มรสุมเศรษฐกิจตั้งเค้า ท่องเที่ยวลด/น้ำมันแพง

การที่จู่ๆ จำนวนนักท่องเที่ยวจีนก็ลดลงไปอย่างน่าใจหาย ทำให้นักพยากรณ์เศรษฐกิจไทย หลายสำนักเริ่มออกมาเตือนแล้วว่าต้องระวังการขยายตัวในช่วงปลายปีเอาไว้บ้าง

และหากว่าการลดลงของนักท่องเที่ยวจีนเป็นไปอย่างถาวร คือไม่สามารถจะชักชวนหรือใช้วิธีการต่างๆ ที่ควรใช้ในการโปรโมตการท่องเที่ยว ดึงกลับมาได้สำเร็จ

อาจกระเทือนไปถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีหน้าด้วยซ้ำ

ผมไม่มีตัวเลขอยู่ในมือและถึงหากว่ามี ถ้าเป็นตัวเลขของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาก็ขออนุญาตไม่นำมาใช้

เพราะเป็นตัวเลขที่คนในวงการท่องเที่ยวบอกผมว่า “ไม่ค่อย” ตรงกับความเป็นจริงเท่าไรนัก

ผมไม่มีหน้าที่ที่จะต้องปกป้องกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เมื่อเขาบอกมาอย่างไรก็รายงานไปตามนั้น…ดังนั้น เมื่อเขาบอกว่าตัวเลขของทางราชการ “ไม่ค่อยตรง” ผมก็ขอทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงถ่ายทอดต่อ

แล้วที่ตรงๆ หรือใกล้เคียงความจริงเป็นอย่างไร?

เขาบอกว่าตกมาก ตกจนเหงา…โดยเฉพาะที่ภูเก็ตแหล่งท่องเที่ยวอันเป็นที่นิยมของลูกค้าชั้นดีจากจีน ปีนี้ในช่วง “สัปดาห์ทองคำ” ต้นตุลาคม ซึ่งเป็นเทศกาลวันชาติจีน คนจีนออกเที่ยวทั่วโลก มีเครื่องบินเหมาลำมาลงลดจากปีที่แล้วถึงกว่า 50 เปอร์เซ็นต์

นักธุรกิจการท่องเที่ยวฝากผมไปบอกรัฐบาลด้วยว่า จะต้องรีบทำอะไรสักอย่างแล้ว ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป

โดยส่วนตัวผมปกติแล้วจะรู้สึกเฉยๆ กับนักท่องเที่ยวจีน ยิ่งในยุคที่ทัวร์ศูนย์เหรียญระบาด ผมจะออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยด้วยซ้ำ เพราะในภาพรวมแล้วประเทศไทยจะไม่ได้อะไรเลย หักลบแล้วอาจขาดทุนด้วยซ้ำที่ทรัพยากรการท่องเที่ยวของเราทรุดโทรมลง

แต่ในช่วงหลังๆ การปราบทัวร์ศูนย์เหรียญได้ผลค่อนข้างมาก ทัวร์ที่มาในช่วง 2-3 ปีนี้ เป็นทัวร์คุณภาพ และหลายเปอร์เซ็นต์จะมาด้วยตนเอง โดยไม่โดนหักค่าหัวคิวจากบริษัททัวร์

กรุงเทพฯ เพิ่งจะคว้าแชมป์เมืองที่มีนักท่องเที่ยวถือเป็นจุดหมายปลายทางมากที่สุดในโลก โดยมีนักท่องเที่ยวจีนเป็นแกนหลัก

ปีนี้ ปีหน้า อาจจะสูญเสียตำแหน่งแชมป์ก็ได้นะครับ หากไม่รีบหาสาเหตุที่แท้จริงให้พบแล้วลงมือแก้ไขอย่างทันท่วงที

นอกจากตัวเลขนักท่องเที่ยวที่แผ่วลงแล้ว ประเด็นเรื่องราคาน้ำมันดิบโลกที่พุ่งกระฉูดก็เป็นอีกมรสุมหนึ่งที่ตั้งเค้ามานานแล้ว และกำลังคืบคลานมาถึงประเทศไทย

ราคาน้ำมันดิบล่าสุดมีแนวโน้มขึ้นทุกวัน อาจจะหยุดหรือร่วงลงมาบ้างในบางวัน เพราะมีการเทขายทำกำไรจากนักลงทุนด้านน้ำมัน แต่โดยข้อเท็จจริงจากการที่ปริมาณน้ำมันของโลกที่จะหดหายไปจากที่เคยส่งออกของอิหร่านย่อมมีผลทำให้ราคาน้ำมันดิบสูงขึ้น

เส้นตายของการแซงก์ชันของสหรัฐฯ ต่ออิหร่านจะเริ่มขึ้นวันที่ 3 พฤศจิกายนนี้ ในขณะที่อิหร่านเป็นประเทศส่งออกน้ำมันเป็นอันดับ 8 ของโลก ปริมาณน้ำมันของอิหร่านที่หายไปย่อมจะมีผลกระทบค่อนข้างมาก

เคยมีนักวิเคราะห์พยากรณ์ว่า มาตรการแซงก์ชันอิหร่านรอบนี้อาจทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกไปถึงหลัก 100 เหรียญต่อบาร์เรลโน่นเลย ซึ่งถ้าเป็นจริงคงเดือดร้อนมาก แต่ล่าสุดขณะที่เขียนต้นฉบับ ราคาที่นิวยอร์กอยู่ที่ 74 เหรียญเศษๆ และที่ลอนดอนอยู่ที่ 84 เหรียญเศษๆ ซึ่งก็ถือว่าขึ้นเยอะมากแล้วเมื่อเทียบกับ 5 ปีที่ผ่านมา

ก็อย่างที่เรารู้ๆ น้ำมันแพงทีไรเดือดร้อนที่นั่น เพราะอะไรๆ ก็จะแพงตามขึ้นมาหมด

นี่ยังไม่พูดถึง การส่งออก แรงขับเคลื่อนสำคัญทางเศรษฐกิจอีกประการหนึ่ง ซึ่งมีข่าวว่าแม้ตัวเลขจะยังเพิ่มอยู่ แต่ก็เพิ่มในอัตราที่ลดลง และเมื่อมองเป็นรายเดือนพบว่าเดือนกันยายนที่ผ่านมาเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 21 เดือน ซึ่งก็ต้องระวังว่าจะมีครั้ง 2 ครั้ง 3 หรือไม่

ผมเชื่อว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงจับตาดูอยู่แล้ว แต่อยากจะฝากให้ระมัดระวังเพิ่มขึ้น…มรสุมอะไรที่เป็นไปตามกลไกเศรษฐกิจของโลก เราคงแก้ไม่ได้ ก็ขอให้หาทางผ่อนหนักเป็นเบาเท่านั้นเอง

แต่บางอย่างเป็นเรื่องของเราโดยตรงและสามารถแก้ไขได้…เช่น เรื่องการท่องเที่ยว เป็นต้น…ผมขอย้ำเป็นพิเศษอีกครั้งต้องจัดการเรื่องนักท่องเที่ยวจีนตกโดยด่วน ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป.

“ซูม”