ตามรอย “13 หมูป่า” ของฝากจาก “เชียงราย”

เมื่อเสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญจาก บริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ฯ ให้ไปชมการแข่งขันและการแสดงบอลลูนระดับนานาชาติที่เรียกว่า “International Balloon Fiesta” ครั้งที่ 4 ที่บริเวณสิงห์ปาร์ค จังหวัดเชียงราย

ยังตื่นตาตื่นใจกับความงดงามของลูกบอลลูนขนาดยักษ์หลากสีสันที่ลอยล่องเป็นทิวแถวกว่า 30 ลูก ในท่ามกลางหุบเขาอันสวยงาม และบริเวณสวนเกษตรอันกว้างใหญ่ของสิงห์ปาร์คอยู่จนถึงวันนี้

งานนี้เป็นงานใหญ่งานหนึ่งของจังหวัดเชียงรายครับ เริ่มตั้งแต่วันวาเลนไทน์ไปจนถึงวันอาทิตย์ของสัปดาห์ที่แล้ว มีนักท่องเที่ยวไปเที่ยวหลายหมื่นคนจากทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย

แต่ที่ผมจะเขียนถึงในวันนี้ คงไม่ใช่เรื่องบอลลูนหรอกครับ เพราะตั้งใจจะเก็บไว้เขียนในคอลัมน์ซอกแซกวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นคอลัมน์สนุกสนาน เข้ากับบรรยากาศของงานบอลลูนที่เชียงรายมากกว่า

ขออนุญาตเขียนถึง “สถานที่สำคัญ” ซึ่งเป็นที่มาของ “เหตุการณ์สำคัญ” จนทำให้ประเทศไทยของเรามีชื่อเสียงกระฉ่อนโลกเสียก่อนก็แล้วกัน เพราะนอกจากจะชวนท่านผู้อ่านรำลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนี้แล้ว ยังจะทิ้งท้ายให้เข้ากับสถานการณ์การบ้านการเมืองในขณะนี้ได้อีกด้วย

ผมหมายถึงวนอุทยาน “ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน” ที่อำเภอแม่สาย ถ้ำอันลี้ลับยาวหลายกิโลเมตรที่นักเตะฟุตบอลเยาวชนทีม “หมูป่า อะคาเดมี” พร้อมโค้ช รวม 13 คน เข้าไปติดอยู่ถึงกว่า 17 วัน ระหว่างวันที่ 24 มิถุนายน-10 กรกฎาคม เมื่อปีกลายนั่นแหละครับ

คงจะจำกันได้นะครับว่า ปฏิบัติการช่วยชีวิตหมูป่าเมื่อครั้งกระนั้นทำให้ชื่อเสียงของประเทศไทยเราโด่งดังไปทั่วโลกในชั่วพริบตา และดัง (ในแง่ดี) ติดต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้

ดังนั้นเมื่อมีโอกาสไปถึงเชียงรายทั้งที จะไม่แวะไปเยือนสถานที่เกิดเหตุเสียหน่อยก็ดูจะกระไรอยู่

ผมจึงใช้เวลาไปที่ ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน และอยู่ที่นั่นเสียเกือบครึ่งวัน ด้วยความตื่นเต้นระคนกับความตื่นตาตื่นใจที่พบว่า มีผู้คนจากทุกสารทิศแวะไปเยี่ยมชมอย่างหนาแน่นเมื่อเสาร์ที่แล้ว

บริเวณปากถ้ำทางเข้าออก 13 หมูป่าในวันที่ผมไปถึง แม้จะถูกปิด เอาไว้ แต่ก็อนุญาตให้ไปยืนถ่ายรูป “เช็กอิน” ที่ปากถ้ำได้

ที่เชิงเขาด้านหนึ่ง เขาไปสร้างศาลาไว้เพื่อเก็บภาพวาดขนาดใหญ่ที่ศิลปินเชียงราย นำโดย ท่านอาจารย์ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ วาด ลำดับเหตุการณ์เอาไว้ และเปิดให้เข้าชมได้ตลอดวัน

ด้านหน้าศาลาจะเป็นรูปปั้นของ “วีรบุรุษถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน” “จ่าแซม” หรือ น.ต.สมาน กุนัน ยืนตระหง่านอยู่ เป็นอีกจุดที่ผู้คนไปยืนถ่ายภาพ “เช็กอิน” อยู่ตลอด!

ผมไปเจอท่านนายอำเภอแม่สาย สมศักดิ์ คณาคำ โดยบังเอิญ ท่านจะแวะมาดูแลความเรียบร้อยอยู่เสมอและจะช่วยบรรยายแผนที่ต่างๆ ที่ตั้งอยู่บริเวณนั้นให้ด้วย เวลามีคนไปยืนมุงดูแผนที่จำลองถ้ำหลวงกันมากๆ

อธิบายได้คล่องเหมือนคนอยู่ในเหตุการณ์ ผมก็นึกว่าเป็นเจ้าหน้าที่ วนอุทยานหรืออย่างไร จึงแอบถามชาวบ้านที่ยืนฟังอยู่ด้วยรายหนึ่ง ถึงได้ทราบว่า ท่านเป็นนายอำเภอแม่สายต่างหากล่ะ

พอทราบว่าท่านเป็นนายอำเภอแม่สาย ผมก็ถือโอกาสแนะนำตัวเองว่าผมเขียนหนังสืออยู่ที่ไทยรัฐ ขออนุญาตสัมภาษณ์พิเศษเรื่องราวในระหว่างเกิดเหตุจนกระทั่งการช่วยชีวิต 13 หมูป่าอย่างปลอดภัยจากคนที่อยู่ในเหตุการณ์จริงๆ อีกสักครั้งหนึ่ง

ซึ่งท่านนายอำเภอก็กรุณาเล่าให้ผมฟังอย่างละเอียดลออราวกับเพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อวันวานนี้เอง

ฟังกี่ครั้งก็ไม่เบื่อครับเรื่องราวที่แสดงถึงความร่วมแรงร่วมใจของพี่น้องชาวไทยทุกหมู่เหล่าที่มุ่งไปสู่บริเวณถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เพื่อจะช่วยเหลือชีวิต 13 หมูป่าเมื่อครั้งกระนั้น

แต่พอกลับมาถึงโรงพิมพ์ก็ได้ยินข่าวว่าจะมีการเปิดเพลง “หนักแผ่นดิน” กันอีกแล้ว…แสดงว่าต้องมีใครทะเลาะกับใครหรือไม่ก็ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดกำลังจะถูกกล่าวหาว่าเป็นคนหนักแผ่นดินเสียอีกกระมัง?

ผมก็เลยต้องรีบเขียนถึงปฏิบัติการช่วยชีวิต 13 หมูป่าที่ “ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน” อ.แม่สาย จังหวัดเชียงรายขึ้นมาซะก่อนในวันนี้

เพื่อให้ทุกฝ่ายระลึกถึงวันที่ “สามัคคีคือพลัง” และวันที่ชาวโลกชื่นชมว่าคนไทยรักกัน ร่วมมือกันช่วยชีวิต 13 หมูป่าจนปลอดภัย และกลายเป็นตำนานเล่าขานมาจนถึงปัจจุบัน

เราควรจะร้องเพลง “สามัคคีชุมนุม” ครับ ไม่ใช่เพลง “หนักแผ่นดิน”.

“ซูม”