ดิจิทัลทีวียังลูกผีลูกคน คสช.เบรก ม.44 ช่วยเหลือ

ข่าวใหญ่ข่าวหนึ่งที่เกิดขึ้นหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่แล้ว ก็คือข่าวที่ว่า ม.44 ที่จะกำหนดมาตรการช่วยเหลือทีวีดิจิทัล และผู้ประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ สะดุดตอ โครมใหญ่ถูกส่งกลับไปพิจารณาใหม่แล้วค่อยกลับมาเสนออีกครั้ง

เพราะ คสช. ห่วงเสียงทักท้วงจากหลายๆฝ่ายว่า มาตรการที่จะออกให้นี้เอื้อประโยชน์แก่ภาคเอกชน จึงให้ไปเขียนมาใหม่เป็นลายลักษณ์อักษร อธิบายให้ชัดว่า มาตรการนี้เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย มิได้เอื้อประโยชน์เอกชนแต่อย่างใด

หนังสือพิมพ์รายงานข้อสังเกตของนายกรัฐมนตรีเอาไว้ตอนหนึ่งว่า

“การพิจารณาเรื่องนี้ต้องหามาตรการที่เหมาะสมมาดำเนินการ ตอนนี้ยังไม่ตัดสินใจอะไรทั้งสิ้น ทั้งนี้ ต้องยึดคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นที่ตัดสินก่อนหน้านี้มาเป็นบรรทัดฐาน”

“มีหลายเรื่องที่จะต้องพิจารณา หลายเรื่องเป็นเรื่องการเยียวยาและหลายเรื่องเป็นความรับผิดชอบของภาคธุรกิจเอง การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในตอนนี้จะต้องคำนึงไปถึงเรื่องของอนาคตด้วย เพราะยังจะมีการประมูลคลื่นความถี่ต่อไปอีก จึงอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไปคิดว่า ทำอย่างไรไม่ให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นมาอีก”

ครับ! สาระทั้งหลายทั้งปวงข้างต้นนี้ก็คือบทสรุปของข่าวใหญ่ที่หนังสือพิมพ์หลายฉบับพาดหัวว่า “ม.44 ช่วยทีวีดิจิทัลสะดุดตอ” เมื่อ 2 วันที่ผ่านมา ซึ่งผมขออนุญาตนำมาตั้งเป็นหัวข้อเรื่องสำหรับข้อเขียนวันนี้ให้สอดคล้องกันว่า “ดิจิทัลทีวียังลูกผีลูกคน…คสช.เบรก ม.44 ช่วยเหลือ” นั่นแหละครับ

เท่าที่ผมติดตามข่าวคราวมาตั้งแต่ต้น เสียงทัดทานสำหรับกรณีช่วยเหลือทีวีดิจิทัลโดยตรง แม้จะมีอยู่บ้าง แต่ก็เป็นเชิงฝากข้อสังเกตโน่นนี่ไม่หนักหนาสาหัสอะไรนัก

แต่ที่วิจารณ์กันเยอะหน่อย และถูกมองว่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์แก่เอกชนมากกว่าเห็นจะเป็นเรื่องการประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ ที่จะต้องชำระเงินงวดสุดท้ายในราคาสูงถึงรายละเกือบ 60,000 ล้านบาท โดยให้ยืดการชำระออกไปด้วยเช่นกัน

ทาง คสช.จึงต้องตั้งประเด็นขอให้ชี้แจงถึงเหตุผลต่างๆให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยให้จัดทำอย่างละเอียดเป็นลายลักษณ์อักษรมาทั้ง 2 เรื่อง ตามโจทย์ที่ท่านนายกรัฐมนตรีตั้งไว้

ผมเข้าใจดีว่าข้อกล่าวหาข้าราชการที่หนักหนาสาหัสที่สุดข้อหนึ่งก็คือ “การเอื้อประโยชน์แก่ภาคเอกชน” นี่แหละครับ

ใครเจอข้อกล่าวหานี้ก็ถือว่างานเข้าอย่างหนัก อาจจะนำไปสู่การตั้งข้อหาคอร์รัปชันได้เมื่อตัดสินใจดำเนินการไปแล้ว

แม้วันนี้อาจจะไม่โดน เพราะเรายังอยู่ในอำนาจ แต่วันข้างหน้าเวลาเราหลุดจากอำนาจไปอาจจะโดนรื้อฟื้นขึ้นมาก็ได้ใครจะไปรู้

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่ประการใดที่มีข่าวว่า คสช. ท่านตีเรื่องนี้กลับ และขอให้ชี้แจงใหม่ด้วยเหตุผลที่หนักแน่นกว่าครั้งแรก

ผมก็ได้แต่เป็นห่วงกรณีของทีวีดิจิทัลเท่านั้น เพราะประสบปัญหาที่ไม่คาดคิดอย่างน่าเห็นใจมาก และส่วนหนึ่งซึ่งน่าจะเป็นส่วนใหญ่ด้วยมาจากการทำงานที่ล่าช้า ขาดประสิทธิภาพของ กสทช. ทำให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบทีวีดิจิทัลมีปัญหามากมาย

เมื่อผู้ประกอบการขาดทุนจนจะอยู่กันไม่ได้ เขาก็ขอความอนุเคราะห์มา มิได้ขอลดหย่อนเงินค่าใบอนุญาต หรือขอไม่ชำระค่าใบอนุญาตในส่วนที่เหลือแต่ประการใดทั้งสิ้น

เพียงแต่ขอต่อลมหายใจพักชำระหนี้เอาไว้ 3 ปี ขอเวลาไปตั้งตัวสู้ โดยยินดีจะจ่ายดอกเบี้ยให้ก่อน ซึ่งดูแล้วรัฐก็ไม่ได้เสียหายอะไร เพียงแต่จะได้เงินช้าไปอีกหน่อยเท่านั้น

ผมไม่แน่ใจว่า ในทางเทคนิคแล้ว 2 เรื่องนี้แยกกันเสนอได้หรือไม่? เรื่องดิจิทัลทีวีก็ว่ากันซะให้จบ ส่วนเรื่องผู้ประมูลคลื่นความถี่นั้นไปว่ากันทีหลัง แยกเรื่องออกไปเลยจะได้ช่วยดิจิทัลทีวีที่ร่อแร่เต็มทีให้อยู่รอดได้ก่อน

ไปๆมาๆแล้วดูเหมือนว่า กสทช.จะทำอะไรไม่ถูกสักเรื่อง กรณีเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิทัล ก็ย่อหย่อนประสิทธิภาพ จนศาลปกครองกลางท่านยกเป็นเหตุในการพิพากษากรณีเจ๊ติ๋ม ดังที่ทราบกันอยู่แล้ว

นี่จะมาพลาดซ้ำสองอีกกระมังที่เสนอมาตรการช่วยเหลือดิจิทัลทีวีคู่ไปกับผู้ประมูลคลื่นความถี่ จนโดนตีกลับและเป็นผลให้ทีวีดิจิทัลยังเป็นลูกผีลูกคนอยู่ ณ นาทีนี้…ถ้าทีวีดิจิทัลไม่ได้รับความช่วยเหลืออะไรเลย จะโทษว่าเป็นความผิดของ กสทช.ได้อีกไหมเนี่ย?

“ซูม”