บันทึกเกียรติยศย้อนยุค ผู้ปลุกบอลโลกเมืองไทย

นับถอยหลังกันไปเรื่อยๆก็เหลืออีกเพียง 3 วันเท่านั้นนะครับ …ฟุตบอลโลก 2018 ที่รัสเซียขันอาสาเป็นเจ้าภาพจะเริ่มขึ้นแล้ว ผมขออนุญาตร่วมปลุกกระแสบอลโลกครั้งนี้ที่เขาว่าอาจจะกร่อยกว่าครั้งก่อนๆให้สนุกไม่แพ้ครั้งก่อนๆ อีกสักวัน 2 วันนะครับ

ยังไงๆผมก็เชื่อครับว่าบอลโลกไม่มีทางที่จะกร่อยง่ายๆ ขอให้ถึงเวลาเตะเถอะรับรองผู้คนจะลืมเรื่องราวอะไรอื่นๆไปชั่วขณะอย่างแน่นอน

เมื่อวานนี้ผมเขียนถึงความเป็นมาของกระแสบอลโลกฟีเวอร์ในประเทศไทย โดยหยิบยกข้อเขียนเก่าเมื่อ 4 ปีก่อนโน้น ในขณะที่มีการแข่งขันฟุตบอลโลกที่บราซิลมาขัดเกลาแล้วนำลงสู่กันอ่านอีกครั้งหนึ่ง

(อ่านคอลัมน์ก่อนหน้านี้ได้ที่นี่ : คนไทยกับฟุตบอลโลก 48 ปีก่อนจะมาถึงวันนี้)

ด้วยเจตนารมณ์ที่จะย้ำว่าสาระสำคัญที่ผมเขียนไว้ในปี 2557 นั้น น่าจะถูกต้องและใกล้เคียงกับข้อเท็จจริงที่สุด

เพราะก่อนเขียนต้นฉบับที่ว่านี้ ผมต้องแวะไปที่หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี ค้นหนังสือพิมพ์เก่าประจำปี 2513 เฉพาะเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นเดือนแข่งฟุตบอลโลกใน พ.ศ.นั้นมาอ่านอีกครั้งรวม 3 ฉบับ

ไทยรัฐ–เดลินิวส์ ที่ผมเขียนว่าเป็นฉบับจุดพลุดันฟุตบอลโลกขึ้นหัวยักษ์หน้า 1 พร้อมกัน จนเกิดเป็นกระแสบอลโลกทั่วประเทศไทย ทำให้ฉบับอื่นๆต้องหันมาพาดหัวหน้า 1 ตามไปด้วย

รวมทั้ง พิมพ์ไทย ที่ผมทำหน้าที่แปลข่าวต่างประเทศอยู่ดีๆก็ถูกตามตัวให้มาแปลข่าวบอลโลก และเขียนคอลัมน์เบื้องหลังบอลโลก เพราะถ้าไม่ทำเช่นนั้นบ้างหนังสือจะขายไม่ออก และก็ขายไม่ออกมาแล้วจริงๆในช่วง 2-3 วันก่อนหน้านั้น

จากข้อมูลที่ปรากฏอยู่ในทั้ง 3 ฉบับ นอกจากจะพิสูจน์ได้ชัดเจนว่า ไทยรัฐ–เดลินิวส์ เป็นผู้บุกเบิกแล้ว ยังได้ข้อมูลที่ชัดเจนเรื่องการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์มาสู่ประเทศไทยมาฝากท่านผู้อ่านด้วย

นั่นก็คือการถ่ายทอดสดครั้งแรกนั้น ได้แก่ คู่ชิงชนะเลิศฟุตบอลโลกปี 1970 หรือ 2513 ระหว่าง บราซิล กับ อิตาลี นั่นเอง

