บันทึกสยามบนฟิล์มกระจก “มรดกโลก” ล่าสุดของไทย

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา มีพิธีเปิดนิทรรศการที่น่าสนใจอย่างยิ่ง นิทรรศการหนึ่งซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เป็นนิทรรศการแห่งความภาคภูมิใจของคนไทยทุกคนที่เกิดมาในแผ่นดินอันมีความสุขและอบอุ่นผืนนี้

ปกติแล้วทีมงานซอกแซกจะไม่เขียนเชิญชวน หรือแนะนำนิทรรศการใดๆเลย หากไม่มีทีมงานของเราคนใดคนหนึ่งแวะไปดูไปชมนิทรรศการนั้นๆด้วยตนเองเสียก่อน

แต่สำหรับนิทรรศการนี้อ่านจากเอกสารที่ฝ่ายจัดแนบมาให้ ทำให้ทราบถึงสาระและรายละเอียดต่างๆ ซึ่งสามารถที่จะตัดสินใจได้ทันทีว่า นี่คือนิทรรศการที่ควรค่าแก่การแวะไปชม และควรจะนำมาเขียนแนะนำทันที โดยไม่จำเป็นต้องมีทีมงานของเราไปพิสูจน์

ควรจะรีบเขียนถึงเพื่อให้ท่านที่สนใจและภาคภูมิใจในความเป็นมาของประเทศไทย จะได้ไปดูชมเสียแต่แรกๆ

นิทรรศการที่มีชื่อว่า “เฉลิมฟิล์มกระจก ฉลองมรดกความทรงจำแห่งโลก” ซึ่งทำพิธีเปิดไปเมื่อวันศุกร์ที่ 25 พฤษภาคม ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์ ถนนเจ้าฟ้า นั่นแหละครับ

ท่านผู้อ่านหลายๆท่านคงจะจำได้ เมื่อปลายๆปี 2559 ที่ผ่านมา องค์การยูเนสโก ได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้ ฟิล์มกระจกและต้นฉบับภาพถ่ายชุดหอสมุดวชิรญาณ ของสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เป็น “มรดกความทรงจำแห่งโลก ในปี พ.ศ.2560”

นับเป็นเกียรติของประเทศไทยอย่างใหญ่หลวง เพราะการที่จะเสนอบันทึกหรือหลักฐานอันแสดงถึงภูมิปัญญาของประเทศให้ยูเนสโก พิจารณายกย่องให้เป็นภูมิปัญญาโลก หรือที่เรียกกันว่า “มรดกความทรงจำแห่งโลก” นั้น มิใช่เรื่องง่ายๆเลย

ทุกๆชิ้น ทุกๆรายการที่เสนอไป จะผ่านการกลั่นกรองของยูเนสโกอย่างพิถีพิถัน ซึ่งก่อนหน้านี้ผลงานที่เป็นภูมิปัญญาของคนไทย ได้รับการขึ้นทะเบียนไว้เพียง 4 รายการเท่านั้น

ได้แก่ ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง หลักที่ 1 ขึ้นทะเบียนเมื่อปี 2540 ต่อมาก็คือ เอกสารจดหมายเหตุพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิรูปการบริหารการปกครองประเทศสยาม ขึ้นทะเบียนเมื่อ พ.ศ.2552

อีก 2 ปีต่อมา ในปี พ.ศ.2554 “จารึกวัดโพธิ์” ก็ได้รับการจดทะเบียนเป็นรายการที่ 3

และอีก 2 ปีเช่นกัน คือ พ.ศ.2556 “บันทึกการประชุมคณะกรรมการสยามสมาคมฯ ในรอบ 100 ปี” ก็ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นรายการที่ 4

จะเห็นได้ว่าแต่ละรายการล้วนเป็นภูมิปัญญาแห่งประวัติศาสตร์ของประเทศไทย และมีความสำคัญอย่างใหญ่หลวงต่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไปในทางที่ดีขึ้นทั้งสิ้น

จนกระทั่งปี 2560 “ฟิล์มกระจกและภาพต้นฉบับจากฟิล์มกระจก ชุดหอสมุดวชิรญาณ” จึงได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นรายการที่ 5 และจะมีการเฉลิมฉลองด้วยนิทรรศการครั้งนี้ ดังที่ได้กล่าวถึงไว้บ้างแล้วในช่วงต้นๆ

เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า การถ่ายรูปในสมัยก่อนจะต้องใช้กล้องถ่ายรูปขนาดใหญ่ และใช้ฟิล์มที่ทำด้วยกระจกในการบันทึกภาพต่างๆ

