ดีใจ “โขนไทย” กระหึ่มโลก ยูเนสโกยก “มรดกภูมิปัญญา”

ผมก็เหมือนท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่นแหละครับ ที่รู้สึกตื่นเต้นดีใจอย่างสุดจะบรรยายได้ เมื่อทราบข่าวว่า “โขน” ของไทยเราได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมภูมิปัญญาที่จับต้องไม่ได้ โดยยูเนสโก เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา

หนังสือพิมพ์บางฉบับใช้คำว่า “โขน” ได้รับการขึ้นทะเบียน เป็น “มรดกโลก” แล้ว ซึ่งเป็นการรายงานที่ไม่ถูกต้อง เพราะคำว่า “มรดกโลก” นั้น จะหมายถึงสิ่งที่ก่อสร้างขึ้น หรือเป็นแหล่งธรรมชาติที่มีคุณค่าอย่างยิ่งของมนุษยโลก ฯลฯ เท่านั้น

มีขั้นตอนและการเสนอเพื่อให้ยูเนสโกพิจารณาแยกออกไปต่างหาก

แต่โขนนั้นเป็นภูมิปัญญา เป็นวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ จึงไม่เรียกว่ามรดกโลก และเรียกกันอีกอย่างว่า “มรดกวัฒนธรรมภูมิปัญญา”

ออกจะเข้าใจยากอยู่สักหน่อย สื่อก็เลยเรียกง่ายๆ เสียว่า “มรดกโลก” ทำให้นักวิชาการบางท่านทักท้วงขึ้น ผมก็ถือโอกาสนำการเรียกขานที่ถูกต้องมาเรียนให้ทราบไว้ ณ ที่นี้

แต่ไม่ว่าจะเป็น “มรดกโลก” หรือ “มรดกวัฒนธรรมภูมิปัญญา” ก็ถือว่าเป็นระดับ “โลก” เหมือนกัน ได้รับการยอมรับโดยองค์กรเดียวกันสมควรที่คนไทยทุกคนควรจะภูมิใจพอๆกันนั่นแหละครับ

ก็อย่างที่ทราบกันแล้ว ก่อนจะดีใจหรือภูมิใจเราต้องลุ้นกันแทบแย่ เพราะของกัมพูชาที่เขาเสนอเรื่องเกี่ยวกับโขนเหมือนกันไปด้วยในการพิจารณาคราวนี้ และของเขาก็ได้รับการรับรองไปก่อน

คนก็ห่วงกันว่าแล้วของเราจะได้ไหมเนี่ย? เมื่อเขมรได้ไปแล้ว? หลายรายๆ ถึงกับมองว่าเราคงเสียหน้าแย่เลยถ้าไม่ได้รับการรับรอง

เอาเข้าจริงปรากฏว่าเป็นการส่งไปให้รับรองคนละประเภทกัน ดังที่ท่าน ผอ.สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.อนุชา ทีรคานนท์ ซึ่งไปลุ้นอยู่ที่ห้องประชุมพิจารณาด้วย ท่านแจ้งให้ทราบว่าของเราส่งให้พิจารณาในประเภทที่ 1

เรียกกันว่า บัญชีรายการตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ซึ่งผมตีความว่าเป็นดี 1 ประเภท 1 คือเป็นเรื่องกว้างๆ รวมๆ ของวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

แต่ของกัมพูชาส่งให้รับรองในประเภทที่ 2 คือ รายการที่ต้องได้รับการสงวนรักษาอย่างเร่งด่วน เนื่องจาก “ลครโขล” ที่เขาเสนอครั้งนี้เป็นของ “วัดสวายอันเด็ต” อันเป็นโขนที่ชุมชนรอบๆ วัดนี้คิดค้นขึ้นนั้น ปรากฏว่า เมื่อกาลเวลาผ่านไปหลายๆ ปี บ้านเมืองผ่านสงครามมาหลายยุค คนเฒ่าคนแก่ของเขาแทบไม่เหลือที่จะมาถ่ายทอด เขาก็เลยเสนอให้รับรองในประเภท เร่งด่วน ที่ว่า ซึ่งก็ได้รับการรับรองไปก่อนเรา

มีข่าวว่าคนเขมรก็เฮ โดยเฉพาะท่านฮุน เซน เฮดังกว่าเพื่อนจนเรานึกว่าเขาสอบได้และเราสอบตกไปซะแล้ว

จนกระทั่งถึงวาระของเรา ซึ่งเขาพิจารณาตามตัวอักษรของชื่อประเทศ ของกัมพูชา ใช้ตัว “C” จึงได้รับการพิจารณาก่อน ในขณะที่ของเราเป็นตัว “T” จึงมาทีหลัง

แต่ในที่สุด เราก็ได้เฮเหมือนกัน และโขนไทยชุด หนุมาน-เบญกาย ที่เราเตรียมไปด้วยก็ได้แสดงโชว์ ฉลองทันทีที่เราได้รับการรับรองดังที่เราคงจะได้เห็นจากคลิปข่าวและภาพข่าวกันไปแล้ว

ในฐานะคนไทยคนหนึ่งและเป็นแฟนโขนเข้าเส้นเลือดคนหนึ่ง ดูโขนมาตั้งแต่เด็กๆ แถมตอนมาเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมฯ ก็เคยฝึกรำละครไทย แม้จะยังไม่ถึงขั้นเล่นโขนแต่ก็รำแม่บทได้ครบขบวนท่า

ทำให้ต่อมากลายเป็นแฟนโขนของกรมศิลปากร และจนมาเป็นแฟนโขนของศูนย์ศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ดูโขนของพระองค์ท่านมาทุกเรื่องรวมทั้งเรื่องล่าสุด “พิเภกสวามิภักดิ์” ดังที่เขียนไว้ในคอลัมน์ถึง 2 วันซ้อน

ขออนุญาตแสดงความยินดีอย่างออกหน้าออกตาอีกครั้งและขอขอบคุณทุกๆ ฝ่ายที่ช่วยกันดำเนินการและผลักดันจน “โขน” ของเราได้รับการรับรองจาก ยูเนสโก ในที่สุด

เป็นวันที่ผมมีความสุขวันหนึ่งในช่วงสัปดาห์เลยครับ หลังจากที่หงุดหงิดกับการอ่านข่าวการเมืองเรื่องแบ่งเขตเลือกตั้งอันชวนให้ปวดหัวอย่างยิ่งมาซะหลายวัน.

“ซูม”