยา! จาก “ตำนาน” สู่ “อนาคต”

ซอกแซกสัปดาห์นี้ยังคงเป็นเรื่องเล่าจากแม่น้ำเจ้าพระยาบนหลังคาของเรือท่องเที่ยว “เจ้าพระยาทัวร์ริสท์โบ๊ท” ที่ทีมงานซอกแซกได้รับเชิญไปนั่งกินลมชมวิว 2 ฝั่งเจ้าพระยา และได้มีโอกาสสนทนากับ “คุณติ๋ม” สุภาพรรณ พิชัยรณรงค์สงคราม หรือ “เจ้าแม่เรือด่วน” ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทเรือท่องเที่ยวบริษัทนี้ด้วยเช่นกัน

วันอาทิตย์ก่อนเราคุยกันถึงเรือประเภท Hop On Hop Off หรือกระโดดขึ้น กระโดดลง (เวลาจอด) ซึ่งเป็นเรือท่องเที่ยวที่แล่นไปจอดตามท่าต่างๆตลอดทั้งวัน จนเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวมากว่า 15 ปีไปเรียบร้อยแล้ว

อาทิตย์นี้คงต้องหันกลับมาคุยกันถึงเรื่อง “เรือด่วนเจ้าพระยา” กันบ้างละ เรือด่วนโดยสารที่เป็นตำนานเคียงคู่แม่น้ำเจ้าพระยามา 47 ปีเต็มๆ และยังคงจะแล่นโลดต่อไปในอนาคตอันยาวไกลข้างหน้า ย่อมมีเรื่องเล่าที่น่าสนใจและคุ้มค่าแก่การติดตามรับฟังแน่นอน

คุณติ๋ม สุภาพรรณ ยิ้มด้วยความภาคภูมิใจ ก่อนที่จะเอ่ยประโยคแรกเมื่อเราถามถึงเรือด่วนเจ้าพระยาว่า “กว่า 47 ปีแล้วนะคะ คุณแม่ (คุณหญิงสุภัทรา สิงหลกะ) เป็นผู้ริเริ่ม…ก็ต่อยอดมาจากเรือยนต์ข้ามฟากของคุณแม่ที่วิ่งข้ามไปข้ามมาจากท่าวัดระฆังถึงท่ามหาราช จากศิริราชถึงท่าพระจันทร์ ท่าช้าง นั่นแหละค่ะ”

แต่เดิมการเดินเรือสายยาวในแม่น้ำเจ้าพระยานี้เป็นของ องค์การ ร.ส.พ. รัฐวิสาหกิจประเภทจัดบริการขนส่งและโดยสารของกระทรวงคมนาคม ซึ่งมีทั้งรถและเรือ ประสบปัญหาขาดทุนมาตลอดตามแบบฉบับของรัฐวิสาหกิจ จนรัฐบาลต้องประกาศยุบเลิก

คุณหญิง สุภัทรา สิงหลกะ ตัดสินใจเข้ารับโอนกิจการเดินเรือจาก ร.ส.พ.มาทำและปรับบริการให้เป็นเรือด่วนเต็มรูปแบบตั้งแต่ พ.ศ.2514 ล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอด ในบางปีเมื่อมีการเปิดสะพานใหม่ บริษัทของคุณแม่แทบอยู่ไม่ได้ โดยเฉพาะเรือข้ามฟากขาดทุนยับเยิน เพราะคนไปขึ้นรถเมล์ข้ามสะพานแทนเรือกันหมด

แต่คุณแม่ของเธอ ซึ่งใช้เวลาไปเรียนธรรมศาสตร์ จนจบทางด้านกฎหมายรุ่นแรกๆ และเคยดำรงตำแหน่ง นายกบัณฑิตสตรีทางกฎหมาย ถึง 4 สมัยก็ยังสู้ต่อโดยไม่ท้อถอย และได้ลูกสาวคนโตคือ “คุณติ๋ม” ซึ่งเรียนจบศิลปศาสตร์ จากสหรัฐอเมริกา กลับมาช่วยงาน ในขณะที่ลูกสาวคนเล็ก ภัทราวดี มีชูธน นั้น เลือกทางเดินในสายศิลปินไปเรียบร้อยแล้ว

จนกระทั่งเมื่อคุณหญิงสุภัทราจากไปคุณติ๋มจึงขึ้นมาบริหารธุรกิจเรือข้ามฟากและเรือด่วนเต็มตัว แม้จะต้องเผชิญกับวิกฤติอีกหลายเรื่อง จากการมีคู่แข่งโผล่มาวิ่งรับคนแข่งโดยไม่มีใบอนุญาต ไปจนถึงเหตุการณ์โป๊ะล่มที่ ท่าพรานนก มีผู้เสียชีวิตถึง 29ศพ ที่เป็นเรื่องช็อกที่สุดในชีวิตของเจ้าแม่เรือด่วน

แต่ ณ วันนี้ธุรกิจเรือด่วนของเธอมรดกจาก คุณหญิงสุภัทรา สิงหลกะ สามารถยืนหยัดได้อย่างมั่นคงแล้ว โดยมีเรือให้บริการถึง 57 ลำ ตลอดระยะทาง 30 กิโลเมตร ของแม่น้ำเจ้าพระยาจากท่าเรือวัดราชสิงขรถึงปากเกร็ด ซึ่งมีท่าเรือทั้งหมด 41 ท่า ให้บริการโดยสารวันละประมาณ 180 เที่ยว มีผู้ใช้บริการเฉลี่ยวันละ 35,000 คน หรือปีละประมาณ 10 ล้านคน!

