เทศกาลเข้าพรรษา “ทำบุญ”+“เที่ยว”(ภาค 2)

สัปดาห์ที่แล้ว คอลัมน์ซอกแซกแนะนำงานเทศกาลเข้าพรรษาที่ยิ่งใหญ่มากๆ เอาไว้หลายจังหวัด เริ่มจากใหญ่ที่สุดที่อุบลราชธานี, นครราชสีมา, สุรินทร์ แล้วก็มาจบที่ภาคกลาง งาน “แห่เทียนพรรษาทางน้ำคลองลาดชะโด อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา”

จากนั้นก็ทิ้งท้ายว่า ในภาคกลางและใน กทม.เองยังมีงานเข้าพรรษาที่น่าสนใจและเก่าแก่อีก 2-3 งาน อาทิ “ประเพณีตักบาตรดอกไม้” ที่ วัดจินดามณี ตำบลบ้านแป้ง อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี และ “ประเพณีตักบาตรดอกเข้าพรรษา” ที่อำเภอ พระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี เป็นต้น

เรามาเริ่มกันที่ “ประเพณีตักบาตรดอกไม้” ที่อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี กันก่อนเลยครับ

ชาวบ้านแป้ง อำเภอพรหมบุรี มักจะเรียกชื่องานนี้เป็นภาษาพื้นบ้านว่า “ประเพณียายดอกไม้” มากกว่า “ตักบาตรดอกไม้” เพราะคำว่า “ยาย” เพี้ยนมาจาก “หย่าย” ในภาษาลาวซึ่งแปลว่า การแจกจ่ายหรือการให้ ดังนั้น คำว่า “ยายดอกไม้” จึงหมายถึงการให้ หรือการถวายดอกไม้แด่พระสงฆ์

ว่ากันว่า “ประเพณียายดอกไม้” หรือ “ตักบาตรดอกไม้” เป็นประเพณีของชาวเวียงจันทน์ ประเทศลาว อันเป็นถิ่นกำเนิดของบรรพบุรุษชาวบ้านแป้ง ที่อพยพมาตั้งถิ่นฐาน ณ ตำบลนี้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 และได้ถือปฏิบัติในประเพณีเก่าแก่นี้มาโดยตลอด

สำหรับปีนี้ งานสืบสานประเพณียายดอกไม้ (ตักบาตรดอกไม้) เนื่องในเทศกาลเข้าพรรษาจะเริ่มขึ้นที่ วัดจินดามณี ระหว่างวันที่ 27-28 กรกฎาคม จัดโดยชุมชนบ้านแป้ง อำเภอพรหมบุรี ร่วมกับ จังหวัดสิงห์บุรี โดยจะมีกิจกรรมมากมายหลายอย่าง อาทิ พิธีตักบาตรดอกไม้, ทอดผ้าป่าดอกไม้, ถวายเทียนจำนำ พรรษา ชม ชิม แชะ แชร์ วิถีชีวิตของชุมชนลาวเวียงในอดีต

แน่นอน…จะมีการเต้น “บาสโลบ” หรือการเต้นรำหมู่ สไตล์พี่น้องชาวลาว โดยลูกๆหลานๆ ชาวบ้านแป้งในชุด “ซิ่นไทย” ผสม “ลาวเวียง” ให้ดูชมตลอดงาน

จากจังหวัดสิงห์บุรี ก็มาถึง จังหวัดสระบุรี และถึงอำเภอพระพุทธบาท ซึ่งก็จะมีงานประเพณีเข้าพรรษาที่เป็นเอกลักษณ์และเก่าแก่ที่ชาวสระบุรีมั่นใจว่าจะเป็นประเพณี “หนึ่งเดียวในโลก” เพราะไม่มีที่อื่นใดอีกแล้ว (ในโลกนี้) ที่จะมีประเพณีเช่นนี้

นั่นก็คือ ประเพณี “ตักบาตรดอกเข้าพรรษา” โดยใช้ “ดอกเข้าพรรษา” หรือ ดอก “หงส์เหิน” ซึ่งจะออกดอกเพียงครั้งเดียวในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาเท่านั้นในการถวายแด่พระภิกษุสงฆ์

ดอกไม้ดังกล่าวเป็นพืชที่จัดอยู่ในวงศ์ขิง เป็นไม้ดอกเมืองร้อนเกิดในป่าร้อนชื้น พบได้ในประเทศไทย พม่า และเวียดนาม

สำหรับในประเทศไทยจะมีชื่อเรียกแตกต่างกันตามท้องถิ่น เช่น จังหวัดตากจะเรียกว่า กล้วยจ๊ะก่า, ลำพูน เรียก กล้วยจ๊ะก่าหลวง, เชียงใหม่ เรียก กล้วยเครือคำ เป็นต้น

