รถไฟความเร็วสูง “ลาว” “มองเขา” แล้วก็ “มองเรา”

ผมขออนุญาตเขียนถึงเรื่องราวของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวต่ออีกสักวันนะครับ เพราะเพิ่งนึกขึ้นมาได้ว่าระหว่างที่ผมอยู่ที่เวียงจันทน์นั้น เพื่อนฝูงที่สนิทชิดชอบรายหนึ่ง ได้กรุณาส่งไลน์ไปถึงผมว่า…

“พี่ซูมครับ อย่าลืมหาโอกาสไปดูชมโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง จีน-ลาวด้วยนะครับ…ผมเพิ่งไปดูมา เขาสร้างเสร็จเยอะมากน่าจะเกิน 60 เปอร์เซ็นต์ แล้วกระมัง อาจจะเสร็จเร็วกว่ากำหนดด้วยซ้ำ”

เสียดายที่ผมไม่มีโอกาสแวะไปดูแต่ก็ต้องขอบคุณพรรคพวกเป็นอย่างยิ่งที่กรุณาแจ้งให้ทราบ ทำให้ผมมีประเด็นที่จะเขียนถึง สปป.ลาวอีก 1 ประเด็นในวันนี้

เมื่อวานผมเขียนให้กำลังใจรัฐบาลลาวในการที่จะพัฒนาประเทศให้หลุดพ้นจากกับดักความเป็นประเทศรายได้น้อย เข้าสู่ความเป็นประเทศรายได้ปานกลางในอนาคตอันใกล้

พร้อมกับตั้งความหวังว่า การขายพลังงานไฟฟ้าให้แก่ไทยในชั้นแรก และจะขายให้ประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ต่อไปในอนาคต จะเป็นรายได้ที่สำคัญของลาวที่จะนำมาใช้ในการพัฒนา

แต่พอนึกถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว ที่รัฐบาลจีนมุ่งหวังจะสร้างเป็นเส้นทางสายไหม ยุคใหม่ โดยมีไทยเราเข้าไปรับช่วงด้วยและออกไปมาเลเซีย สิงคโปร์ ตามที่เคยเป็นข่าวมาตลอดนั้น

ผมก็พลอยนึกขึ้นมาได้ว่า เคยมีการวิเคราะห์ถึงรถไฟฟ้าความเร็วสูง สายนี้ด้วยความห่วงใยรัฐบาลลาวอยู่ไม่น้อย

เมื่อไม่นานมานี้เอง หนังสือพิมพ์ไฟแนนเซียลไทม์ได้นำเสนอข่าวเชิงวิเคราะห์สถานการณ์หนี้สินของ 6 ประเทศ ในกลุ่มอาเซียนที่อยู่ในบริเวณแหลมทอง หรือสุวรรณภูมิ อันได้แก่ กัมพูชา, ลาว, มาเลเซีย, เมียนมา, ไทย และเวียดนาม เอาไว้อย่างน่าเป็นห่วงยิ่ง

โดยระบุว่า มูลค่าหนี้ต่อจีดีพีของทั้ง 6 ประเทศ ค่อนข้างสูงมาก โดยเฉพาะลาวนั้นสูงที่สุดผมจำตัวเลขไม่ได้แล้วว่าสูงขนาดไหน แต่คลับคล้ายคลับคลาว่าสูงอย่างจะต้องระมัดระวังเลยทีเดียว

สาเหตุก็เพราะรัฐบาลได้ไปร่วมลงทุนกับรัฐบาลจีนในการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง สายคุนหมิง-เวียงจันทน์ ซึ่งแม้จะเป็นเพียง 30 เปอร์เซ็นต์ของเงินลงทุนทั้งหมดก็ตาม แต่ด้วยมูลค่าประมาณ 5,800 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 190,000 ล้านบาทเศษๆ นั้น ก็เกือบๆ 40 เปอร์เซ็นต์ ของจีดีพีลาวเข้าไปแล้ว

และด้วยภาระหนี้ขนาดนี้รายได้จาก “แบตเตอรี่” หรือโครงการไฟฟ้าต่างๆ จะไปชดเชยได้อย่างไร

ผมเองไม่มีข้อมูล หรือมีความรอบรู้ที่ลึกซึ้งไปกว่านี้ จึงไม่อาจที่จะออกความเห็นเพิ่มเติมได้ว่า บทวิเคราะห์ของไฟแนนเชียลไทม์ถูกต้องหรือไม่? เพียงใด?

ผมเคารพในการตัดสินใจของรัฐบาลลาว และคงไม่ก้าวล่วงที่จะไปแสดงความคิดเห็นอย่างหนึ่งอย่างใดต่อรัฐบาลลาวในกรณีร่วม ลงทุนกับจีนสำหรับรถไฟความเร็วสูงสายนี้

ที่ผมหยิบยกมาเขียนถึงวันนี้เป็นของแถมพกจากการไปเที่ยว เมืองลาว ก็เพราะลึกๆแล้วผมก็รู้สึกเป็นห่วงเป็นใยในโครงการของรัฐบาลไทยที่มีข่าวว่าจะไปเชื่อมโยงถึงกันอยู่ก่อนแล้ว

โครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-โคราช-หนองคาย ที่จะใช้เงินถึง 4 แสนกว่าล้านบาท นั่นแหละครับ

ผมห่วงเหลือเกินว่าจะเป็นโครงการที่ไม่คุ้มการลงทุน ไม่สามารถสร้างรายได้อย่างที่หวัง รวมทั้งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมอื่นๆ

เคยทักท้วงก็หลายครั้ง เคยพูดถึงด้วยความห่วงใยก็หลายครั้ง แต่เมื่อรัฐบาลท่านเดินหน้าผมก็คงทำได้เพียงถอนหายใจ และในที่สุดก็ต้องแอบภาวนาเอาใจช่วยท่าน เพราะไม่มีทางเลือกอย่างอื่นอีกแล้ว

ขอให้ความห่วงความกังวลของผมเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องเถิด

ขอให้โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงมูลค่า 4 แสนกว่าล้านบาทของเราสายนี้ จงประสบความสำเร็จและไม่เป็นภาระแก่ลูกหลานของเราในอนาคตด้วยเถิด

ขออวยพรข้ามประเทศไปถึงลาวด้วยครับ ขอให้รถไฟฟ้าสายคุนหมิง-เวียงจันทน์ จงประสบความสำเร็จด้วยเช่นกัน.

“ซูม”