สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ได้เวลา “อ่าน…อีกครั้ง”

เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า “งานใหญ่” สำหรับคนรักหนังสือในประเทศไทย ซึ่งเป็นงานระดับชาติ มีหนังสือมาออกร้านมากมาย จะมีเพียง 2 งานเท่านั้น

ได้แก่งาน “สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ” และ งาน “มหกรรมหนังสือระดับชาติ” ซึ่งมี สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) เป็นโต้โผใหญ่ทั้งคู่

สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ซึ่งในระยะหลังๆ จะพ่วงงาน “สัปดาห์หนังสือนานาชาติ” เข้าไปด้วย จะเริ่มขึ้นในช่วงปลายเดือนมีนาคมต่อยาวถึงต้นเดือนเมษายนเป็นประจำทุกปี ในขณะที่ “มหกรรมหนังสือระดับชาติ” จะเริ่มในช่วงปลายเดือนกันยายนไปจนถึงต้นเดือนตุลาคม

สถานที่จัดงานนั้นหลังจากที่เร่ร่อนไปจัดที่โน่นที่นี่สลับกันไปมาอยู่หลายปี แต่ในที่สุดก็มาลงตัวที่ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งได้กลายเป็นสถานที่นัดพบระหว่างสำนักพิมพ์ และคนเขียนหนังสือกับคนอ่านหนังสือทั่วประเทศ ปีละ 2 ครั้ง ตราบเท่าทุกวันนี้

สำหรับปี 2561 นี้ เมื่อเดือนมีนาคมเวียน มาถึงและกำลังจะผ่านไปในอีกไม่กี่วันข้างหน้าจึงได้เวลาสำหรับงานหนังสืองานแรก “สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 46” กับงาน “สัปดาห์ หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 16” ที่มีกำหนดการแน่นอนแล้วว่า จะเริ่มขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 29 มีนาคม ไปสิ้นสุดในวันอาทิตย์ที่ 8 เมษายน นับเวลาถอยหลังก็เหลือเพียงอีก 5 วันเท่านั้น

ทีมงานซอกแซกในฐานะคนรักหนังสือและเอาใจช่วยงานใหญ่ทั้ง 2 งานนี้มาตลอด จึงตัดสินใจที่จะยกคอลัมน์ประจำวันอาทิตย์นี้ให้แก่ สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ เพื่อบอกกล่าวเล่าสิบ ว่างานปีนี้จะมีจุดเด่นอะไรบ้างดังที่เคยปฏิบัติมา

นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย สุชาดา สหัสกุล กล่าวกับทีมงานซอกแซกว่า ปีนี้จะมาในแนวคิดสั้นๆ และค่อนข้างกระชับ ที่มีความหมายลึกซึ้งว่า “อ่าน…อีกครั้ง” เพื่อเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการ “อ่าน” ที่จะมีผลต่อการพัฒนาตนเองของมนุษย์ที่ยิ่งใหญ่มากและมีความจำเป็นอย่างมากสำหรับคนไทยในการที่จะก้าวให้ทันโลกที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน

“การอ่านคือปัจจัยทางด้านความรู้ต่างๆ ทั้งสิ้น ทุกอย่างจะเริ่มจากการอ่านเสมอๆ…อ่านแล้วนำไปสู่การทดสอบ และริเริ่มลงมือทำ”

“ถ้าเราสร้างวัฒนธรรมในการอ่านให้แก่คนไทยได้ ก็ไม่ต้องวิตกเลยกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นแก่วงการหนังสืออย่างใหญ่หลวงในขณะนี้…จะเป็นหนังสือเล่มหรือออนไลน์ ขอให้อ่านเถอะ เราก็ยังจะสามารถเก็บเกี่ยวความรู้และจินตนาการต่างๆได้เหมือนเดิม เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบไปเท่านั้น”

ทั้งหมดนี้เป็นที่มาของแนวคิด “อ่าน…อีกครั้ง” สำหรับสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ และ สัปดาห์หนังสือนานาชาติปีนี้ ซึ่งจะมีการแสดง นิทรรศการจูงใจและชี้ให้เห็นประโยชน์ของการอ่านอย่างเป็นรูปธรรม

นอกจากนิทรรศการนำในหัวข้อนี้แล้ว ภายในงานจะมีอีกหลายๆนิทรรศการย่อย เช่น นิทรรศการ “100 ปีนายผี อัศนี พลจันทร” และนิทรรศการล้ำยุคจากไต้หวัน ที่เรียกว่า CCC : Creative Comic Creation เปิดมิติใหม่ของการอ่านด้วยเทคโนโลยี AR ผสมผสานโลกแห่งความเป็นจริงเข้ากับโลกเสมือนจากหนังสือการ์ตูน 4 เล่มจากไต้หวัน

