รำลึกรัตนโกสินทร์ 236 ปีแห่งกาลเวลา

ทุกๆครั้งที่วันจักรี (6 เมษายน) เวียนมาถึง นอกจากจะรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ผู้สถาปนาราชวงศ์จักรี และทรงวางรากฐานในการทำนุบ้านเมืองของเราจนรุ่งเรืองสืบมาจนถึงบัดนี้แล้ว

ผมมักจะรำลึกถึงการกำเนิดของกรุงรัตนโกสินทร์ หรือกรุงเทพมหานคร ในปัจจุบันควบคู่ไปด้วยอยู่เสมอ

เอกสารประวัติศาสตร์ระบุไว้ว่า สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงมีพระบรมราชโองการให้พระยาธรรมาธิกรณ์กับพระยาวิจิตรนาวี เป็นแม่กองคุมช่างและไพร่ไปวัดกะที่ดิน เพื่อสร้างพระนครใหม่ เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2325 และต่อมาทรงประกอบพิธียกเสาหลักเมืองเมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2325 เพียง 15 วันหลังจากทรงปราบดาภิเษก

การย้ายพระมหานครจากฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยามาสู่ฝั่งตะวันออก แม้จะมาจากพระราชดำริในด้านการรักษาความปลอดภัยของบ้านเมือง และชัยภูมิที่เหมาะสมในการป้องกันอริราชศัตรู แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปกลับก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติในทุกๆด้าน

เมื่อความเจริญที่เกิดขึ้นทางฝั่งตะวันออกได้แผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง มีตึกรามบ้านช่อง มีการค้าขาย มีความเจริญทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม สะสมความมั่งคั่งให้แก่ประเทศตลอดมาในทุกรัชกาล

มาจนถึงบัดนี้ 236 ปีผ่านไป กรุงรัตนโกสินทร์ค่อยๆเจริญเติบโตกลายเป็นมหานครใหญ่ อันเป็นที่รู้จักดีของชาวโลก ในนามของ กรุงเทพมหานคร หรือ แบงค็อก ซึ่งกลายเป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกใฝ่ฝันที่จะเดินทางมาเยือนมากที่สุดเมืองหนึ่ง

จากเมืองเล็กๆ ที่มีพระบรมมหาราชวังเป็นแกนกลาง และมีประชาชนอาศัยอยู่รอบๆในจำนวนเพียงไม่กี่หมื่น กรุงเทพมหานคร หรือกรุงรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันมีประชากรอยู่อาศัยเกือบๆ 6 ล้านคน และในเวลากลางวัน ซึ่งเป็นเวลาทำงาน จะมีประชากรในหัวเมืองใกล้เคียงมาสมทบ รวมแล้วถึงกว่า 10 ล้านคนจากที่เคยมีการจดสถิติไว้

จากเมืองเล็กๆที่เต็มไปด้วยคลองและคูน้ำ ตลอดจนบ้านเรือนริมคลองอันร่มรื่น กรุงเทพมหานครกลายเป็นเมืองที่มีตึกสูงระฟ้ามากที่สุดเป็นอันดับที่ 15 ของโลก

ผมเพิ่งจะเขียนไปเมื่อ 2 วันก่อนนี้เอง เมื่อไปเห็นแผนที่โครงข่ายของการก่อสร้างรถไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบของใหม่ 10 สาย ของเดิม 5 สาย ซึ่งจะทำให้ 10 ปีข้างหน้าจะมีการเชื่อมด้วยรถไฟฟ้าอย่างทั่วถึง

แต่ที่น่าห่วงใยอย่างยิ่งก็คือ ทุกๆแห่ง ทุกๆที่ที่เส้นทางรถไฟฟ้าผ่านจะเต็มไปด้วยการก่อสร้างตึกสูงที่เรียกว่า คอนโดมิเนียมดังที่เห็นๆกันอยู่ในขณะนี้

หากโครงข่ายรถไฟฟ้าเสร็จครบถ้วน กรุงรัตนโกสินทร์คงจะมีตึกระฟ้า หรือคอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้นมาอีกมาก

อาจจะขึ้นจากอันดับที่ 15 ของโลก ที่มีการบันทึกไว้มาเป็นที่ 10 ของโลกก็ได้ ถ้าหากยังปล่อยให้มีการก่อสร้างต่อไปเรื่อยๆ

แต่จากการที่ความรู้สึกของคนไทยเริ่มย้อนกลับไปสู่กรุงศรีอยุธยาดังเช่นที่เราชมกันในละครเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” ทำให้เห็นชัดเจนว่า ในส่วนลึกๆของคนไทยเรายังคิดถึงความเป็นไทยในอดีตอยู่เสมอ

ทำให้ผมวิตกว่า ต่อไปถ้าเราจะสร้างแต่ตึกเหลี่ยมตึกสูงในสไตล์สากลกันเสียหมด ก็จะมาครอบงำ หรือครอบคลุมอาคารบ้านเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นของไทยๆแท้ๆจนมองอะไรไม่เห็น

ผมจึงขอร้องว่าจะสร้างอะไรใหม่ๆ ก็อย่าให้ลืมความเป็นไทย พยายามประยุกต์ความเป็นไทยเอาไว้ด้วย และที่เป็นไทยอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือนต่างๆ เก็บไว้ได้ก็เก็บไว้

เนื่องในวันระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของราชวงศ์จักรีในวันนี้ ซึ่งถือเป็นวันระลึกถึงการก่อกำเนิดของกรุงเทพมหานครไปด้วยนั้น ผมก็ขออนุญาตฝากความคิดเห็นเล็กๆน้อยๆเอาไว้ด้วยนะครับ

คงเป็นไปไม่ได้แล้ว ที่เราจะคงกรุงเทพฯเอาไว้ให้เหมือนเมื่อ 236 ปีก่อน แต่เป็นไปได้ที่เราจะทำให้กรุงเทพฯในอนาคต ยังรักษาความเป็นไทยและดึงความเป็นไทยมาใช้อย่างแยบยลในการก่อสร้างต่างๆ

เหมือนดัง “ท้องพระโรงรัตนโกสินทร์” ของสถานีรถไฟใต้ดินสนามไชย ที่ผสมผสานความทันสมัยกับความเป็นไทยได้อย่างลงตัว ที่ผมเขียนถึงเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา.

“ซูม”