ตลอด 68 ปีของไทยรัฐ ไม่เคย “ทรยศ” ประชาชน

เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมามีการเผยแพร่ “คลิป” อย่างกว้างขวางทางโซเชียลมีเดียต่างๆ เป็นภาพเหตุการณ์วันจับไปรษณียบัตรทายผลฟุตบอลโลก 2018 รางวัลที่ 1 เงินสด 10 ล้านบาท ที่ไทยรัฐจัดขึ้น และมีประชาชนส่งไปรษณียบัตรมาร่วมสนุกถึง 232 ล้านฉบับเศษ และมีผู้ทายถูก 128 ล้านฉบับเศษ

ที่น่าเศร้าใจก็คือ ในคลิปที่เผยแพร่นั้น มีการตัดต่อภาพจนดูเสมือนว่าท่านทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย จิลส์ การาชง หยิบไปรษณียบัตรที่ทายถูกจากกระเป๋าเสื้อของท่าน และบรรยายใต้ภาพกล่าวหาว่ามีการล็อกผลในการจับสลาก

เท่าที่ทราบมีการเผยแพร่คลิปนี้อย่างกว้างขวางพอสมควร เพราะแม้แต่เพื่อนๆ ผมหลายคนที่ไม่ได้เจอะเจอกันมานาน ยังโทรศัพท์มาถามผมว่า เรื่องจริงเป็นอย่างไร? แม้จะไม่เชื่อคลิปแต่ก็อยากให้ผมอธิบายเพื่อความกระจ่าง เขาจะได้เอาไปยืนยันกับเพื่อนคนอื่นๆ ต่อ

ผมก็เล่าบรรยากาศวันงานที่ผมอยู่ในเหตุการณ์โดยตลอด เพราะมีหน้าที่ในการต้อนรับแขกเหรื่อที่มาร่วมงานมากมาย และยังไปช่วยเป็นสักขีพยานในการจับสลากรางวัลรองๆลงมาด้วย

ผมก็บอกเพื่อนๆ ผมไปว่า ผมนึกไม่ออกจริงๆ ว่าจะมีการล็อกผลได้อย่างไร? ในท่ามกลางสายตาของผู้คนหลายร้อยคน และรวมเจ้าหน้าที่ด้วยก็น่าจะเหยียบๆพันในวันนั้น

ซึ่งเพื่อนผมก็เอ่ยในที่สุดว่า เราเชื่อนายและขันอาสาจะไปบอกต่อ แต่นายก็ควรเขียนชี้แจงหรือให้ไทยรัฐทำอะไรสักอย่าง เพื่อมิให้มีการเผยแพร่คลิปนี้ออกไป เพราะอาจจะมีประชาชนเข้าใจผิดหลงเชื่อได้

ปรากฏว่า ผมยังไม่ทันเขียน แต่ทางผู้ใหญ่ของไทยรัฐกรุ๊ปได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายของเราไปแจ้งความกับ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ บก.ปอท. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และ พ.ต.อ. ศิริวัฒน์ ดีพอ ผกก.3 บก.ปอท.ได้รับแจ้งความไว้แล้ว ซึ่งก็คงจะมีการดำเนินคดีกันต่อไป สำหรับผู้ที่เราแจ้งความดำเนินความผิดไว้ทั้งสิ้น 14 ราย

ในฐานะที่ผมเป็นคนหนึ่งที่มีส่วนร่วมในโครงการทายผลฟุตบอลโลกมาตั้งแต่ที่เราริเริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2525 (ฟุตบอลโลกครั้งที่ 12 ค.ศ.1982 สเปนเป็นเจ้าภาพ) ขออนุญาตที่จะยืนยันเจตนารมณ์ของโครงการนี้อีกครั้งว่า เป็นโครงการที่เราริเริ่มขึ้นเพื่อตั้งใจจะมอบความสุขให้แก่พี่น้องชาวไทยอย่างแท้จริง

ผมยังจำได้ในที่ประชุมมีการพูดถึงว่า เราจะตัดบัตรจากไทยรัฐดีหรือไม่ ให้คนที่จะทายตัดบัตรส่งมา เผื่อจะมีส่วนช่วยให้หนังสือพิมพ์ขายดีขึ้น

ท่าน ผอ.กำพล วัชรพล บอกพวกเราว่า “ไม่ต้องหรอก” เอาอย่างนี้แหละดีแล้ว ใช้ส่งไปรษณียบัตรนี่แหละ คนอ่านเขาจะได้มีความรู้สึกว่าเราไม่ได้คิดจะเอาอะไรจากเขา แต่ตั้งใจจะให้ความสุขแก่เขาแต่เพียงฝ่ายเดียว

เหตุที่เราใช้ไปรษณีย์เป็นสื่อ เพราะก่อนหน้านี้เรามีโครงการทายผล ในลักษณะเดียวกันมาแล้ว เช่น ทายผลเลือกตั้ง ส.ส. ทายผลฟุตบอลไทย ฯลฯ ซึ่งใช้ไปรษณียบัตรโดยตลอด ดังนั้นเมื่อตัดสินใจเปิดทายผลบอลโลก เราจึงใช้ไปรษณียบัตรเป็นสื่อในการทายเช่นเดิม

จากรางวัลปีแรก ที่รางวัลที่ 1 เป็นเครื่องเล่นวิดีโอสีของเนชั่นแนล และรางวัลรองเป็นเครื่องรับโทรทัศน์ขาวดำบ้าง เครื่องรับวิทยุบ้าง ก็ค่อยๆวิวัฒนาการมาเป็นรถยนต์ ซึ่งก็เริ่มจากเปอร์โยต์มาจนเป็นรถเบนซ์ เป็นเงินสด 5 ล้านบาท และในที่สุดก็เป็นเงินสด 10 ล้านบาท เมื่อปี 2545 (บอลโลกญี่ปุ่นเกาหลี) เป็นครั้งแรก

กว่า 36 ปีที่เราจัดทายผลมา รวมทั้งสิ้น 10 ฟุตบอลโลก 7 ฟุตบอลยุโรป มีแต่ตั้งใจจะมอบความสุขแก่ประชาชนเพียงสถานเดียว ไม่เคยคิดแม้แต่จะเพิ่มยอดขายหนังสือพิมพ์จากบอลโลกด้วยซ้ำ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมาคิดทรยศหรือหักหลังประชาชนในปีนี้

ที่สำคัญกว่าจะสร้างตัวขึ้นมาเป็นหนังสือพิมพ์ที่มียอดจำหน่ายสูงสุดของประเทศไทยได้นั้น เราต้องทำงานกันอย่างหนักในการนำเสนอข่าวสารและบทความที่ยืนหยัดเคียงข้างประชาชนมาตลอดระยะเวลา 68 ปี นับตั้งแต่ท่าน ผอ.กำพล ออกหนังสือพิมพ์ ข่าวภาพ เป็นฉบับแรกก่อนจะเป็น ไทยรัฐ ในภายหลัง

เราตระหนักดีว่าศรัทธาและความเชื่อถือที่ประชาชนมีต่อเรา คือรากฐานที่มั่นคงของการเป็น “ไทยรัฐกรุ๊ป” อันแข็งแกร่งในทุกวันนี้

ขอให้เชื่อเถอะครับว่าพวกเราไม่มีวันที่จะทรยศหรือหักหลังท่านผู้อ่านที่มีพระคุณต่อเราเด็ดขาด…ไม่เคยแม้แต่จะคิดสักแว่บหนึ่งด้วยซ้ำ.

“ซูม”