เราเคยเห็นเคยสัมผัสหนังสือพิมพ์พูดได้ และมีชีวิตชีวาเคลื่อนไหวได้มาแล้ว อย่างเช่น หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับ “100 วันสวรรคต” และอีก 14 ฉบับซ้อนเมื่อครั้งถวายความอาลัยส่งเสด็จฯในหลวงรัชกาลที่ 9 สู่สวรรคาลัย

ลองไปดูของไต้หวันเขาบ้างนะครับว่าจะใช้เทคโนโลยี AR เพิ่มความตื่นตาตื่นใจให้แก่การอ่านหนังสือได้มากน้อยเพียงใด?

นอกจากนิทรรศการหลายๆเรื่องดังกล่าวแล้ว ก็เป็นประเพณีของสัปดาห์หนังสือแห่งชาติและมหกรรมหนังสือระดับชาติ ที่จะต้องมีการสัมมนามีการอภิปรายเปิดตัวหนังสือและแนะนำนักเขียน ตลอดจนการเสวนาต่างๆ

สำหรับงานนี้จะมีหัวข้อเสวนาที่เวทีเอเทรียมที่น่าสนใจอยู่หัวข้อหนึ่ง “7 วัน อ่าน…อีกครั้งกับ 7 นักเขียนดัง” เชื้อเชิญนักอ่านแฟนพันธุ์แท้ของนักเขียนดัง อาทิ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, มาลัย ชูพินิจ, คำพูน บุญทวี, โกวเล้ง และ ป.อินทรปาลิต ฯลฯ มาพูดคุยถึงท่านเหล่านี้ ส่วนว่าวันไหน เวลาไหนจะเป็นของนักเขียนท่านใด? และใครมาร่วมเสวนาบ้าง คงต้องติดตามกันต่อไป

มาว่ากันถึงภาพรวมของงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติปีนี้ ในเชิงสถิติกันบ้าง…สมาคมผู้จัดพิมพ์แจ้งว่า จะมีหนังสือมาวางจำหน่ายมากกว่า 1,000,000 เล่ม จากสำนักพิมพ์ทั้งไทยและต่างประเทศกว่า 400 ราย รวมทั้งสิ้น 945 บูธ บนเนื้อที่กว่า 20,000 ตารางเมตร มีกิจกรรมที่เวทีเอเทรียม 90 รายการ กิจกรรมในห้องสัมมนา 45 รายการ และคาดหมายว่ายอดผู้เข้าชมงานน่าจะทะลุหลัก 2 ล้านคนขึ้นไปอีกครั้ง

สรุป “งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 46” และ “งานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 16” จะเริ่มตั้งแต่ 29 มีนาคม–8 เมษายนนี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นั่งรถไฟฟ้าใต้ดิน ไปสะดวกที่สุด และอย่าลืมลากกระเป๋าเดินทางแบบขึ้นเครื่องบินไปด้วย เพื่อช็อปหนังสือกันให้จุใจก่อนจะกลับไปลงรถไฟฟ้าใต้ดิน

ป.ล. ผมมีข่าวด่วนขอประชาสัมพันธ์ให้หนังสือที่น่าจะราคาแพงที่สุดในงานนี้สักเล่มนะครับ ชื่อหนังสือ “ภควัทคีตา…พระเจ้าสนทนากับอรชุน” อรรถาธิบายโดยท่าน ปรมหังสา โยคานันทะ แปล โดยอาจารย์ สดใส ขันติวรพงศ์ อาจารย์ ประมวล เพ็งจันทร์ อาจารย์ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง และอาจารย์ เส้ง ใคลคลาย ดำเนินการโดย จัน ชัยธาวุฒิ

หนังสือ 1 ชุด มี 2 เล่ม 18 บท 1,314 หน้า ภาพประกอบ 22 ภาพ ราคา 1,999 บาท จะเปิดตัว วันที่ 31 มีนาคม เวลา 13.00-17.00 น. ที่ห้องประชุม 3 จะมีการอภิปรายโดยผู้แปลและผู้เกี่ยวข้องที่เอ่ยถึงข้างต้น สำรองที่นั่งด่วนที่บริษัท เคล็ดไทย 0-2225-9536 ครับ.

“ซูม”