ก่อนอำลา “เขาดิน” 80 ปีแห่งความทรงจำ

ข้อเขียนซอกแซกวันนี้แต่เดิมตั้งใจจะให้เป็นฉบับส่งท้ายสวนสัตว์ดุสิต หรือเขาดินวนา ที่จะปิดการให้บริการในวันที่ 31 สิงหาคม เพื่อเตรียมตัวเคลื่อนย้ายไปยังสถานที่แห่งใหม่ ณ บริเวณคลอง 6 ธัญบุรี ซึ่งมีพื้นที่กว่า 300 ไร่ กว้างกว่าสวนสัตว์ปัจจุบันถึงเกือบ 3 เท่า

แต่พอเริ่มเขียนไปได้สักค่อนเรื่อง ก็มีข่าวว่าสวนสัตว์ดุสิตประกาศยืดวันปิดบริการออกไปอีก 1 เดือนเต็มๆ เป็นวันที่ 30 กันยายน 2561

ทำให้หัวหน้าทีมซอกแซกต้องเหยียบเบรกพรืด หยิบต้นฉบับขึ้นมาเขียนใหม่บางส่วน ตัดต่อใหม่บางส่วน เพื่อให้ทันกับเหตุการณ์และข่าวล่าสุด ที่เพิ่งได้รับเมื่อสักครู่นี่เอง

คงต้องเริ่มจากความเป็นมาของ สวนสัตว์ ดุสิต หรือ เขาดินวนา ซึ่งต่อมาเรียกกันย่อๆ ว่า “เขาดิน” เสียก่อนตามธรรมเนียม

จากเอกสารของทางราชการที่บันทึกไว้ระบุว่า สวนสัตว์ดุสิต หรือเขาดินวนา ซึ่งเป็นสวนสัตว์ แห่งแรกของประเทศไทย ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 71 ถนนพระรามที่ 5 แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ใกล้ๆ กับสนามเสือป่า และพระที่นั่งอนันตสมาคม มีเนื้อที่ 118 ไร่

ตามประวัติดั้งเดิมนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ซื้อสวนและนาบริเวณนี้ด้วย พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เมื่อ พ.ศ.2438 และมีพระราชดำริให้สร้างขึ้นเป็นพระราชอุทยานโดยการขุดสระน้ำ และนำมูลดินจากสระน้ำที่ขุดมาก่อเป็นเนินดินเล็กๆ สำหรับปลูกต้นไม้ต่างๆ เป็นที่มาของชื่อ “เขาดินวนา” นับแต่นั้น

จนกระทั่ง พ.ศ.2481 จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 8 ขอพระราชทานเขาดินวนามาจัดตั้งเป็นสวนสัตว์ และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน เพิ่มเติมจากสวนลุมพินี

มีพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานให้ตามที่ทูลฯ ขอ และพระราชทานกวางดาวลูกหลานกวางดาวที่ ร.5 ทรงนำมาจากชวา เมื่อ พ.ศ.2451 และสัตว์อีก 2-3 ชนิด จากสวนกวางในบริเวณพระที่นั่งอัมพรสถานมาเลี้ยงไว้ด้วยเป็นประเดิม

สวนสัตว์ดุสิตอยู่ในความดูแลของเทศบาลกรุงเทพฯ ตั้งแต่ พ.ศ.2481 จนถึง พ.ศ.2497 จึงได้มีการจัดตั้ง องค์การสวนสัตว์ ขึ้นมาบริหารงานสืบเนื่องติดต่อกันมาถึงปัจจุบัน

ดังนั้น หากนับตั้งแต่ พ.ศ.2438 ที่รัชกาลที่ 5 มีพระราชดำริให้ดำเนินการก่อสร้างเป็นพระราชอุทยาน มาถึงบัดนี้ เขาดินวนาจึงมีอายุรวม 123 ปี แต่หากนับจากวันที่รัฐบาลจอมพล ป. กราบบังคมทูลขอเป็นสวนสัตว์ ก็จะมีอายุ 80 ปี ตามที่เกริ่นไว้ข้างต้น

หัวหน้าทีมซอกแซกได้ยินชื่อ “เขาดินวนา” และสวนสัตว์ดุสิตมาตั้งแต่เป็นเด็กอยู่ต่างจังหวัด โดยอ่านจากหัสนิยายชุด พลนิกร กิมหงวน ของ ป.อินทรปาลิด ที่เขียนให้สามเกลอไปเที่ยวสวนสัตว์เขาดินหลายครั้ง

รวมทั้งเคยร้องและท่องจำเพลงที่มีเนื้อร้องว่า “เขาดินมีลิงมีหมีมีชะนีกระโดดโลดเต้นลมพัดสะบัดเย็นๆ ฉันไปเดินเล่นที่เขาดินวนา” ซึ่งไม่ทราบว่าใครเป็นผู้แต่งและผู้ร้องคนแรกแต่เด็กๆ ยุคโน้นสามารถร้องตามได้ทั้งประเทศ

