พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้จัดนิทรรศการ ผ้าบาติกในพระปิยมหาราช : สายสัมพันธ์สยามและชวา ขึ้น เพื่อระลึกถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ในการเสด็จเยือนชวาทั้ง ๓ ครั้ง และเพื่อตระหนักถึงพระมหากรุณาธิคุณและพระปรีชาสามารถของพระองค์ที่ทรงรวบรวมวิทยาการและศิลปวัฒนธรรมมาปรับใช้ในการวางรากฐานพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืนสืบมาจนถึงปัจจุบัน
โดยเมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ มาทรงเป็นประธานเปิดนิทรรศการดังกล่าว โดยมีสมเด็จพระราชินีกุสติ กันเจง ราตู เฮมัส สมเด็จพระราชินีกุสตี กันเจง บันโดโร ระเด่น อายู อธิปติ ปากู อาลัม ฯพณฯ อะฮ์มัด รุซดี เอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทย และอนิตา รุซดี ภริยา พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหารพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ เฝ้าฯ รับเสด็จ ณ พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ หอรัษฎากรพิพัฒน์ ในพระบรมมหาราชวัง
โอกาสนี้ พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ได้จัดงานแถลงข่าวนิทรรศการดังกล่าว โดยปิยวรา ทีขะระ เนตรน้อย ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ร่วมกับศาสตรัตน์ มัดดิน และเดล แคโรลีน กลักแมน ภัณฑารักษ์ ประจำนิทรรศการ ร่วมแถลงข่าว ณ ห้องโถง พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อเร็วๆ นี้
ปิยวรา ทีขะระ เนตรน้อย ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ กล่าววัตถุประสงค์ในการจัดนิทรรศการครั้งนี้ว่า นิทรรศการ ผ้าบาติกในพระปิยมหาราช : สายสัมพันธ์สยามและชวา จัดขึ้นเพื่อน้อมรำลึกถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในการเสด็จเยือนชวาอย่างเป็นทางการ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๑๓ ซึ่งนับเป็นการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศเป็นครั้งแรก เพื่อทอดพระเนตรความเจริญก้าวหน้าในด้านต่างๆ และเพื่อทรงศึกษาแบบอย่างการปกครอง ธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรม ในการพัฒนาชาติบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ
จากนั้นยังได้เสด็จเยือนชวาอีกสองครั้งในพุทธศักราช ๒๔๓๙ และพุทธศักราช ๒๔๔๔ ระหว่างการเสด็จเยือนชวา พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการเขียนผ้าบาติกอันเป็นหัตถศิลป์ที่เลื่องชื่อของชวาและเป็นที่พอพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง จึงทรงซื้อผ้าบาติกกลับมาเป็นจำนวนมากและมีผู้ทูลเกล้าฯถวายรวมทั้งสิ้นกว่า ๓๐๐ ผืน ซึ่งมีความโดดเด่นทั้งในแง่ความงดงามของศิลปะและองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์การแต่งกายของชวา ผ้าเหล่านี้เก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีมีการให้หมายเลขกำกับผ้าแต่ละผืน และบันทึกข้อมูลรายละเอียดของผ้าแนบไว้ ถือเป็นหลักฐานสำคัญยิ่ง
พร้อมกันนี้ เพื่อให้ทราบรายละเอียดของนิทรรศการดังกล่าวมากยิ่งขึ้น ศาสตรัตน์ มัดดิน และเดล แคโรลีน กลักแมน ภัณฑารักษ์ประจำนิทรรศการ ได้ร่วมพูดคุยถึงขั้นตอนในการค้นคว้าหาข้อมูลในการจัดนิทรรศการผ้าบาติกในพระปิยมหาราช : สายสัมพันธ์สยามและชวา โดยใช้เวลากว่า ๔ ปี เพื่อศึกษาการทำผ้าบาติกในเมืองต่าง ๆ ของประเทศอินโดนีเซียอย่างรอบด้านมากที่สุด
ศาสตรัตน์ มัดดิน ภัณฑารักษ์ประจำนิทรรศการ กล่าวประสบการณ์การศึกษาเพิ่มเติม ก่อนที่จะเป็นนิทรรศการในครั้งนี้ ว่า “ต้องมีการศึกษาค้นคว้า และทำวิจัยที่มาของผ้าบาติกค่อนข้างมาก เริ่มจากสืบค้นจากในหนังสือประวัติศาสตร์แล้ว เราต้องหาผู้เชี่ยวชาญจากประเทศอินโดนีเซีย ที่จะมาช่วยในการค้นคว้าข้อมูลในเชิงลึก โดยได้รับความอนุเคราะห์จากพิพิธภัณฑ์ผ้า เมืองจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งช่วยในการค้นคว้าข้อมูลร่วมกับเรา รวมทั้งได้มีการลงพื้นที่ที่อินโดนีเซียด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น