“พรรค 4.0” มาตามนัด 4 รมต. ดังพร้อมลงสนาม

เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ทุกฉบับ รวมทั้งสื่อออนไลน์ทุกสำนักต่างก็พาดหัวข่าวใหญ่เหมือนๆ กันว่า พรรค “พลังประชารัฐ” เปิดตัวเรียบร้อยแล้ว เลือก “อุตตม” เป็นหัวหน้าพรรคตามโผ

คำว่า “อุตตม” ในหัวข่าวยักษ์ที่ว่านี้ก็คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมท่านปัจจุบัน อุตตม สาวนายน นั่นเอง…ท่านตกเป็นข่าวมาหลายวันล่วงหน้าแล้วว่าจะเป็นหัวหน้าพรรคนี้ ดังนั้นเมื่อได้เป็นจริงๆ หนังสือพิมพ์จึงใช้คำว่า “ตามโผ”

นอกจากรัฐมนตรีอุตตมแล้ว ยังมีรัฐมนตรีอีก 3 ท่าน ในรัฐบาลปัจจุบันได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ของพรรคนี้ ได้แก่…รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค, ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค และ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดำรงตำแหน่งโฆษกพรรค

รวมเบ็ดเสร็จแล้วมีรัฐมนตรีจากรัฐบาลของบิ๊กตู่ถึง 4 ท่าน ที่เป็นกรรมการบริหารของพรรคและอยู่ในตำแหน่งสำคัญๆของพรรคทั้งสิ้น

เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าทั้ง 4 ท่านนี้ คือ เจ้าของนโยบายที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่ 4.0 โดยเฉพาะ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ที่เป็นต้นตำรับในการใช้คำว่า 4.0 ที่ดัดแปลงมาจากแนวคิดเดิมของนักอุตสาหกรรมเยอรมันที่แบ่งอุตสาหกรรมเป็นยุคต่างๆ ตั้งแต่ 1.0 ขึ้นมาจนถึง 4.0

เกิดเป็นโมเดล “ไทยแลนด์ 4.0” โดยมีกลุ่มนักวิชาการที่เห็นด้วย นำโดย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ซึ่งต่อมาเมื่อได้เป็นรองนายกฯ ก็ได้ผลักดันจนเป็นนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลบิ๊กตู่และนำไปสู่แผนปฏิบัติการที่ใช้เงินใช้ทองจำนวนมาก ดังที่ทราบกันดีอยู่แล้ว

รวมทั้ง โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ที่รัฐบาลชุดนี้ได้ลงหลักปักฐานเอาไว้อย่างแน่นหนา

ขณะเดียวกันก็มีนโยบาย “ประชารัฐ” ที่รัฐบาลบิ๊กตู่ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากรัฐมนตรีกลุ่มเดียวกันนี้เดินหน้ากระจายการพัฒนาแบบรัฐจับมือภาคเอกชนไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่ทั่วประเทศ ก่อให้เกิดโครงการประชารัฐมากมาย

รวมถึง “ประชารัฐ” ในลักษณะ “ประชานิยม” ขึ้นทะเบียนคนจน มีเงินสวัสดิการช่วยคนจน โดยมีท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ เป็นแกนหลักในการดำเนินการ

เป็นที่มาของการที่นำคำว่า “ประชารัฐ” มาตั้งเป็นชื่อพรรคการเมืองที่มีรัฐมนตรีที่ผมเอ่ยนามมานี้เป็นแกนหลัก โดยเติมคำว่า “พลัง” เอาไว้ข้างหน้าให้ดูเข้มแข็งมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม จากรายชื่อกรรมการบริหารพรรคที่หนังสือพิมพ์ลงไว้ทั้งหมดนั้น มิได้มีรายชื่อของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ แต่อย่างใด

แต่ก็คาดกันว่าทั้ง 2 ท่านอาจจะเข้ามาร่วมในโอกาสต่อๆ ไป โดยเฉพาะเมื่อการเลือกตั้งมาถึง หรือไม่ก็หลังจากผ่านการเลือกตั้งไปแล้ว

กล่าวโดยสรุป ผมเห็นด้วยกับนักวิเคราะห์ทางการเมืองทั้งหลายที่บอกว่า พรรคการเมืองใหม่พรรคนี้เป็นตัวแทนของรัฐบาลนี้โดยตรง

ดูจากตัวบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของนโยบายหลักๆ ที่ดำเนินการโดยรัฐบาลนี้ เช่น นโยบาย 4.0 โครงการ EEC นโยบายประชารัฐ ฯลฯ ที่อาสาเข้ามามีบทบาทสำคัญในพรรคดังกล่าวแล้ว คงยากที่จะปฏิเสธได้

ท่านที่ติดตามคอลัมน์นี้มาพอสมควร คงจะพอจับความได้ว่าผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับนโยบาย 4.0 ไม่ค่อยเห็นด้วยกับนโยบายลงทุนใหญ่ประเภทรถไฟความเร็วสูง และ ฯลฯ รวมทั้งไม่ค่อยเห็นด้วยกับนโยบายประชารัฐ ในส่วนที่เป็นประชานิยมแจกเงินคนจนเท่าที่ดำเนินการกันมา

เพียงแต่เจียมตัวว่า ผมแก่เกินไปและก็คงจะตกรุ่นไปนานแล้ว จึงไม่อยากจะคัดค้านอะไรรุนแรง นอกเสียจากฝากความกังวลใจและห่วงใยในสิ่งที่ท่านทั้งหลายได้ลงมือทำไว้เท่านั้น

แต่ก็ต้องชื่นชมที่ท่านเชื่อมั่นในความคิดและทฤษฎีการพัฒนาประเทศของท่าน และวันนี้ได้ออกมาเสนอตัวเป็นพรรคทางเลือกใหม่ เพื่อจะดำเนินงานตามนโยบายของท่านต่อไป

จากนี้ไปเราก็คงต้องมารอดูกันว่า เมื่อการเลือกตั้งมาถึงแล้วประชาชนจะยอมรับนโยบายของท่านหรือไม่?

สำหรับวันนี้ผมขอต้อนรับรัฐมนตรีเลือดใหม่ทั้ง 4 ท่าน ซึ่งแม้ผมจะไม่เห็นด้วยหลายส่วนในแนวความคิด แต่ก็ชื่นชมเสมอว่าทุกท่านเป็นคนเก่งคนดีมีความสามารถสูงอีกกลุ่มหนึ่งของประเทศไทย.

“ซูม”