นี่ก็ “วาทกรรม” ในอดีต ที่ไม่อยากให้เกิดยุคนี้

เมื่อวานนี้ผมพูดถึง “วาทกรรม” ทางการเมือง 1 ใน 2 วาทกรรมที่มีการใช้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต และผมไม่อยากให้เกิดขึ้นในยุคนี้

วาทกรรมแรกคือ “เลือกตั้งสกปรก” ที่นิสิตนักศึกษานำมาใช้กับการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อ พ.ศ.2500 จนเกิดการประท้วงครั้งใหญ่ และนำไปสู่การปฏิวัติรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในที่สุด

วันนี้มาว่ากันต่ออีก “วาทกรรม” หนึ่งที่ผมเป็นห่วงไม่น้อยเลย ได้แก่ วาทกรรมว่าด้วย “การสืบทอดอำนาจ” นั่นเอง

เมื่อเดือนเมษายนปี 2535 มีการใช้วาทกรรม “สืบทอดอำนาจ” อย่างกว้างขวาง จากการที่สภาผู้แทนใน พ.ศ.นั้น เสนอให้ พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี แทน นายณรงค์ วงค์วรรณ ที่ได้รับการเสนอเป็นคนแรก แต่มีข้อโต้แย้งจากสหรัฐฯ จนทำให้ต้องเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี

ผู้คนหลายกลุ่มไม่พอใจ เพราะ พล.อ.สุจินดามิได้มาจากการเลือกตั้ง และเคยเป็นกำลังหลักของ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ในการปฏิวัติยึดอำนาจจาก พล.อ.ชาติชาย ชุณหวัณ ซึ่งได้ประกาศตลอดว่าจะไม่มาบริหารบ้านเมือง และไม่ประสงค์จะมีอำนาจทางการเมือง

เมื่อจู่ๆ จะมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงเท่ากับเป็นการ “เสียสัตย์” ที่เคยให้ไว้ และยังเป็นการ สืบทอดอำนาจ ของคณะ รสช.อีกด้วย

วาทกรรม “สืบทอดอำนาจ” ถูกนำไปใช้ในการอภิปราย และการแสดงความคิดเห็นคัดค้าน พล.อ.สุจินดาอย่างกว้างขวาง

นำไปสู่การรวมตัวประท้วงของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และกลุ่มปัญญาชน จากมหาวิทยาลัยที่ไม่เห็นด้วย รวมทั้งประชาชนอีกจำนวนมากจนถึงขั้นออกมาชุมนุมที่ถนนราชดำเนินแน่นขนัด

ต่อมามีการใช้กำลังอย่างรุนแรงในการปราบปราม จนเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า “พฤษภาทมิฬ” เมื่อ 17 พฤษภาคม 2535

แต่ด้วยพระบารมีของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงรับสั่งให้ พลเอกสุจินดา คราประยูร และ พลตรีจำลอง ศรีเมือง เข้าเฝ้า โดยพระราชทานพระราชดำรัสแก่บุคคลทั้ง 2 ให้เห็นแก่ประโยชน์สุขของบ้านเมือง

จากนั้นอีก 4 วันต่อมา พลเอกสุจินดาก็ลาออกจากนายกรัฐมนตรี และสถานการณ์ต่างๆ ก็คลี่คลายกลับสู่ความสงบ

ใครจะไปนึกล่ะว่า วาทกรรม “สืบทอดอำนาจ” จะส่งผลร้ายแรงถึงเพียงนี้ และหากมิใช่เพราะพระมหากรุณาธิคุณ และพระบารมีอันใหญ่หลวงของในหลวง ร.9 แล้ว ก็ยังคาดเดามิถูกเลยว่าจะเกิดความเสียหายอะไรขึ้นอีกบ้าง?

จึงเป็นอีก 1 วาทกรรมที่ผมไม่อยากให้เกิดขึ้นในยุคนี้ แต่ในที่สุดก็ห้ามไม่ได้ เพราะได้เกิดขึ้นแล้ว…เกิดตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งด้วยซ้ำไป

มีการใช้กันอย่างกว้างขวางในระหว่างหาเสียง และก็มีการใช้อย่างกว้างขวางระหว่างหาทางรวมพรรคต่างๆ เพื่อชิงสิทธิ์ในการจัดตั้งรัฐบาล

แต่มานึกดูอีกทีผมก็คิดว่า ผลของวาทกรรมนี้คงไม่รุนแรงเหมือนสมัย “บิ๊กสุ” หรอกครับ–จากผลการเลือกตั้งที่ออกมาเป็น 2 ฟากที่ก้ำกึ่ง กันอย่างที่เป็นข่าว

ฝ่ายต่อต้านการสืบทอดอำนาจ หรือฝ่ายไม่เอาบิ๊กตู่เขาก็บอกว่า เขาชนะ เพราะได้จำนวน ส.ส.มากกว่า สมควรเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล

ฝ่ายที่ไม่ถือว่าการกลับมาของบิ๊กตู่จะเป็นการสืบทอดอำนาจก็บอกว่า เขาได้ป๊อปปูลาร์โหวตมากกว่า เขาต่างหากที่เป็นผู้ชนะตัวจริง

โชคดีที่การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายก้ำกึ่งกันไปหมด คงไม่มีอะไรบานปลายหรือหนักหน่วงเกิดขึ้นดังเช่นในอดีต

ผมก็หวังว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะจบลงด้วยดีนะครับ และยังไงๆก็รอหลังวันที่ 9 พ.ค. เมื่อ กกต.ประกาศผลการเลือกตั้งออกมาอย่างเป็นทางการเสียก่อนค่อยว่ากันอีกที

ระหว่างนี้ก็ขอให้ร้องเพลงแห่งความรักกันไปพลางๆ เพื่อสร้างอารมณ์รักทั้ง 2 ฝ่ายให้เกิดขึ้นอย่างที่คุณ กิเลน ประลองเชิง หน้า 3 ไทยรัฐเขียนไว้วันก่อนและผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง

ขออนุญาตย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ต้องลดความเกลียดชังและหันมาเพิ่มความรัก และความเข้าใจซึ่งกันและกันให้มากขึ้นเท่านั้นที่จะทำให้ประเทศไทยของเราไปรอดหลังเลือกตั้งครั้งนี้.

“ซูม”