สาเหตุที่ผมชอบ “โขน” และอยากให้ไปดู “พิเภก”

ผมเพิ่งจะเขียนถึงโขนศูนย์ศิลปาชีพฯ ตอน “พิเภกสวามิภักดิ์” ไปเมื่อวานนี้ ในคอลัมน์ซอกแซก แต่ยัง “อิน” อยู่ขออนุญาตเขียนต่อวันนี้อีกสักวันนะครับ

ประสาคนที่ชอบศิลปวัฒนธรรมไทย ชอบการแสดงแบบไทยๆ มาตั้งแต่เด็กๆ…โดยเฉพาะ “โขน” นั้นผมชอบมากๆ ตั้งแต่ยังเรียนอยู่ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พญาไท

เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า ช่วงเรียนปี 1 ผมเลือกเรียนวิชาเลือกเป็นวิชา “ภาษาเยอรมัน” ปรากฏว่าคะแนนออกมาร่อแร่ อาจารย์ที่ปรึกษาดูแล้วเห็นว่าไม่มีอนาคตแน่ เลยแนะให้เปลี่ยนไปเลือกเรียน วิชาการประพันธ์และการละคร แทน

ผมเห็นคำว่า “การประพันธ์” ซึ่งหมายถึงการแต่งเรื่อง หรือ การเขียนหนังสือ รีบสมัครเลย แต่ที่ไหนได้พอไปเรียนจริงๆ อาจารย์ท่านสอนหนักไปทางการละคร คือ วิชารำไทย นาฏศิลป์ไทย เสียมากว่า

จับพวกผมหัดรำไทย จนผม “รำแม่บท” เป็น และยังจำท่ารำต่างๆ ได้จนถึงวันนี้

อีก 1 ปีถัดมา ประมาณ พ.ศ.2503 ผมสอบเข้าเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ที่ธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ประเทศไทยของเราได้เชิญประมุขและผู้นำของชาติต่างๆ ทั่วโลกมาเยือนแทบไม่เว้นแต่ละเดือน

ในระหว่างเยือนก็จะมีคืนหนึ่งที่รัฐบาลจัดการแสดงแบบไทยๆ ต้อนรับ ซึ่งส่วนใหญ่นอกจากการร่ายรำต่างๆ แล้ว มักจะตบท้ายด้วยโขน

สถานที่จัดแสดงที่โก้ที่สุดในยุคนั้นก็คือ หอประชุมใหญ่ธรรมศาสตร์ นั่นแหละครับ เพิ่งสร้างเสร็จไม่นาน ระบบแสง สี เสียง และที่นั่งดีที่สุด ในประเทศไทย

รัฐบาลซึ่งมี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็จะมาขอยืมใช้หอประชุมธรรมศาสตร์ เพื่อจัดการแสดงต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง และในวันแสดงนั้นในหลวง ร.9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะเสด็จมาร่วมทอดพระเนตรเคียงข้างกับประมุขของชาติต่างๆ

1 สัปดาห์ก่อนวันแสดงกรมศิลปากรจะยกคณะมาซ้อมที่หอประชุมธรรมศาสตร์ ตั้งแต่บ่ายยันค่ำ แต่งชุดโจงกระเบนสีแดง ยังไม่ได้สวมหัวโขน

พวกเรานักศึกษาธรรมศาสตร์ก็จะมานั่งดูการซ้อมย่อยประมาณครึ่งหอประชุมอยู่เสมอ และพอถึงวันซ้อมใหญ่ที่จะเข้าเครื่องสวมหัวโขนสวมชฎา แต่งตัวเต็มยศ เขาก็จะเปิดให้นักศึกษาได้เข้าดูเป็นพิเศษ

1 ในจำนวนแฟนประจำก็คือผมนี่แหละครับ ดูจนจำหน้าพระราม ทองสุก ทองหลิม และทศกัณฐ์ จตุพร รัตนวราหะ ได้อย่างแม่นยำ

อีก 30 ปีให้หลัง ระหว่างผมทำงานอยู่ที่สภาพัฒน์มีโอกาสเดินทางไปสำรวจชนบทไทยทั่วประเทศรวมทั้งจังหวัดสุโขทัย ทำให้ทราบว่า ทศกัณฐ์ จตุพร รับราชการก้าวหน้าได้เป็นถึงผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลปสุโขทัยเลยทีเดียว

ผมไม่แน่ใจว่าตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลปนั้น ซีอะไร แต่ก็เชื่อว่าไม่น่าจะต่ำกว่าซี 8 และช่วงหลังๆ อาจจะเป็นซี 9 ก็ได้

ยังเก็บมาเขียนในคอลัมน์นี้ด้วยความดีใจที่ทราบว่านักแสดงโขนรุ่นเก่าๆ ได้ตำแหน่งยักษ์ 8 ยักษ์ 9 หรือลิง 8 ลิง 9 ซึ่งหมายถึงเป็นยักษ์ ซี 8 ยักษ์ซี 9 หรือลิงซี 8 ลิงซี 9 ไปตามๆกัน

ระหว่างนั่งดู “พิเภกสวามิภักดิ์” ไปผมก็นึกถึงความหลังกับดาราโขนแต่หนหลังไปเรื่อยๆ ยังดีใจที่เห็นรายชื่ออาจารย์จตุพรอยู่ในสูจิบัตรในฐานะเป็นผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาของโขนชุดนี้ด้วย

เสียดายที่มิได้เจอท่านในรอบสื่อมวลชน มิฉะนั้นก็จะเรียนถามเสียให้หายข้องใจว่า ท่านเป็นยักษ์ 8 หรือยักษ์ 9 กันแน่ เมื่อเกษียณอายุราชการ

กลับมาที่โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เรื่อง “พิเภกสวามิภักดิ์” อีกครั้ง…มีโอกาสอยากให้ไปดูกันเยอะๆ เลยครับ

ยิ่งใหญ่อลังการ ตระการตา สวยทั้งฉาก สวยทั้งเครื่องแต่งกาย วงดนตรีปี่พาทย์ และผู้ขับร้องก็แสนไพเราะ ฯลฯ ดูแล้วปลาบปลื้มและภาคภูมิใจใน “ศิลป์แห่งแผ่นดิน” ของเราชุดนี้เป็นที่สุด

แต่จะเป็นเพราะเศรษฐกิจไม่ดีหรือเป็นเพราะการโฆษณาประชาสัมพันธ์ยังไม่ทั่วถึงก็ไม่รู้ทำให้กระแสการจองที่นั่งดูโขนชุดนี้อยู่ราวๆ 60-70 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ไม่แน่นจนเสริมเหมือนชุดก่อนๆ

ไปช่วยกันทำให้ที่นั่งของศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ทุกที่นั่งเถอะครับ หรือถึงขั้นจะต้องเพิ่มรอบได้จะดีมาก

จองบัตรที่ไทยทิคเก็ตเมเจอร์ ทุกสาขานะครับ…คุณปู่คุณย่า คุณตาคุณยาย แฟนคลับโขนทั้งหลาย หากจองเองไม่เป็น อย่าลืมวานให้ลูกๆ หลานๆ เข้าเน็ตจองแผล็บเดียวเท่านั้นเองครับ.

“ซูม”