สำหรับบริษัทในเครือ คือ เจ้าพระยาทัวร์ริสท์โบ๊ท และ บริษัท สุภัทรา ยังมีบริการเรือท่องเที่ยว เรือข้ามฟาก เรือเช่าของโรงแรมต่างๆ รวมทั้งเรือท่องเที่ยวในลำคลองต่างๆ ด้วย รวมทั้งหมด อีกกว่า 100 ลำ

ส่วนใหญ่จะต่อมาจากอู่เรือของคุณติ๋มเอง ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

แม้ธุรกิจในทุกวันนี้จะยังมีปัญหาและอุปสรรคสารพัด และรายได้จากค่าโดยสารก็ยังถูกจำกัดโดยรัฐ ที่มองว่าการขึ้นค่าโดยสารจะทำให้ประชาชนเดือดร้อน แต่ละเลยที่จะมองว่า ผู้ประกอบการจะขาดทุนหรือไม่เพียงใด…แต่เจ้าแม่เรือด่วนก็ยังยืนยันที่จะเดินหน้าต่อไป ด้วยวิสัยทัศน์ของบริษัทที่ยังคงเน้นบริการที่รวดเร็ว สะดวกสบาย แต่ “ความปลอดภัย” จะต้องสูงสุด ควบคู่ไปด้วย

เธอมีแผนที่จะปรับปรุงเรือด่วนจากแบบเดิมเป็นแบบใหม่ ที่เรียกว่า Catamaran ลำตัวคู่ทำด้วยอะลูมิเนียม น้ำหนักเบาสร้างคลื่นน้อย ประหยัดพลังงานและความปลอดภัยสูง อีกทั้งยังจะติดตั้งระบบติดตามหรือ GPS ระบบวิทยุสื่อสาร ตลอดจนกล้องวงจรปิดให้เป็นเรือที่ทันสมัยไฮเทคแบบต่างประเทศ

คุณติ๋มตั้งเป้าว่าในปลายนี้ (2562) จะมีเรือโดยสารปรับอากาศออกมาให้บริการ 4-6 ลำ เพื่อรับช่วงผู้โดยสารจากระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่จะมาถึงท่าเรือบางโพ ท่าเรือราชินี ฯลฯ เป็นการทดลอง

เมื่อก่อนเธอก็เคยคิดว่ารถไฟฟ้าจะเป็นคู่แข่ง เพราะเข้าใจว่าเมื่อรถไฟฟ้าวิ่งข้ามเจ้าพระยาลูกค้าทางเรือจะหดหาย แต่จากประสบการณ์กลับพบว่า จะเป็นการเกื้อกูลซึ่งกันและกันมากกว่า

ทีมงานของเธอเริ่มศึกษาแล้วว่าจะมีรถไฟฟ้าข้ามเจ้าพระยากี่สาย มีท่าเรือไหนใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าบ้าง เธอมั่นใจว่าเมื่อโครงการรถไฟฟ้าข้ามเจ้าพระยา ทุกโครงการแล้วเสร็จเรือด่วนของเธอก็พร้อมจะเข้าเชื่อมต่อในทันที

เจ้าแม่เรือด่วน สุภาพรรณ พิชัยรณรงค์-สงคราม สรุปว่า แม่น้ำเจ้าพระยายังคงเป็นแม่น้ำที่มีอนาคตไม่เพียงจากรถไฟฟ้าต่างๆเท่านั้น การลงทุน 2 ริมฝั่งแม่น้ำที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ เอเชียทีค ล้ง 1919 มาจนถึง ไอคอนสยาม ทำให้ผู้คนหันมาใช้แม่น้ำเจ้าพระยามากขึ้นกว่าเดิม

“ตั้งแต่ ไอคอนสยาม เปิด เราพบว่ามีผู้คนมาใช้แม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อที่จะไปศูนย์การค้าโด่งดังระดับโลกแห่งใหม่ของประเทศไทยเรานี้ เพิ่มขึ้นถึงวันละกว่า 10,000 คน”

นี่คือบทสนทนาระหว่างทีมงานซอกแซก กับเจ้าแม่เรือด่วน เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนโน้น ซึ่งสรุปได้ว่า แม่น้ำเจ้าพระยา มิใช่เป็นเพียง “แม่น้ำแห่งอดีต” อย่างที่หลายๆ คนคิดไว้ หากแต่เป็น “แม่น้ำแห่งอนาคต” อันยาวไกลเลยทีเดียว

รวมทั้งเรือด่วนเจ้าพระยาก็คงมิใช่เรือด่วนในอดีตอย่างที่หลายคนปรามาสไว้ แต่จะเป็นเรือด่วนที่จะแล่นฉิวต่อไปในอนาคตเช่นเดียวกับแม่น้ำสายนี้.

“ซูม”