เป็นไปตามความทรงจำของผมที่เขียนไว้หลายๆครั้งว่าสถานีโทรทัศน์ที่ถ่ายทอดสดคู่นี้ คือ ช่อง 4 บางขุนพรหม โดยถ่ายทอดในระบบขาวดำ ควบคู่ไปกับช่อง 9 ที่ถ่ายทอดสดในระบบสี 625 เส้น เป็นครั้งแรกของประเทศไทย

ที่สำคัญ ผลจากการกลับไปย้อนอ่านยังทำให้ทราบว่า ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกครั้งแรกของประเทศไทยก็คือ บริษัทไทยทีวี เจ้าของช่อง 4 บางขุนพรหม ซึ่งมี ดร.วิทย์ ศิวศริยานนท์ เป็นกรรมการผู้จัดการและได้ออกมาให้สัมภาษณ์อยู่ตลอด

เคียงคู่กับพี่ใหญ่ที่ผมเคารพนับถืออย่างยิ่ง พิชัย วาสนาส่ง ในฐานะรองกรรมการผู้จัดการบริษัทไทยทีวี ซึ่งจะออกมาให้สัมภาษณ์ในรายละเอียดทางเทคนิคต่างๆเป็นการเพิ่มเติม

จากการให้สัมภาษณ์ของทั้ง 2 ท่านทำให้ทราบว่า ค่าลิขสิทธิ์ของคู่ชิงแชมป์บอลโลกคู่นี้ บวกกับค่าใช้จ่ายด้านบริการดาวเทียมและการถ่ายทอดสดอื่นๆ รวมแล้วประมาณ 8 แสนบาทเท่านั้น

โชคดีที่บริษัทไทยทีวีหาค่าโฆษณามาได้ 1 ล้านบาทเศษ ทำให้ลงท้ายบริษัทมีกำไรจากการถ่ายทอดสดนัดประวัติศาสตร์ถึง 2 แสนบาท

ต้องขอขอบคุณช่อง 4 บางขุนพรหม ตลอดจนผู้บริหารระดับสูงทั้ง 2 ท่านที่ผมเอ่ยนามไว้ข้างต้น ที่มีส่วนอย่างยิ่งในการช่วยเพิ่มกระแสฟุตบอลโลก ให้ระบาดอย่างกว้างขวางไปทั่วประเทศ

สำหรับบุคคลสำคัญของฝ่ายหนังสือพิมพ์ที่เป็นผู้ริเริ่มจุดพลุ และอยู่เป็นเบื้องหลังการปั่นกระแสบอลโลกตัวจริงเสียงจริง ที่ผมขออนุญาตบันทึกไว้ด้วย เริ่มจาก ไทยรัฐ ได้แก่ คุณ ระวิ โหลทอง อดีตหัวหน้าข่าวกีฬา ที่ก้าวขึ้นเป็นผู้ช่วยหัวหน้าข่าวหน้า 1 ไทยรัฐ ใน พ.ศ.2513 ที่เชื่อมั่นว่าข่าวฟุตบอลโลกน่าจะขายดีกว่าข่าวการเมืองยุคนั้นจึงผลักดันให้ขึ้นหน้า 1 ทันทีที่เขารับตำแหน่ง

ของ เดลินิวส์ กำลังหลัก ได้แก่ พินิจ พงษ์สวัสดิ์ อดีตหัวหน้าข่าวต่างประเทศที่มีความสามารถหลายด้าน รวมทั้งด้านกีฬาที่ลงมาแปล ควบคุม และกำกับข่าวฟุตบอลโลก 2513 ด้วยตนเอง

บุคคลเหล่านี้แหละครับที่เป็นจุดเริ่มของการทำให้ฟุตบอลโลก ที่มีมูลค่าเพียง 8 แสนบาท (นัดชิงนัดเดียว) ในประเทศไทย กลายเป็นมูลค่า 1,400 ล้านบาท สำหรับ 64 แมตช์ ที่เราจะดูชม ตั้งแต่ 14 มิ.ย. เป็นต้นไป.

“ซูม”