ตรุษจีน “นครสวรรค์” 102 ปีแห่งพลังศรัทธา

หัวหน้าทีมซอกแซกเขียนถึงงานตรุษจีนที่โน่นที่นี่ไปหลายงานแล้ว ตั้งแต่สัปดาห์ก่อนโน้นมาจนถึงสัปดาห์นี้ ผ่านคอลัมน์ “เหะหะพาที” โดยเฉพาะในฉบับวันเสาร์ที่แปลงร่างมาเป็น “เสาร์สารพัน” ชวนเที่ยวงาน ชวนอ่านหนังสือที่ท่านผู้อ่านคงจะทราบดีอยู่แล้ว

แต่ยังมิได้พูดถึงงาน “ตรุษจีนนครสวรรค์” หรือ “ตรุษจีนปากน้ำโพ” ซึ่งแม้จะเปิดงานไปแล้วตั้งแต่วันศุกร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ ก็เพราะตั้งใจจะเก็บไว้เขียนให้ยาวๆ ในคอลัมน์ซอกแซกวันอาทิตย์เหมือนเช่นทุกปี

เพราะความโดดเด่นและความเป็นเอกลักษณ์ของตรุษจีนนครสวรรค์ที่ยืนหยัดมาได้กว่า 100 ปี และปีนี้จะเป็นปีที่ 102 แล้วนั้น มีเรื่องราว มีเกร็ดและมีตำนานที่จะต้องขยายความเยอะพอสมควร เขียนในคอลัมน์วันธรรมดาคงไม่พอแน่ๆ

ที่สำคัญจากศรัทธาที่ชาวนครสวรรค์มอบให้แก่เทศกาลตรุษจีนด้วยการจัดงานยิ่งใหญ่มาถึง 102 ปีนั้นไซร้ ตัวหัวหน้าทีมซอกแซกได้มีส่วนรับรู้ มีโอกาสสัมผัส รวมถึงมีส่วนร่วมในงานด้วยมาไม่ต่ำกว่า 70 ปี หากจะนับว่ามนุษย์เราเริ่มจำความต่างๆได้ชัดเจนเมื่ออายุ 7 ขวบ (แปลว่าปีนี้หัวหน้าทีมซอกแซกอายุ 77 เข้าไปแล้ว)

ตลอด 70 ปีที่จำความได้ งานตรุษจีนปากน้ำโพไม่เคยลดความยิ่งใหญ่ลงเลย มีแต่จะยิ่งใหญ่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

รวมทั้งจากคำบอกเล่าที่ได้ยินได้ฟังมาก่อนหน้าที่จะจำความได้ ผู้ใหญ่ชาวปากน้ำโพก็จะเล่าขานเหมือนๆกันว่า เราจัดยิ่งใหญ่เกรียงไกรเช่นนี้มาตลอด ด้วยเหตุผลเฉพาะท้องถิ่นของเรา ที่ไม่เหมือนใครอื่น และไม่มีที่อื่นเสมอเหมือน

เนื่องเพราะปีพุทธศักราช 2458-2459 ได้เกิดอหิวาตกโรคระบาดครั้งใหญ่ที่จังหวัดนครสวรรค์ ผู้คนล้มตายจำนวนมาก เพราะไม่มีหยูกยาอันใดจะมาช่วยรักษาได้ในสมัยโน้น

ชาวจีนปากน้ำโพไม่มีทางเลือกอย่างอื่น นอกจากจะอธิษฐานขอพรให้เจ้าพ่อเจ้าแม่ต่างๆที่พวกเขานับถือแผ่บารมีลงมาช่วยดับทุกข์เข็ญในครั้งนี้ ด้วยการนำกระดาษฮู้ หรือกระดาษยันต์จากศาลเจ้าไปจุดไฟเผาบูชาเจ้าพ่อเจ้าแม่แล้วก็นำเถ้ากระดาษมาชงดื่มแทนยา

ผลปรากฏว่า ชาวปากน้ำโพหายจากโรคอหิวาตกโรค หรือโรคห่าในเวลาไม่นานนัก กลายเป็นปาฏิหาริย์ที่เลื่องลือและโจษขานไปทั่ว

ส่งผลให้ในเทศกาลตรุษจีนของปีนั้น ชาวจีนนครสวรรค์ต่างก็ร่วมแรงร่วมใจอัญเชิญเจ้าพ่อเจ้าแม่ทุกๆศาลออกมาแห่ด้วยความศรัทธาไปทั่วตลาด เกิดเป็นประเพณี “แห่เจ้า” หรืองานตรุษจีนของชาวนครสวรรค์มานับแต่นั้น

มองอย่างวิทยาศาสตร์ก็มีข้อสันนิษฐานหลายอย่างว่า การต้มน้ำผงกระดาษฮู้ ซึ่งเป็นน้ำต้มร้อนๆ อาจจะฆ่าเชื้ออหิวาต์ได้ หรือมิฉะนั้นก็มาถึงช่วงระยะปลายๆของการระบาดแล้ว อดใจรออีกพักหนึ่งแม้ไม่ต้องดื่มน้ำต้มอะไรการแพร่ระบาดก็ยุติไปเอง

แต่สำหรับคนนครสวรรค์เมื่อ 102 ปีก่อน ไม่มีทางที่จะคิดเป็นอื่นใดได้ นอกเสียจากถือเป็นเรื่องของอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ อันเกิดจากความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าพ่อเจ้าแม่ จึงบังเกิดความศรัทธาแก่กล้า จัดขบวนแห่เพื่อแสดงถึงความเชื่อถือเชื่อมั่น จนกลายเป็นประเพณีอันยิ่งใหญ่สืบต่อมา