ในอดีตที่ผ่านมาชาวอำเภอ พระพุทธบาท จะจัดงานใส่บาตรดอกเข้าพรรษาเพียงวันเดียว คือวันเข้าพรรษาเท่านั้น แต่ในระยะหลังๆมีพี่น้องจากจังหวัดอื่นๆมาร่วมงานจำนวนมาก จึงต้องขยายเวลาจัดเป็น 3 วัน และเพิ่มพิธีตักบาตรเป็น 2 รอบ คือรอบเช้าเวลา 09.00 น. และรอบบ่ายเวลา 15.00 น. โดยในปีนี้งานจะเริ่มตั้งแต่ 26 กรกฎาคม เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 28 กรกฎาคม

วันแรก (26 ก.ค.) จะเป็นพิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ในอาณาบริเวณพระพุทธบาท จะมีการแสดงศิลปะพื้นบ้าน วัฒนธรรมและขบวนต่างๆ โดยเฉพาะขบวนรถบุปผชาติ และขบวนเทียนพรรษาพระราชทาน ฯลฯ

พี่น้องชาว กทม. หรือจังหวัดใกล้เคียงจะไปร่วมทำบุญทำกุศลใส่บาตรดอกเข้าพรรษาร่วมกับพี่น้องชาวอำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ก็เชิญนะครับ

ทีนี้ก็มาถึงงานใหญ่ใน กทม.ของเราบ้าง เป็นการประกาศเชิญชวนมาจากการท่องเที่ยว แห่งประเทศไทยว่า ระหว่างวันที่ 27-28 กรกฎาคม ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม จะมีงานประเพณี “เดินเทียน” และ “ตักบาตรดอกไม้” เนื่องในเทศกาลเข้าพรรษา ซึ่งได้จัดติดต่อกันมาเป็นเวลาช้านานแล้ว

งานจะเริ่มในวันที่ 27 ก.ค.ก่อน ซึ่งเป็น วันอาสาฬหบูชา จะมีกิจกรรมประเพณี “เดินเทียน” หรือ “เวียนเทียน” นั่นเอง ทุกๆ 1 ชั่วโมง ตั้งแต่ 09.00 น. ไปจนถึง 20.00 น.

ส่วนประเพณีตักบาตรดอกไม้จะเริ่มในวันเข้าพรรษา ตั้งแต่เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป โดยจะมีพระภิกษุมาเดินรับดอกไม้ด้วยย่าม (แทนบาตร) แต่ก็ยังเรียกว่า “ตักบาตร” เช่นเดียวกับการถวายภัตตาหาร หรือตักบาตรทั่วๆไปในยามเช้า

ดอกไม้ที่ประชาชนนำมาถวายจะมีหลากหลาย ทั้งดอกกุหลาบ ดอกบัว ดอกกล้วยไม้ ฯลฯ ตลอดจนพวงมาลัยต่างๆ เป็นภาพที่ประทับใจอย่างยิ่ง

ทีมงานซอกแซกขอทำหน้าที่เสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เชิญชวนท่านผู้อ่านให้ลงสมุดโน้ต หรือขึ้นกระดานไว้ หากวันเข้าพรรษาปีนี้ยังนึกไม่ออกว่าจะไปที่ไหนดี จะลองแวะมา “ใส่บาตรดอกไม้” ที่วัด ราชบพิธ สถิตมหาสีมาราม ก็จะบังเกิดความอิ่มบุญอิ่มใจ และอิ่มเอิบไปอีกนานแสนนานอย่างแน่นอน ด้วยบรรยากาศดังที่เคยเห็นในปีที่ผ่านๆมา

ป.ล.ส่งท้ายจาก ททท.อีกข่าวหนึ่งนะครับ ว่าระหว่าง 27-29 ก.ค.นี้ ททท. ร่วมกับ ขสมก. จัดไหว้พระ 3 วัน 3 เส้นทาง ทั้งใน กทม. ปทุมธานี และนนทบุรี โดยใน กทม.ไหว้พระ 9 วัด มีรถ ขสมก.ฟรีวิ่งเชื่อมวัดดังต่างๆเช่นเดียวกับเทศกาลปีใหม่นั่นเอง

ส่วนปทุมธานี และนนทบุรี ก็มีรถไว้บริการเช่นกัน เพียงแต่จำกัดวันละ 150 คนเท่านั้น โปรดสำรองที่นั่งด่วนจี๋ ที่ 0-2276-2720-1 ในเวลาราชการ…ป่านฉะนี้เต็มหรือยังก็ไม่รู้?

อ่านเพิ่มเติม

ใกล้เทศกาลเข้าพรรษา “ทำบุญ”+“เที่ยว” ที่ไหนดี?

“ซูม”