เพิ่มรายได้คนจน ผ่าน “โชห่วยไฮบริด”

ผมห่างเหินจากการตระเวนชนบทมากว่า 20 ปีแล้ว แม้จะยังเดินทางไปต่างจังหวัดอย่างสม่ำเสมอ แต่ก็มักจะไปเที่ยวแบบพักผ่อนหย่อนใจ แล้วก็อยู่ในตัวเมืองเท่านั้น

ทำให้ไม่ทราบว่า การพัฒนาชนบทในระดับตำบล หรือหมู่บ้านต่างๆ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง

ที่ผมเป็นห่วงมากเรื่องหนึ่งคือ สมัยก่อนโน้นจะมีร้านค้าประจำชุมชน ขายของกินของใช้จิปาถะ ที่เราเรียกกันว่า ร้าน “โชห่วยชุมชน” เป็นร้านที่ชาวบ้านร่วมแรงร่วมใจกันก่อตั้งขึ้น เพื่อเป็นแหล่งสำหรับซื้อสินค้ามาบริโภคในราคาถูก ขณะเดียวกันก็อาจใช้เป็นที่จำหน่ายสินค้าที่ผลิตโดยชาวบ้านไปด้วยพร้อมกัน

ต่อมาเมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้น ทันสมัยมากขึ้น ร้านสะดวกซื้อแพร่กระจายไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะในตัวจังหวัดและอำเภอต่างๆ ส่งผลให้ร้านโชห่วยจำนวนไม่น้อยต้องปิดตัวเองไปเพราะชาวบ้านไม่นิยมพากันเดินเข้าร้านสะดวกซื้อเสียเป็นส่วนใหญ่

ผมก็อดเป็นห่วงเสียมิได้ว่า ร้าน “โชห่วยชุมชน” ที่ผมเคยเห็นตามหมู่บ้านทั่วประเทศไทยนั้นจะยังมีอยู่กันอีกหรือไม่?

ปรากฏว่า เมื่อตอนที่ทางรัฐบาลริเริ่มโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือโครงการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเฟส 2 นี่เอง ก็มีข่าวที่ทำให้ผมชื่นใจเมื่อทราบว่า ร้านโชห่วยหมู่บ้าน หรือโชห่วยชุมชนยังมีอยู่ไม่น้อยกว่า 10,000 แห่งทั่วประเทศ

เป็นร้านค้าชุมชนที่อยู่ในสังกัดของ กองทุนหมู่บ้าน และยังดำเนินกิจการไปด้วยดี

ร้านค้าชุมชนทั้ง 10,000 แห่งที่ว่านี้ จะเข้ามามีส่วนร่วมในเฟส 2 ของโครงการช่วยเหลือคนจนด้วย โดยจะเป็นเป้าหมายสำหรับการติดตั้งเครื่องรูดบัตร (อีดีซี) ของกระทรวงพาณิชย์จนครบถ้วนในไม่ช้า

ท่านใช้คำว่า ร้าน “โชห่วยไฮบริด” และได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจที่เรียกว่า เอ็มโอยู กับ สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ หรือ กทบ. ไปเรียบร้อยแล้ว

หากทุกอย่างเป็นไปตามแผนการที่วางไว้ ร้านโชห่วยของหมู่บ้านต่างๆ คงจะแปลงสภาพเป็น “โชห่วยไฮบริด” มีเครื่องรูดปื๊ด รับรูดบัตรสวัสดิการหรือบัตรอื่นๆ กันแล้วเป็นส่วนใหญ่

รวมทั้งจะมีการนำระบบออนไลน์มาใช้ด้วย เพราะปัจจุบันการติดตั้งเครือข่ายอินเตอร์เน็ตก็ดำเนินการไปอย่างกว้างขวางเกือบทั่วประเทศ

อ่านข่าวแล้วก็ชื่นใจและหากร้านโชห่วยไฮบริดที่ว่านี้จะกั้นกระจกติดแอร์ให้เย็นฉ่ำเสียหน่อยก็จะกลายเป็นร้านสะดวกซื้อที่สมบูรณ์แบบ สามารถยืนหยัดสู้กับร้านสะดวกซื้อที่ต่อไปอาจจะลงไปถึงตำบล หมู่บ้านทั่วประเทศได้อย่างเต็มที่

ดังที่เรียนไว้แล้วว่า “ร้านค้าชุมชน” นอกจากจะเป็นสถานที่จำหน่ายสินค้าอุปโภคและบริโภคสำหรับพี่น้องประชาชนในชุมชนแล้ว ยังจะใช้เป็นที่วางจำหน่ายของผลิตภัณฑ์ชุมชนในท้องถิ่นอีกด้วย

หากต่อไปใช้ออนไลน์มาช่วยสนับสนุนด้วย และมีการประชาสัมพันธ์มากขึ้นก็อาจจะทำให้มีการสั่งซื้อมาจากจังหวัดไกลๆ ซึ่งก็สามารถจะจัดส่งให้ลูกค้าได้ผ่านระบบไปรษณีย์ ซึ่งปัจจุบันก็มีการพัฒนาไปมาก

แนวความคิดของการช่วยเหลือคนจนของรัฐบาลนี้ที่ดึงกระทรวงพาณิชย์มาช่วยเต็มตัว และมีบทบาทสำคัญยิ่งในหลายๆเรื่อง โดยเฉพาะด้านการตลาดเพื่อสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชน จึงเป็นเรื่องที่ถูกต้อง

ถือเป็นการเติมเต็มโครงสร้างในการลงไปช่วยเหลือคนจนให้ครบวงจรจากที่รัฐบาลในอดีต โดยเฉพาะในยุคป๋าเปรมเคยดำเนินไว้แล้ว

เฉพาะร้านค้า “ธงฟ้า” ที่อยู่ในความดูแลของกระทรวงพาณิชย์กว่า 18,000 แห่งเองก็พร้อมที่จะเป็น “ตลาด” ได้แก่ผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยเฉพาะสินค้าโอทอปต่างๆ

จัดเต็มทั้ง “โชห่วยไฮบริด” และ “ธงฟ้าประชารัฐ” แบบนี้น่าจะทำให้คนจนในชนบทลืมตาอ้าปากได้บ้างล่ะน่า

ขออย่างเดียวอย่าให้มีเลศนัย หรือมีอะไรไม่ชอบมาพากลแบบหน่วยราชการบางหน่วย ที่เบียดบังเงินคนจน กลายเป็นข่าวอื้อฉาวในขณะนี้ก็แล้วกัน…เงินเฟส 2 นี้ กว่า 35,000 ล้านบาท น่าจะช่วยคนจนได้มาก

อย่าให้เสียชื่อบิ๊กตู่นะครับ ข้าราชการทุกๆสังกัดที่จะลงไปเป็น “หมอประชารัฐ สุขใจ” ช่วยคนจนทั่วประเทศไทย.

“ซูม”