เป็นประเพณีที่ชาวปากน้ำโพจะต้องให้ความร่วมมือ ใครตีกลองได้ ตีล่อโก๊วได้ เชิดสิงโตได้ เชิดมังกรทองได้ จะต้องมาช่วยกันตีกลอง และเชิดสิงโตตลอดจนมังกรทองต่างๆ

ในขณะที่หนุ่มๆไปเข้าขบวนตีกลอง หรือการแสดงผาดโผนใช้กำลัง ฯลฯ สาวๆก็จะไปร่วมในขบวนแห่นางฟ้า สมัครเป็นนางฟ้าเป็นเทพธิดา หรือไม่ก็แต่งกี่เพ้าเดินถือป้ายคำอวยพรในริ้วขบวน

ต่อมามีขบวนแห่เจ้าแม่กวนอิมองค์สมมติด้วย ก็เกิดประเพณีคัดเลือกสาวพรหมจารีเพื่อไปเป็นองค์เจ้าแม่กวนอิมสมมติ โดยใช้วิธีเสี่ยงทายแบบโบราณ ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงใช้ในการคัดเลือก

ต่อมาเมื่อโลกเราก้าวสู่ยุคเทคโนโลยี ชาวปากน้ำโพก็นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้กับเทศกาลตรุษจีน จัดให้มีการแสดงแสงสีเสียงและสื่อประสม กระหึ่มไปทั้งบริเวณต้นน้ำเจ้าพระยาอันเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าสำคัญๆ

รวมทั้งเพิ่มขบวนแห่ซึ่งปกติจะมีกลางวันในวันชิวสี่ หรือวันขึ้นปีใหม่ วันที่สี่เพียงวันเดียวมาเป็นแห่ในภาคกลางคืนในคืนชิวซา หรือวันขึ้นปีใหม่วันที่สาม ซึ่งจะมีการใช้แสงสีอันสวยสดตระการตามาทำให้โดดเด่นยิ่งขึ้นจากขบวนแห่ที่เป็นธรรมเนียมจีนล้วนๆ

ก็ผสมผสานเข้ากับธรรมเนียมไทย กลายเป็นหนึ่งเดียวกัน มีทั้งแตรวงในระยะเริ่มกลายเป็นวงดุริยางค์ หรือวงโยธวาทิตที่ทันสมัยไปจนถึงขบวนกลองยาวอันลือชื่อของนครสวรรค์ก็เข้ามาร่วมด้วย

มิใช่จะมีแค่ “เอ็งกอพะบู๊” หรือขบวน 108 ยอดนักสู้แห่งเขาเหลียงซาน หรือขบวนสิงโตหรือขบวน “มังกรทอง” อันเป็นต้นตำรับเท่านั้น

ปีนี้ซึ่งเป็นปีที่ 102 ก็เช่นกัน ยังคงหล่อหลอมทั้ง 2 ประเพณีไทยจีนเข้าด้วยกันใน “วันแห่เจ้า” ซึ่งจะเริ่มภาคกลางคืนวันอาทิตย์ที่ 18 กุมภาพันธ์ หรืออาทิตย์หน้า ซึ่งตรงกับวันชิวซา และภาคกลางวัน ตั้งแต่เช้าจนถึงค่ำของวันจันทร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ ซึ่งตรงกับวันชิวสี่

คาดกันว่าจะมีพี่น้องประชาชนจากภาคอื่นๆ จังหวัดอื่นๆ รวมทั้งนักท่องเที่ยวทั้งจากจีน, ฮ่องกง, สิงคโปร์ และมาเลเซีย แห่แหนไปชมขบวนแห่และรับพรอันศักดิ์สิทธิ์จากเจ้าพ่อเจ้าแม่นครสวรรค์นับแสนๆคน ไม่น้อยกว่าทุกๆปีที่ผ่านมา

ที่สำคัญทั่วทั้งเมืองปากน้ำโพยามนี้ จะประดับประดาด้วยโคมไฟ หรือ “เต็งลั้ง” กว่า 10,000 ดวง สวยสดงดงามไปทั่ว และ ณ เส้นทางก่อนเข้าสู่ตัวเมืองบริเวณเชิงสะพานเดชาติวงศ์ จะมีการประดับโคมไฟ เรือมังกร ขนาดใหญ่ ยาว 60 เมตร กว้าง 4.50 เมตร มีองค์เจ้าแม่กวนอิมยืนประทับเหนือเรือมังกรดังกล่าว

นี่คือจุดที่ควรจะหยุดถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึกก่อนจะเข้าสู่เมืองปากน้ำโพ เพื่อร่วมฉลองตรุษจีนกับชาวนครสวรรค์ในปีนี้

สรุป งานตรุษจีนนครสวรรค์ปี 2561 มีทั้งสิ้น 12 วัน 12 คืน จาก 9–20 กุมภาพันธ์ โดยจะมีขบวนแห่กลางคืนวันอาทิตย์ที่ 18 กุมภาพันธ์ และกลางวันจันทร์ที่ 19 กุมภาพันธ์… ถ้ามีโอกาสอย่าลืมแวะไปดูชมกันด้วยนะครับ.

“ซูม”