ต่อมาก็รู้สึกทราบซึ้งกับเพลงฮิตของ ครูล้วน ควันธรรม ในชื่อเพลง “ค่ำแล้ว ในฤดูหนาว” ที่เอ่ยถึง เขาดิน ไว้ในเนื้อเพลงท่อนหนึ่งว่า

“สวนลุมพินี ถิ่นที่เคยไป…เขาดินถิ่นใกล้ ก่อนนี้เคยชื่น…เดี๋ยวนี้ผ่านไปเห็นแล้วขมขื่น… (ฮัม) ไม่ชวนชื่นเหมือนก่อนนี้”

ดังนั้น เมื่อมีโอกาสมาเรียนหนังสือในกรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2501 ระหว่างสอบเข้า เตรียมอุดม ในเดือนพฤษภาคมปีนั้น ได้ถือโอกาสและไปเดินเล่นที่ “เขาดินวนา” เป็นครั้งแรกในชีวิต ด้วยความรู้สึกประทับใจสมกับที่เคยอ่านเคยได้ยินและเคยร้องเพลงมาตั้งแต่อยู่ปากน้ำโพ

จากวันนั้นหัวหน้าทีมซอกแซกก็ไปครั้งที่ 2 ตอนมีลูกชายคนแรก ครั้งที่ 3 ตอนมีลูกชายคนที่สอง โดยพาไปด้วยกันทั้ง 2 คน (จำ พ.ศ.ไม่ได้)

ครั้งที่ 4 ประมาณ พ.ศ.2540 กว่าๆ มาเขียนคอลัมน์ซอกแซกในไทยรัฐแล้วทราบข่าวว่ามีการปรับปรุงสวนสัตว์ดุสิตขนานใหญ่ จึงไปเดินซอกแซกและกลับมาเขียนในคอลัมน์นี้เต็มเหยียด

จำได้ว่าที่เขียนเน้นเป็นพิเศษในซอกแซกครั้งนั้นก็คือ “หลุม หลบภัย” สมัยสงคราม โลกครั้งที่ 2 ที่สวนสัตว์ ดุสิตได้มีการปรับปรุงจัดทำขึ้นใหม่ในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์

ครั้งที่ 5 ก็เมื่อปีกลายนี่เองตอนมีหลานคนแรก และเมื่อหลานโตพอที่จะรู้จักส่ำสัตว์ต่างๆ ได้เป็นอย่างดีแล้ว เราก็ชวนกันไปทั้งครอบครัว

ทั้งเดินทั้งนั่งรถพ่วงดูโน่นดูนี่ด้วยความประทับใจเกือบๆ ครึ่งวัน โดยเฉพาะหลานสาววัย 3 ขวบเศษ ตื่นเต้นมากกับสารพัดสัตว์

โดยเฉพาะ “แม่มะลิ” ฮิปโปโปเตมัส คู่บารมีของสวนสัตว์ดุสิตที่มีอายุถึง 52 ปี ได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากหลานสาว ตามมาด้วย “ค่าง 5 สี” “เก้งเผือก” “ยีราฟ” ฯลฯ

สำหรับจุดสนใจอื่นๆ ที่หัวหน้าทีมซอกแซกชอบเป็นการส่วนตัว ได้แก่ จุดที่มีป้ายชื่อ “เขาดินวนา” ตั้งอยู่ ซึ่งจะเป็นบริเวณเนินดินเล็กๆ ปัจจุบันมีสุมทุมพุ่มไม้และต้นไม้ขึ้นเขียวครึ้ม เป็นจุดที่ควรจะต้องถ่ายรูป “เช็กอิน” เอาไว้

นี่คือข้อเขียนส่วนใหญ่ที่เตรียมไว้สำหรับการเขียนอำลา เพราะนึกว่าจะปิดฉากลงในวันที่ 31 สิงหาคม แต่เมื่อยืดออกไปจนถึง 30 กันยายน อาจจะหาโอกาสไปเดินอีกสักครั้ง แล้วกลับมาเขียนอีกหนเพื่อบรรยายความรู้สึกล่าสุด

แต่สำหรับวันนี้ ขอเชิญท่านผู้อ่านไปเที่ยวเสียก่อนก็แล้วกัน…อย่าลืมไปรำลึกความหลังกัน ด้วยนะครับ สำหรับท่านที่เคยมีความรัก ความผูกพัน กับเขาดินวนา

ค่าผ่านประตูถูกมาก 100 บาท สำหรับผู้ใหญ่ 50 บาท สำหรับข้าราชการในเครื่องแบบ 20 บาท สำหรับนักเรียน และสำหรับ ส.ว.ที่จะไประลึกความหลัง ถ้าอายุเกิน 60 แล้วฟรีจ้า…

“ซูม”