“ให้” พองาม+ “ถาม” พอควร ข้อปฏิบัติสำหรับ “หมูป่า”

หนังสือพิมพ์หลายฉบับพาดหัวข่าวว่า น้องๆ 13 ชีวิตทีมฟุตบอล “หมูป่าอะคาเดมี” แม่สาย จะออกจากโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ในวันที่ 19 กรกฎาคมนี้

นับจากวันนี้เป็นต้นไปก็อีก 2 วันเท่านั้นเอง ทีมหมูป่าก็จะกลับไปมีชีวิตอย่างอิสระ ไม่ต้องอยู่ในความควบคุมดูแลของใครทั้งสิ้น

การที่ยังไม่มีอิสระ 100 เปอร์เซ็นต์หลังหลุดพ้นจากถ้ำแล้วได้รับการดูแลรักษาจากคณะแพทย์อย่างทุกวันนี้ก็ดีไปอย่างครับ

การพูดการจา การติดต่อ การสอบถามอะไรๆที่เกี่ยวกับหมูป่ายังจะต้องผ่านคุณหมออยู่ จึงมีการควบคุม มีการกลั่นกรองในหลายๆมิติ โดยเฉพาะมิติที่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ

อย่างหลังคือสุขภาพใจนั้นสำคัญมาก และคณะแพทย์ทั้งหลายโดยเฉพาะผู้หลักผู้ใหญ่ของกระทรวงสาธารณสุขเป็นห่วงมาก ถึงขนาดขอร้องสื่อเลยทีเดียวว่าอย่าไปซักไปถามอะไรน้องๆมากมายนัก

เพราะอาจจะไปกระทบกระเทือนจิตใจหรือกระทบกระเทือนความรู้สึกของเด็กๆที่เพิ่งจะผ่านวิกฤตการณ์มาหมาดๆเอาได้

ผมเองเข้าใจจิตวิญญาณและความคิดของคนเป็นสื่อดี และเชื่อว่าคงมีสื่ออีกจำนวนมากที่อยากจะได้เบื้องหน้าเบื้องหลังและเบื้องลึกของเหตุการณ์ที่น้องๆประสบ เพื่อจะนำมารายงานต่อ

แต่ก็อยากจะฝากข้อคิดไว้ในฐานะนักข่าวที่เคยเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์มาก่อนว่า ของทุกอย่างมีจุดอิ่มตัว มีจุดที่สร้างความพึงใจได้สูงสุดซึ่งพอถึงจุดนั้นแล้วความพึงใจจะค่อยๆลดลง

ผมคิดว่าผู้บริโภคข่าวนี้โดยเฉพาะเรื่องราวที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตในถ้ำ ก็เป็นที่รู้ๆกันเป็นส่วนใหญ่แล้ว อาจจะถือว่าพึงพอใจสูงสุดแล้ว

การจะไปขุดคุ้ย หรือค้นหา หรือซักถามอะไรมาอีก อาจจะทำให้ความพึงใจถดถอยลงด้วยซ้ำไป

ทางที่ดีที่สุดก็คือไม่ต้องสัมภาษณ์อะไรมากนักอีกแล้ว หรือหากจะสัมภาษณ์ซักถามเพราะถือว่าข่าวยังไม่จบสมบูรณ์ ก็ขอให้ใช้คำถามที่มั่นใจได้ว่าไม่รุกล้ำสิทธิเด็ก หรือทำร้ายเด็กๆก็แล้วกัน

ส่วนประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่งที่หลายๆฝ่ายห่วงใยก็คือ “การให้” หรือการ “ปลอบขวัญ” หรือการ “เยียวยา” หรือจะเรียกว่าอย่างไรก็แล้วแต่เถิด ที่มีผู้ปรารถนาดีจำนวนมากจะให้แก่น้องๆ

ผมเป็นคนมองโลกในแง่ดี ไม่คิดว่าผู้ที่จะให้แก่น้องๆจะมีเจตนาเป็นอย่างอื่น เช่น อยากดัง อยากโหนกระแส ฯลฯ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

คิดว่าทุกคนรักน้องๆ สงสารเห็นใจน้องๆ ไม่มีโอกาสได้ช่วยเหลือ ในช่วงวิกฤติก็อยากจะช่วยในตอนนี้

ก็เชิญเถิดครับ แต่ก็จะต้องระวังผลกระทบเช่นกัน

สำหรับเอกชนต่างๆคงมีสิทธิ์ที่จะทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ จะให้ของขวัญ จะปลอบใจ ปลอบขวัญด้วยวิธีการต่างๆ คงไม่มีใครต่อว่าได้ แต่สำหรับหน่วยงานหรือองค์กรของรัฐ ที่มีกฎ มีเกณฑ์ มีกติกาอยู่แล้ว จะต้องระมัดระวังอย่างมากในการเยียวยา

ยกตัวอย่างมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งหนึ่ง บอกว่าจะให้ทุนเรียน แก่น้องๆถึงปริญญาโท ปริญญาเอก ก็มีเสียงทักท้วงออกมาทันที

เพราะปกติการให้ทุนจะมีเกณฑ์อยู่แล้วว่า จะต้องอย่างนั้นอย่างนี้ เช่น เรียนดีแต่ยากจน หรือต้องผ่านด้วยเกรดเท่านั้นเท่านี้ ฯลฯ

น้องๆหมูป่าไม่ควรจะได้สิทธิพิเศษอะไร นอกเหนือไปจากกฎกติกาที่กำหนดไว้เดิมอยู่แล้ว

หรือยกตัวอย่างกรณีให้สัญชาติแก่ทีมหมูป่า ตามข่าวว่ามีถึง 3 ราย ที่ยังไม่มีสัญชาติไทย…ซึ่งในประเด็นนี้ ท่านรองนายกฯและ รมว.กลาโหม ที่ปกติมักจะพูดอะไรที่เป็นผลลบแก่ตัวเองอยู่เสมอ จนได้ฉายาว่า “ปากพาจน” แต่สำหรับกรณีนี้ท่านตอบนักข่าวได้ดีมาก

คือตอบว่า ทุกอย่างมีกฎเกณฑ์อยู่แล้ว และต้องไปตามกฎเกณฑ์นั้นๆ

ผมเห็นด้วย เรามีกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ให้ท่านรัฐมนตรีมหาดไทยเซ็นอนุมัติให้สัญชาติแก่บุคคลใดก็ได้ตามขั้นตอนเป็นข้อๆ 1-2-3 อยู่แล้ว

ก็ขอให้ใช้กติกาเดียวกัน อย่าอนุมัติเพราะการรอดชีวิตมาจากถ้ำและเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลกคราวนี้เป็นอันขาด

ครับ! ผมก็ฝากไว้อีกข้อก็ละกัน รวมเป็นทั้งหมด 2 ข้อนะครับ ที่เราควรปฏิบัติแก่น้องๆนับแต่นี้ไป

นั่นก็คือ “ให้แต่พองาม ถามแต่พอควร” อย่าให้มีอะไรเกินเลยเป็นอันขาด…มิฉะนั้น อะไรๆที่เป็น “บวก” อยู่ในขณะนี้จะกลับเป็น “ลบ” ในทันที โปรดระวังกันไว้ด้วยนะครับ.

“ซูม”