วิสัยทัศน์รัฐบาล “บิ๊กตู่” ผ่านวิสัยทัศน์ ดร.กอบศักดิ์

ศิษย์เก่าเตรียมอุดมศึกษาที่มีบทบาทสำคัญในระดับชาติอีกท่านหนึ่งที่คณะผู้จัดทำหนังสือ “80 ปีเตรียมอุดม 80 วิสัยทัศน์ถอดรหัสอนาคต” ไปสัมภาษณ์มาลงเป็นอันดับ 2 ของหนังสือก็คือ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล นั่นเอง

ที่ผมใช้คำว่า “นั่นเอง” ก็เพราะมั่นใจว่าท่านผู้อ่านที่ติดตามข่าวสารบ้านเมืองและผลงานต่างๆ ของรัฐบาลปัจจุบัน คงจะคุ้นเคยกับชื่อเสียงเรียงนามของศิษย์เก่า ตอ.ท่านนี้เป็นอย่างดียิ่ง

ดร.กอบศักดิ์ เพิ่งจะได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในคณะ ครม.ชุดใหม่ล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

“งานสำคัญที่ผมได้รับมอบหมายจากรัฐบาลชุดนี้คือ การช่วยดูแลโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor หรือ EEC) ต่อยอดจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ อีสเทิร์น ซีบอร์ด ซึ่งดำเนินการมา 30 ปีแล้ว ได้เวลาที่จะต้องทำให้มีคุณค่าและน่าสนใจมากขึ้น” ศิษย์เก่าเตรียมอุดมฯ รุ่น 46 ในฐานะรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวประโยคแรกกับคณะผู้จัดทำหนังสือ

“โดยเฉพาะการวางโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ เช่น รถไฟความเร็วสูง สนามบินภาคตะวันออก รวมถึงกฎหมาย EEC ซึ่งจะเปลี่ยนพื้นที่บริเวณชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทราให้เป็น Sub-urban ของกรุงเทพฯ และเป็นท่าเรือสำคัญของอินโดจีน ตลอดจนทำให้เกิดการบริหารจัดการเมืองพื้นที่ขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่ออาณาบริเวณประมาณ 1,500 ตารางกิโลเมตร จะถูกพัฒนาให้เป็นกรุงเทพฯ ที่ 2”

จากนั้นท่านก็กล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้การพัฒนาประเทศที่เราพัฒนามาแล้ว 50 ปี แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จที่แท้จริง

“แม้เศรษฐกิจจะขยายตัว 5% 10% แต่ประเทศไทยกลับกลายเป็นประเทศที่หัวโตแต่ตัวลีบ คือ กรุงเทพฯใหญ่ขึ้นเรื่อยๆในขณะที่ภาคตะวันออกก็อาจจะใหญ่ขึ้นบ้างตามกรุงเทพฯ แต่ที่อื่นผอมแห้งแรงน้อยหมด”

“แต่ก่อนภาคเกษตรเคยมีความเข้มแข็งเป็นรายได้ที่สำคัญของประเทศ ร้อยละ 40 ของจีดีพีมาจากภาคเกษตร แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว ภาคเกษตรกลายเป็นภาระของประเทศ ทั้งๆ ที่ประเทศไทยคือพื้นที่อุดมสมบูรณ์ของโลก ทำไมเราถึงทำการพัฒนาอย่างนี้ครับ”

“เพราะที่ผ่านมา เราไปเชื่อการพัฒนาที่นักเศรษฐศาสตร์บอกว่า เราต้องมีหัวรถจักรไปข้างหน้า มีอุตสาหกรรมส่งออก มีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ สร้างขีดความสามารถการแข่งขัน ส่งเสริมการลงทุน ส่งเสริมการส่งออก พัฒนากำลังแรงงานเข้าสู่โรงงานเหล่านี้ เราเชื่อว่าถ้ามีคนรวย แล้วคนที่เหลือจะรวยด้วย แต่มันไม่ได้เป็นอย่างนั้น เรายิ่งทำไปยิ่งตกอยู่ในหล่มของความเหลื่อมล้ำมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วเราก็ไปเชื่อว่าเราสำเร็จแล้ว”

“ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เป็นเรื่องที่ยากที่สุดของปัญหาเศรษฐศาสตร์ ในทุกประเทศในโลก ผมว่าเราต้องกลับมาคิดเรื่องนี้ดีๆ วางกรอบนโยบายที่เหมาะสม เราอาจจะทำให้ปัญหานี้เปลี่ยนได้ เรากำลังทำแผนฉบับนี้ เพื่อเรื่องนี้โดยเฉพาะ นี่คืองานของผม เป็นงานที่ผมรักที่สุด”

“เราต้องทำนโยบายที่กระจายโอกาสไปสู่ทุกคน ดูแลทุกคน เริ่มจากนโยบายระดับประเทศ เช่น เรื่องภาษี สวัสดิการพื้นฐานที่เหมาะสม สวัสดิการผู้มีรายได้น้อย เป็นต้น”

“มีการวางโครงข่ายที่เหมาะสม แทนที่จะเป็นกรุงเทพฯอย่างเดียว ก็ทำหลายๆจังหวัดร่วมกัน ตามนโยบายระดับชุมชน สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง บริหารจัดการกันเอง และมีนโยบายระดับตัวบุคคล ทั้งสามส่วนร่วมนี้รวมกันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ทุกคนลืมตาอ้าปากได้”

“เมื่อเราทำเรื่องโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ได้ เราจะเห็นประเทศไทยรูปแบบใหม่ที่มีโอกาสเต็มไปหมด และเด็กๆก็ไม่จำเป็นจะต้องเข้ามากรุงเทพฯ เขาสามารถกลับไปสร้างอนาคตที่บ้านเขาได้”

วันนี้ผมขอทำหน้าที่คัดลอกมาให้อ่านเต็มคอลัมน์เลยนะครับ เพื่อให้ทราบว่า ท่านรัฐมนตรีกอบศักดิ์ ท่านคิดอ่านอย่างไรและความคิดของท่านก็น่าจะสะท้อนนโยบายการพัฒนาประเทศของรัฐบาลชุดนี้ ที่มี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นรองนายกฯฝ่ายเศรษฐกิจเกือบทั้งหมด

เป็นความคิดที่ดีและผมเห็นด้วย แต่ก็เป็นการเห็นด้วยแบบมีเงื่อนไข แถมพ่วงด้วยความห่วงใย ที่ผมเคยฝากมาแล้วหลายครั้ง

เนื้อที่หมดซะแล้ว พรุ่งนี้ขออนุญาตแสดงความเห็นเพิ่มเติมตามประสา คนแก่ขี้บ่นและขี้ห่วงอีกสักวัน ท่านรัฐมนตรีคงไม่ว่ากระไรกระมัง?

“ซูม”