โรงเขียนผ้าในเมืองต่างๆ เพื่อศึกษาเอกลักษณ์ของผ้าบาติกในแต่ละพื้นที่ และนำมาเทียบเคียงกับผ้าบาติกของทางพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ในเมืองไทย ว่า มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร และเป็นผ้าจากเมืองนี้ใช่หรือไม่ ซึ่งแต่ละเมืองจะมีเอกลักษณ์ในการทำผ้าบาติกที่ต่างกันไป ทั้งลวดลาย และโทนสี รวมทั้งมีความหมาย และมีเรื่องราวประวัติศาสตร์ของแต่ละผืนผ้าที่น่าสนใจ และมีคุณค่าอย่างยิ่ง โดยนิทรรศการในครั้งนี้ ได้นำผ้าบาติกมาจัดแสดงจำนวน ๓๗ ผืน แต่จะมีการนำผ้าบาติกผืนอื่นๆ มาจัดแสดงสับเปลี่ยนหมุนเวียนให้ได้ชมกันในโอกาสต่อไป”
เดล แคโรลีน กลักแมน ภัณฑารักษ์ผู้เชี่ยวชาญที่ได้ร่วมศึกษาหาข้อมูลในการจัดนิทรรศการครั้งนี้ กล่าวว่า “ก่อนที่จะเริ่มต้นนิทรรศการครั้งนี้ ได้เดินทางไปยัง ๒ ประเทศด้วยกัน เริ่มจากเดินทางไปกรุงจาการ์ตา เพื่อไปทำการศึกษาผ้าบาติก ทำให้ได้พบคุณซานดรา ซึ่งมาสืบค้นประวัติศาสตร์เกี่ยวกับผ้าของประเทศอินโดนีเซียพอดี คุณซานดราจึงได้เข้ามามีส่วนช่วยค้นคว้าข้อมูล และร่วมเขียนหนังสือประกอบนิทรรศการครั้งนี้ด้วย หลังจากนั้นคณะทำงานพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ได้เดินทางไปประเทศเนเธอร์แลนด์เพื่อสืบค้นข้อมูลของช่างเขียนผ้าบาติกชาวดัตช์ และพบผ้าตัวอย่างลายที่เก็บรักษาในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งมีลวดลายเหมือนผ้าบาติกในปิยมหาราช แต่ผ้าบาติกที่จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ จะเป็นผ้าเต็มผืน สามารถสวมใส่ได้จริง ไม่ใช่ผ้าตัวอย่างลาย ซึ่งมีขนาดเล็ก”
นอกจากนี้ พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ยังได้จัดทำ “ห้องกิจกรรมบาติก” เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจที่เชื่อมโยงและสัมพันธ์กับนิทรรศการหลัก ประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆ ดังนี้ เล่าเรื่องเมืองเก่า รู้จัก ๗ เมืองในชวาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จเยือน หรือสถานที่ที่ทรงซื้อผ้าบาติกและมีผู้ทูลเกล้าถวายผ้าบาติก ประทับลายผ้าบาติก สนุกกับกิจกรรมที่ผู้เข้าชมจะได้รู้จักลายผ้าบาติกทั้ง ๑๒ ลาย อุปกรณ์การเขียนลายผ้าบาติก เรียนรู้และสัมผัสอุปกรณ์การทำผ้าบาติก นุ่งผ้าบาติก เรียนรู้วิธีการนุ่งผ้าบาติกของชาวชวาผ่านจอวีดิทัศน์และทดลองนุ่งผ้าแบบชาวชวา และเกมผ้าบาติก สนุกกับเกมแบบจอสัมผัสที่มีให้เลือก ๒ เกม ได้แก่ ประดิษฐ์ลายผ้า ออกแบบลายผ้าบาติกและตกแต่งสีสันตามความชื่นชอบ และปริศนาน่ารู้ ตอบคำถามเกี่ยวกับนิทรรศการผ้าบาติกในพระปิยมหาราช : สายสัมพันธ์สยามและชวา
นิทรรศการ ผ้าบาติกในพระปิยมหาราช : สายสัมพันธ์สยามและชวา นำเสนอเรื่องราวการเสด็จเยือนชวาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทั้ง ๓ ครั้ง และจัดแสดงผ้าบาติกสะสมที่สวยงามจากเมืองต่างๆ บนเกาะชวา รวมถึงแสดงวีดิทัศน์ตลอดจนภาพอธิบายขั้นตอนการทำผ้าบาติก เพื่อให้ผู้ชมมีความรู้ความเข้าใจดียิ่งขึ้น นิทรรศการเปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ – เดือนพฤษภาคม ๒๕๖๔ ณ ห้องจัดแสดง ๓ – ๔ พร้อมกันนี้ยังมีนิทรรศการ “งามสมบรมราชินีนาถ” (Fit for a Queen: Her Majesty Queen Sirikit’s Creations by Balmain) ณ ห้องจัดแสดง ๑-๒ ด้วย
นอกจากนี้ พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้รับความอนุเคราะห์จากสถานทูตอินโดนีเซีย ประจำประเทศไทย จัดการแสดงเขียนผ้าบาติกจากประเทศอินโดนีเซีย ณ ห้องประชุมพิพิธภัณฑ์ผ้า ตั้งแต่วันที่ ๑ – ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๑ เท่านั้น
พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบรมมหาราชวัง เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา ๙.๐๐ – ๑๖.๓๐ น. ปิดจำหน่ายบัตรเข้าชมเวลา ๑๕.๓๐ น. บัตรเข้าชมสำหรับผู้ใหญ่ ราคา ๑๕๐ บาท ผู้สูงอายุ (๖๕ ปีขึ้นไป) ราคา ๘๐ บาท นักเรียนหรือนักศึกษา (โปรดแสดงบัตรประจำตัว) และเด็กอายุ ๑๒-๑๘ ปี ราคา ๕๐ บาท เด็กอายุต่ำว่า ๑๒ ปี ไม่เสียค่าใช้จ่าย