ตรวจ “รายชื่อ” อีกครั้ง ใครบ้างมีสิทธิเป็นนายกฯ?

ผมได้รับจดหมายเชิงหารืออยู่ฉบับหนึ่ง ถามมาว่าทำอย่างไรถึงจะรู้ได้ล่ะว่า ผู้ที่พรรคการเมืองต่างๆ เสนอรายชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งครั้งนี้มีใครบ้าง?

เพราะเท่าที่หนังสือพิมพ์ลงข่าวก็มักจะลงแต่ผู้ที่เสนอโดยพรรคใหญ่ๆ เท่านั้น จนทำให้นึกว่าผู้ที่เสนอตัวมาเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งนี้มีอยู่เพียงไม่กี่คน

“หากคุณซูมมีรายชื่อทั้งหมดช่วยเอามาลงหน่อยได้ไหม เพื่อเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ให้ครบถ้วน (อย่างที่คุณซูมชอบเอ่ยอยู่บ่อยๆ)”

“ไม่อย่างนั้นคนอ่านหนังสือพิมพ์ หรือดูโทรทัศน์ก็จะนึกว่ามีแต่พลเอกประยุทธ์, คุณหญิงสุดารัตน์, คุณอภิสิทธิ์, คุณอนุทิน, คุณธนาธร, คุณสุวัจน์, พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ แล้วก็คุณชัชวาลล์ คงอุดม

ลงนาม…“แฟนลายคราม” ฉะเชิงเทรา

ต้องขอขอบคุณ คุณ “แฟนลายคราม” ที่กรุณาตั้งประเด็นนี้ขึ้น… เพราะจริงๆ อย่างที่คุณว่า ถ้าอ่านจากข่าวในช่วงนี้แล้วดูเหมือนว่าบุคคลที่ขันอาสาจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีให้แก่ประเทศไทยของเรามีเพียงไม่กี่คน

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงมีพรรคการเมืองต่างๆ เสนอชื่อมาถึง 38 คน และตามรัฐธรรมนูญแล้ว 38 คนดังกล่าวนี้เท่านั้นที่จะมีสิทธิเป็นนายกรัฐมนตรี หลังการเลือกตั้งคราวนี้

คนอื่นๆ นอกจากนี้จะมีโอกาสก็ต่อเมื่อ ทั้ง 2 สภาไม่สามารถเลือกใน 38 คนได้ จึงลงมติด้วยคะแนน 2 ใน 3 ของที่ประชุม 2 สภา ขอยกเว้นการเลือกเฉพาะผู้ที่มีการเสนอชื่อ เพื่อไปเลือกใครก็ได้ตามมาตรา 272 วรรค 2 ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ

ด้วยเหตุนี้ทั้ง 38 รายชื่อนี้ จึงมีความสำคัญไม่น้อยทีเดียว และสมควรได้รับการบันทึกไว้เป็นส่วนหนึ่งของเกร็ดประวัติศาสตร์อย่างที่คุณ “แฟนลายคราม” เสนอไว้

เผอิญผมมีเอกสารคู่มือการเลือกตั้งที่ กกต.นำมาเสียบไว้ที่ประตูบ้านผม อย่างที่เคยเล่าไว้แล้ว และนำมาใช้ประโยชน์ในหลายๆ เรื่อง หลายๆ ประเด็นไปแล้ว…ซึ่งในคู่มือที่ว่าก็ลงรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรีเอาไว้อย่างครบถ้วน

ถือโอกาสคัดลอกนำมาใช้ประโยชน์อีกสักเรื่องก็แล้วกัน…เชิญอ่านทั้ง 38 รายชื่อได้เลยครับ

นางสาวกัญจนา ศิลปอาชา (พรรคชาติไทยพัฒนา), คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ และ นายชัยเกษม นิติสิริ (พรรคเพื่อไทย), นายอนุทิน ชาญวีรกูล (พรรคภูมิใจไทย), นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (พรรคประชาธิปัตย์), พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (พรรคพลังประชารัฐ), นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (พรรคอนาคตใหม่), นายสมเกียรติ ศรลัมพ์ นางนันทนา สงฆ์ประชา และ ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ (พรรคประชาภิวัฒน์)

นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล และ นายเทวัญ ลิปตพัลลภ (พรรคชาติพัฒนา), นายชัชวาลล์ คงอุดม และ นายโกวิทย์ พวงงาม (พรรคพลังท้องถิ่นไท), นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง และ นางสาวณหทัย ทิวไผ่งาม (พรรคประชาชาติ) พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส (พรรคเสรีรวมไทย), ม.ร.ว.ดำรงดิศ ดิศกุล (พรรคภราดรภาพ)

พ.ต.อ.รวมนคร ทับทิมธงไชย พล.ต.อ.ยงยุทธ เทพจำนงค์ และ นายปฐมฤกษ์ มณีเนตร (พรรคประชานิยม), นายสุรทิน พิจารณ์ (พรรคประชาธิปไตยใหม่) นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ (พรรคเศรษฐกิจใหม่), นายราเชน ตระกูลเวียง (พรรคทางเลือกใหม่), นายปรีดา บุญเพลิง (พรรคครูไทยเพื่อประชาชน)

พลเอกธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา และ นายคฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล (พรรคพลังไทยรักไทย), นายพูนพิพัฒน์ นิลรังษี (พรรคพลังประชาธิปไตย), พลตรีทรงกลด ทิพรัตน์ (พรรคพลังชาติไทย), นายอภิรัต ศิรินาวิน นายพาลินี งามพริ้ง และ นายสุปกิจ คชเสนี (พรรคมหาชน), นายเอกพร รักความสุข (พรรคพลเมืองไทย), นายพิเชษฐ สถิรชวาล และ นายชัยวุฑ ตรึกตรอง (พรรคประชาธรรมไทย)

ครับ! นี่ก็คือผู้มีสิทธิเป็นนายกรัฐมนตรีทั้งหมด 38 ราย ตามที่พรรคการเมืองเสนอไว้ แต่ดูๆ แล้วก็คงหนีไม่พ้น 4–5 รายที่หนังสือพิมพ์เอ่ยถึงบ่อยๆ แหละครับ ที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของประเทศไทย.

“ซูม”