อนิจจา! วิชาเศรษฐศาสตร์ จาก “ยอดนิยม” ถึง “เสื่อมนิยม” ตอน 2

(ต่อจากวานนี้)

เมื่อวานนี้ผมเขียนเล่าความหลังของตัวผมเองเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของวิชาเศรษฐศาสตร์ที่น่าจะเริ่มมาพร้อมๆ กับการใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับแรกของประเทศไทย ที่ประกาศใช้ใน พ.ศ.2504-2509 เป็นแผนระยะ 6 ปี

ในยุคของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่กลับมาดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีเต็มตัวอีกครั้งใน พ.ศ.2502 พร้อมกับระดมนักเศรษฐศาสตร์ไทย ทั้งที่อยู่ในประเทศไทยและทำงานในต่างประเทศให้กลับมาช่วยกันยกร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจเป็นข่าวใหญ่ครึกโครม

มีการสถาปนาและยกระดับ สภาพัฒน์ ให้ใหญ่ขึ้น มีอำนาจมากขึ้น มีการก่อตั้งสำนักงบประมาณ สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำนักงานส่งเสริมการลงทุน องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ฯลฯ

ส่งผลให้มีความต้องการที่จะใช้นักเศรษฐศาสตร์เพิ่มขึ้นเป็นเงา ตามตัว ผู้เรียนจบทางด้านนี้จึงหางานง่าย ดังเช่นกรณีของตัวผมเอง สอบปากเปล่า (ตามสไตล์ของธรรมศาสตร์) เสร็จถือว่าจบหลักสูตรปริญญาตรีแค่วันเดียว ก็ได้งานทำอย่างที่เล่าไว้

ผมเข้าเรียน พ.ศ.2503 จบ 2506 อยู่ในยุคที่แผนพัฒนาฉบับที่ 1 กำลังเดินเครื่องเต็มตัว ไปไหนมาไหนจะได้ยินแต่คำว่าพัฒนา พัฒนา คู่ไปกับคำขวัญของจอมพลสฤษดิ์ที่ว่า “น้ำไหลไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ” ที่กระหึ่มไปทั้งประเทศ

ช่วงนั้นมหาวิทยาลัยที่สอนวิชาเศรษฐศาสตร์และมีคณะเศรษฐศาสตร์เป็นเอกเทศมีอยู่เพียง 2 มหาวิทยาลัยเท่านั้น คือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่เน้นหนักไปทางด้านเศรษฐศาสตร์สหกรณ์

ที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีที่ คณะรัฐศาสตร์ เรียกว่า รัฐศาสตร์การคลัง แต่มีคนเรียนไม่มากนัก เพราะส่วนใหญ่จะเรียนด้านปกครอง หรือการทูตมากกว่า

บัณฑิตที่จบรัฐศาสตร์การคลังที่ต่อมามีชื่อเสียงโด่งดังระดับประเทศได้แก่คุณ โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ และ “ดร.โกร่ง” วีรพงษ์ รามางกูร

ส่วนที่ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีจุฬาฯ เพิ่งจะเริ่มเปิดสอน เอกเศรษฐศาสตร์ ใครเรียนจบจะมีวงเล็บคำว่าเศรษฐศาสตรบัณฑิตไว้ให้ รุ่นแรกมีเรียนไม่กี่คน และหนึ่งในไม่กี่คนที่ว่านี้ได้แก่ ดร.วิชิต แย้มบุญเรือง อดีตนักฟุตบอลทีมชาติไทย และอดีตรองผู้ว่าการ ปตท.

ด้วยคณะที่ยังมีไม่มากและด้วยจำนวนคนเรียนและคนจบปีละไม่กี่ร้อยคนรวมทุกมหาวิทยาลัย ทำให้บัณฑิตเศรษฐศาสตร์ค่อนข้างขาดแคลน และเป็นที่ต้องการอย่างมากในช่วงของแผนพัฒนาฉบับที่ 1

หากจะเปรียบเทียบให้เข้ากับยุคนี้ที่รัฐบาลบอกว่าเรามาถึง 3.0 แล้ว กำลังจะไป 4.0 อย่างที่ท่านตั้งเป้าหมายไว้…ยุคของจอมพลสฤษดิ์ หรือแผนพัฒนาฉบับที่ 1 น่าจะเพิ่งผ่านช่วง 1.0 มาหมาดๆ จึงวาดความหวังผ่านแผนพัฒนาเศรษฐศาสตร์ฉบับที่ 1 ว่าจะไปสู่ 2.0 ตามลำดับขั้น

มองย้อนหลังกลับไปต้องยอมรับว่าแผนพัฒนาฉบับที่ 1 ประสบความสำเร็จสูงสุด และสำเร็จเรื่อยมาจนสู่แผนพัฒนาฉบับที่ 2 ที่ขยายความออกไปสู่การวางแผนด้านสังคมด้วย

มาเริ่มสะดุดลงบ้างในช่วงแผนที่ 3 และแผนที่ 4 หลังเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคมแล้ว และประเทศไทยกลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยเต็มใบแบบสุดขีด ส่งผลให้การพัฒนาประเทศอย่างเป็นระบบหยุดนิ่งไปชั่วขณะ

เมื่อรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแทบไม่หยิบแผนพัฒนามาใช้เลย

ประกอบกับในช่วง 6 ตุลาคม 2519 ประเทศไทยกลับไปสู่ระบอบ “เผด็จการเต็มใบ” ในยุครัฐบาลหอย ซึ่งควรจะใช้แผนเศรษฐกิจอย่างมาก แต่กลับไม่ใช้อย่างที่คิดไว้

แต่วิชาเศรษฐศาสตร์ก็ยังบูมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงก่อน 14 ตุลาคม 2516 อันเป็นผลมาจากการสละตำแหน่ง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย มารับตำแหน่งคณบดีเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ของท่านอาจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์

บารมีของอาจารย์ ดร.ป๋วย แผ่คลุมไปทุกมหาวิทยาลัยที่สอนวิชาเศรษฐศาสตร์ เป็นที่รักเคารพของนักเศรษฐศาสตร์ทุกสำนัก และสร้างความ ภูมิใจให้แก่คนเรียนเศรษฐศาสตร์ทุกสำนักที่จะกล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า “ผม” หรือ “ดิฉัน” เป็นนักเศรษฐศาสตร์เหมือน ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์

ในช่วงเวลาดังกล่าวน่าจะมีมหาวิทยาลัยเอกชนเปิดขึ้นอีกหลายแห่ง และมีการตั้งคณะเศรษฐศาสตร์ขึ้นอีกหลายสำนัก รวมทั้งของจุฬาลงกรณ์ (พ.ศ.2513) และมหาวิทยาลัยรามคำแหง (พ.ศ.2514)

(อ่านต่อพรุ่งนี้)

“ซูม”