เสน่ห์และความสนุกที่ชวนให้ติดตามการเลือกตั้งครั้งนี้ ประการหนึ่งก็คือ การแข่งขันระหว่างพรรคการเมืองใหญ่ๆ เป็นไปอย่างสูสีมาก และยังเดายากว่าพรรคไหนจะเข้าวินเป็นที่หนึ่งหลังวันที่ 24 มีนาคม
เพราะผลโพลของสำนักต่างๆ ออกมาค่อนข้างใกล้เคียงกัน และชนะหรือนำกันแบบไม่ขาดลอยมากนัก ในขณะที่เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจยังมีค่อนข้างสูงอยู่ในขณะสำรวจ
กลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจนี่แหละครับ ที่จะบันดาลให้พรรคใดพรรคหนึ่งก็ได้…ได้ชัยชนะในวันเลือกตั้ง เมื่อมีการเทคะแนนส่วนใหญ่ไปให้แก่พรรคนั้นๆ
ขณะนี้ทุกโพลคาดว่า พรรคเพื่อไทย จะได้ ส.ส.มากที่สุด ส่วนอันดับ 2 นั้น ยังสลับกันอยู่ระหว่าง พรรคประชาธิปัตย์ กับ พรรคพลังประชารัฐ บ้างก็ว่าประชาธิปัตย์ และบ้างก็ว่าพลังประชารัฐ โดยมี พรรคอนาคตใหม่ เข้าเป็นอันดับที่ 4 ในทุกโพล
ล่าสุด ณ วันที่ผมเขียนต้นฉบับนี้ ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ หรือ กรุงเทพโพล สุ่มจากประชาชนทุกภูมิภาคทั่วประเทศ 1,735 ราย ในการสำรวจที่เรียกว่า “นับถอยหลัง 14 วันสู่การเลือกตั้ง”
ผลปรากฏว่า อันดับ 1 ร้อยละ 21.7 จะเลือก พรรคเพื่อไทย คิดเป็นเปอร์เซ็นต์เพิ่มขึ้นจากครั้งที่แล้ว 8.9 เปอร์เซ็นต์
อันดับ 2 ร้อยละ 19.0 จะเลือกพรรค พลังประชารัฐ เพิ่มขึ้นจากครั้งก่อน 7.4 เปอร์เซ็นต์
อันดับ 3 ร้อยละ 15.5 จะเลือก พรรคประชาธิปัตย์ เพิ่มขึ้นจากการสำรวจคราวที่แล้ว 7.9 เปอร์เซ็นต์
และอันดับ 4 พรรคอนาคตใหม่ ร้อยละ 12 เพิ่มขึ้น 6.3 เปอร์เซ็นต์จากครั้งก่อน
ที่สำคัญก็คือ การสำรวจครั้งนี้มีผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจเพียงร้อยละ 21.6 ลดลงจากครั้งที่แล้วถึง 31.8 เปอร์เซ็นต์
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งมีการตัดสินใจแน่นอนแล้วว่าจะเลือกพรรคไหนเพิ่มขึ้นจากครั้งก่อนค่อนข้างเยอะทีเดียว
อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงบุคคลที่อยากได้มาเป็นนายกรัฐมนตรีคำตอบจะสวนทางกับเรื่องการที่จะเลือก ส.ส.พรรคใดพรรคหนึ่งในตอนแรก
เพราะอันดับ 1 ได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ร้อยละ 24.8 เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6 ในขณะที่อันดับ 2 ได้แก่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ร้อยละ 17.3 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3
ในขณะที่อันดับ 3 อันดับ 4 เป็นไปในทำนองเดียวกับการเลือกพรรคที่ผลออกมาอยู่ในอันดับเดียวกัน ได้แก่ คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (พรรคประชาธิปัตย์) และ คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (พรรคอนาคตใหม่)
แปลความตามตัวเลขนี้ก็คือ ประชาชนที่เป็นตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ อยากเลือกพรรคเพื่อไทยมากที่สุด แต่ก็อยากได้บิ๊กตู่ซึ่งมีชื่ออยู่ในแคนดิเดตนายกฯของพรรคพลังประชารัฐมาเป็นนายกรัฐมนตรี
ก็ไม่เป็นไร เพราะนี่คือการสำรวจ และเป็นเพียงตัวอย่าง ไม่ใช่ตัวจริงหรือของจริงที่จะเกิดขึ้นในวันเลือกตั้งซึ่งก็เหลืออีก 2 สัปดาห์เท่านั้น
ในรายงานข่าวไม่ได้ระบุไว้ว่าการสำรวจครั้งนี้ได้รวมผลกระทบจากการยุบพรรคไทยรักษาชาติเอาไว้ด้วยหรือไม่ แต่ก็เดาว่าคงรวมแล้วล่ะ เพราะเป็นโพลที่ทำขึ้นหลังจากการยุบพรรคดังกล่าวไปแล้ว
อีกประเด็นหนึ่ง ถ้าเป็นจริงตามผลการสำรวจจะน่ายินดีมาก
เพราะกรุงเทพโพลรายงานว่า ผู้ตอบคำถามต่างยืนยันว่าจะไปเลือกตั้งแน่นอนถึง 96.7 เปอร์เซ็นต์
สูงสุดตลอดกาลเลยละครับถ้าของจริงออกมาตามนี้
โดยหลักวิชาแล้ว การทำโพลใดๆ ก็ตาม แม้จะใช้ตัวอย่างเพียงพันกว่ารายก็สามารถจะนำมาใช้ในการคาดการณ์ผลรวมทั้งหมดของสังคม หรือประเทศได้อย่างแม่นยำ หากว่าการเลือกกลุ่มตัวอย่างเป็นไปอย่างสอดคล้องกับสภาพสังคมนั้นๆ
การเลือกตัวอย่างจึงสำคัญที่สุด เพราะถ้าเลือกผิด ผลก็จะผิดในทันที
ดังนั้น นอกจากลุ้นผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการแล้ว ความสนุกอีกอย่างหนึ่งในทุกการเลือกตั้งก็คือ การลุ้นว่าโพลของใครจะแม่นกว่ากันนี่แหละครับ.
“ซูม”