ผวาวิกฤติค่าเงิน “ตุรกี” จาก “ต้มยำกุ้ง” ถึง “เคบับ”

ขณะที่ผมนั่งเขียนต้นฉบับวันนี้มีรายงานข่าวว่า หุ้นที่สหรัฐอเมริการ่วงอย่างหนักมา 2 วันติดต่อกันแล้ว เพราะความกังวลใจต่อภาวะวิกฤติทางการเงินของตุรกีที่ส่อเค้ามานานพอสมควรและเริ่มมีอาการที่น่าเป็นห่วงขึ้นเรื่อยๆ

เฉพาะสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงิน “ลีรา” ของตุรกีลดไปเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์ และถ้านับย้อนไปถึงต้นปีจะลดไปแล้วถึง 40 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ

ถ้าจะถามว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ค่าเงินลีราทรุดลงเรื่อยๆ คำตอบก็หนีไม่พ้นสาเหตุเดิมๆ ที่เคยเกิดขึ้นกับประเทศต่างๆ ที่เผชิญปัญหาในเรื่องนี้ในอดีตนั่นแหละ

เริ่มจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจากการใช้จ่ายเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ ค่อนข้างเยอะของรัฐบาลตุรกี จนมีผลกระทบโดยตรงต่อสถานการณ์การคลังและอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งกระฉูดมาอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดก็เจอผลกระทบจากสงครามการค้าเมื่อสหรัฐอเมริกาโดยประธานาธิบดีทรัมป์ สั่งให้เพิ่มอัตราภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมที่นำเข้าจากตุรกีขึ้นอีก 2 เท่าจากอัตราเดิมส่งผลให้นักลงทุนผวา เทขายเงินลีราออกมาเป็นระลอกๆ

เป็นธรรมดาครับ เมื่อค่าเงินของประเทศใดเริ่มมีปัญหาก็จะมีการฉวยโอกาสเข้าโจมตีเพื่อหวังผลกำไร ทำให้สถานการณ์หนักลงไปอีก

ท่านประธานาธิบดี “เรเจป ไตยิป แอร์โดอัน” ของตุรกีนั้น ปกติก็ไม่เป็นที่ชอบพอของสื่อตะวันตกอยู่แล้ว เพราะมองว่าท่านเป็นประธานาธิบดีแบบเผด็จการ แม้จะได้ตำแหน่งมาจากการเลือกตั้งก็ตาม จึงโดนวิพากษ์วิจารณ์มาตลอด

มาถึงช่วงเวลานี้ยิ่งโดนรุมกระหน่ำขึ้นอีกหลายเท่า และน่าจะกล่าวได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่หนักที่สุดของท่าน เพราะปัญหาเรื่องการเงินเป็นปัญหาที่ใหญ่และยากที่จะป้องกันเมื่อเกิดวิกฤติเรื่องค่าเงิน

ทุกครั้งที่มีวิกฤติเรื่องค่าเงินหรือการเงินในรูปแบบต่างๆ สื่อก็มักจะตั้งชื่อไปตามอาหารที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศนั้นๆ เช่น ตอนที่ของเรา เจอวิกฤติปี 2540 ก็เรียกว่า “วิกฤติต้มยำกุ้ง”

พอระบาดไปถึงเกาหลีใต้ทำให้เกาหลีซวดเซ สื่อก็เรียกว่า “วิกฤติกิมจิ” และที่สหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ.2550 เกิดวิกฤติสินเชื่อด้อยคุณภาพ นำไปสู่การล้มของสถาบันการเงินและการถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ก็เรียกกันว่า “วิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์”

ตุรกีมีอาหารหลักประจำชาติที่ขึ้นชื่อลือชาอยู่อย่างหนึ่ง เรียกกันว่า “เคบับ” หรือ “Kebub” ในภาษาอังกฤษ เป็นเนื้อย่างแท่งโตๆ ที่เขาเอามาย่างแล้วตั้งไว้ ค่อยๆ ลอกออกมาเป็นแผ่นๆ ใช้แป้งแผ่นกลมๆ ห่ออีกชั้นหนึ่ง หรือบางครั้งก็เอาแป้งทำเป็นรูปกรวยใส่เนื้อย่างพร้อมรับประทาน

ผมก็เดาว่าหากเกิดวิกฤติค่าเงินถึงขั้นเอาไม่อยู่ในตุรกี สื่อมวลชนต่างๆ น่าจะเรียกว่า “โรคเคบับ” หรือ “วิกฤติเคบับ” แบบเดียวกับที่เคยเรียกของเราว่า วิกฤติต้มยำกุ้ง และของสหรัฐฯว่า วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ในอดีตนั่นเอง

ที่สำคัญโรคการเงินเป็นโรคติดต่อครับ เมื่อเกิดขึ้นที่หนึ่งก็จะแผ่ไปประเทศใกล้เคียง และค่อยๆ แผ่ไกลออกไปเรื่อยๆ

โดยเฉพาะที่อยู่ใกล้สุดกับตุรกี คือกลุ่มยุโรปน่าจะเจอก่อนคนอื่นๆ

เป็นที่มาของความร้อนอกร้อนใจของนักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกอยู่ในขณะนี้ และหันไปติดตามเหตุการณ์ที่ตุรกีอย่างใกล้ชิด

บ้านเราแม้จะดูเหมือนอยู่ไกล แต่โลกทุกวันนี้ไม่ว่าไกลแค่ไหนก็ดูเหมือนใกล้ไปหมด เพราะมีการติดต่อเชื่อมโยงถึงกันได้ง่ายๆ สารพัดรูปแบบ

ความน่าห่วงของวิกฤติครั้งนี้เพิ่มขึ้นกว่าคราวก่อน เพราะมีสาเหตุด้าน “สงครามการค้า” เข้ามาเป็นตัวแปรด้วย ซึ่งครั้งก่อนๆไม่มี

ผมก็ขอเอาใจช่วยท่านประธานาธิบดี เรเจป ไตยิป แอร์โดอัน ให้ท่านแก้ปัญหาได้สำเร็จนะครับ จะได้ไม่เกิดโรคระบาดไปประเทศอื่นๆ

ขณะเดียวกัน ก็หวังว่าท่านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยและทีมงานของท่านคงจะติดตามสถานการณ์ทั้งหมดนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมตัวรับสถานการณ์เอาไว้ด้วย

อย่าให้ “วิกฤติเคบับ” ระบาดมาถึงไทยเราก็แล้วกันครับ…“เคบับ” น่ะอร่อยพอกินได้ แต่ “โรควิกฤติเคบับ” คงไม่อร่อยอย่างแน่นอนจริงไหมครับ ท่านผู้ว่าการ ธปท.?

“ซูม”