และก็เป็นที่ทราบเช่นเดียวกันว่า การถ่ายภาพในประเทศไทยเรานั้น เริ่มต้นจากการเผยแพร่และถ่ายทอดวิธีการโดยคณะเผยแผ่ศาสนาของพระสังฆราช โดย พระสังฆราช ฌ็อง บาติสต์ ปาเลอกัวซ์ และบาทหลวงลาร์นอดี ในสมัยรัชกาลที่ 3

คนไทยที่ได้รับการถ่ายทอดจนสามารถถ่ายภาพได้ในช่วงแรกมีเพียง 3 ท่านเท่านั้น ได้แก่ พระยากรสาปน์กิจโกศล (โหมด อมาตยกุล) หลวงอัคนีนฤมิตร (จิตร จิตราคนี) และ พระปรีชากลการ (สำอาง อมาตยกุล)

การถ่ายภาพด้วยฟิล์มกระจกเริ่มแพร่หลายมากขึ้นในยุคสมัยของรัชกาลที่ 4 แต่ก็เป็นที่นิยมเฉพาะในหมู่เจ้านายชั้นสูง หรือขุนนางระดับสูงเท่านั้นเพราะค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง

ต่อมาในรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 ซึ่งทรงมีพระราชนิยมในการถ่ายภาพด้วยพระองค์เอง ทำให้เกิดแพร่หลายในหมู่เจ้านาย และขุนนาง ลงไปถึงประชาชนที่นิยมการถ่ายภาพด้วยฟิล์มกระจกอย่างกว้างขวาง

ในรัชสมัยรัชกาล ที่ 5 นั้นเอง สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขณะทรงดำรงตำแหน่งสภานายกหอพระสมุดวชิรญาณ ได้ทรงริเริ่มในการจัดตั้งแผนกจดหมายเหตุ รวมทั้ง “หอรูป” ขึ้น จึงทรงขอพระราชทานฟิล์มกระจกส่วนพระองค์ของรัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 และในส่วนที่พระองค์ทรงถ่ายไว้ รวมทั้งได้ขอไปที่ร้านถ่ายรูป “ฉายานรสิงห์” ซึ่งเป็นห้างถ่ายรูปในราชสำนักรัชกาลพระบาทสมเด็จพระ มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.6) มาเก็บไว้ด้วย

รวมเป็นภาพหลายๆขนาด ตั้งแต่ 4 นิ้ว ถึง 12 นิ้ว จำนวนทั้งสิ้นถึง 35,427 แผ่นภาพ แบ่งเป็น ภาพบุคคล ตั้งแต่องค์พระมหากษัตริย์ พระบรมราชินี พระบรมวงศานุวงศ์ ลงมาถึงขุนนาง ข้าราชการ และชาวต่างประเทศ ฯลฯ

ภาพจากฟิล์มกระจกทั้งหมดนี้ ได้รับการดูแลรักษาอย่างดียิ่ง จนมีอายุยืนยาวมาถึงปัจจุบัน และในที่สุดมรดกแห่งความทรงจำอันยิ่งใหญ่ของประเทศไทยชุดนี้ ก็ได้รับการขึ้นทะเบียนโดย ยูเนสโก ในปี 2560 ดังกล่าว

ทีมงานซอกแซกขอขอบคุณ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ที่ใช้ความอุตสาหะและความพยายามในการเก็บรักษาหลักฐานประวัติศาสตร์ชิ้นนี้เอาไว้อย่างครบถ้วน และขอขอบคุณ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด ที่ให้การสนับสนุนในการจัดนิทรรศการเฉลิมฉลองมรดกความทรงจำแห่งโลกอย่างสมเกียรติในครั้งนี้

ย้ำอีกครั้งนะครับว่า นิทรรศการ “เฉลิมฟิล์มกระจกฉลองความทรงจำแห่งโลก” จะจัดแสดงจนถึงวันที่ 28 กรกฎาคม ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์ (บริเวณหัวโค้งถนนเจ้าฟ้า เชิงสะพานพระปิ่นเกล้า) เวลา 08.30– 19.00 น. ทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์และวันอังคาร ซึ่งเป็นวันหยุดของพิพิธภัณฑ์

ถ้ามีโอกาสและเวลา อย่าลืมแวะไปร่วมฉลองและร่วมภาคภูมิใจกันด้วยนะครับ.

“ซูม”