ข้อเขียนของผมวันนี้ต่อเนื่องมาจากเมื่อวานนี้โดยตรงเลยละครับ เพราะยังเป็นเรื่องควันหลงของฟุตบอลประเพณีจุฬา–ธรรมศาสตร์ ที่เมื่อวานผมเขียนล่วงหน้าไว้ก่อนที่ขบวนพาเหรดจะเริ่มขึ้น และการแข่งขันฟุตบอลจะจบลง
ดังที่ทราบกันแล้วผลการแข่งขันจบลงที่ 1-1 เป็นที่พอใจของกองเชียร์ทั้ง 2 ฝ่าย และคนดูหน้าจอโทรทัศน์ที่ยกนิ้วให้ว่าเป็นคู่บอลที่สูสีสุดมันคู่หนึ่งของปีที่แล้วต่อเนื่องมาจนถึงปีนี้
ในขณะที่ขบวนพาเหรดล้อการเมืองก็ผ่านไปโดยไม่มีการสกัดกั้น ไม่มีการเซ็นเซอร์ หรือห้ามปรามทักท้วงอย่างที่เป็นข่าวตอนแรกๆ
ถึงจะมีคนผมสั้นหัวเกรียนสวมเสื้อเชียร์ธรรมศาสตร์บ้าง จุฬาฯบ้างไปยืนถ่ายรูปโน่นนี่ ก็อย่าไปคิดอะไรมากอาจมีนิสิต นักศึกษายุคใหม่นิยมไว้ผมเกรียนบ้างก็ได้ใครจะรู้
ถือว่าทุกสิ่งทุกอย่างผ่านไปด้วยดี และเป็นที่พอใจของคนดูรอบสนาม ที่การล้อเลียนออกมา “โดน” ความรู้สึกมีทั้งเสียงฮาและเสียงปรบมือ
โดยเฉพาะมุก “นนทก” กับ “นิ้วเพชร” และข้อมืออันว่างเปล่ามีเพียงอักษร “คืนเพื่อนไปแล้ว” ทำได้อย่างคลาสสิก ไม่มากไปไม่น้อยไป
รุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์ทุกฉบับพาดหัวข่าวฟุตบอลประเพณีบนหน้า 1 อีกครั้ง และลงภาพ “นนทก” ใหญ่เบ้อเริ่มไม่ตกหล่นเลยแม้แต่ฉบับเดียว
ผมเดาว่าสังคมไทยคงจะพูดถึงนนทกกับฟุตบอลประเพณีอีกวัน 2 วันเป็นอย่างมาก จากนั้นทุกสิ่งทุกอย่างก็จะค่อยๆจางหายไป
เพราะจะมีเรื่องใหม่ๆที่ตื่นเต้นมากกว่า เอ็นจอยปากเอ็นจอยนิ้ว (ที่ใช้กดไลค์ในโทรศัพท์มือถือ) มากกว่าเข้ามาแทนที่ตามแบบฉบับของโลกยุคดิจิทัลที่ทุกสิ่งทุกอย่างจะมาเร็วไปเร็วกว่าโลกในยุค 1.0 หรือ 2.0 เมื่อ 50 ปี 60 ปีที่แล้ว
ข้อดีของโลกยุคนี้ก็คือ ถ้าเรารู้จักมันและคุมสติอารมณ์ไว้ได้ เราก็จะผ่านมันไปได้ไม่ยาก ใครก็ตามที่ตกอยู่ในกระแสไม่ว่าจะเป็นบวกหรือลบ จะต้องรู้อยู่เสมอว่าทั้งบวกและลบจะอยู่กับเราไม่นาน
เรื่องบวกเรื่องดีมาแผล็บเดียวแล้วก็ไป เพราะฉะนั้นตอนมาก็รีบตักตวงให้เต็มที่ และเมื่อไป (อย่างรวดเร็ว) ก็อย่าเสียดาย
เรื่องลบอาจจะอยู่นานและมาแรง แต่ก็จะไม่นานหลายวัน หากเราทนได้เรื่องลบๆนั้นก็จะผ่านไป กลายเป็นเรื่องอื่นๆ
กรณี “นนทก” ก็เช่นกัน ถ้ารู้จักอดทน อดกลั้น ไม่ตอบโต้ ไม่มีปฏิกิริยาสะท้อนกลับ ไม่ไปฟื้นฝอยหาตะเข็บ คนก็จะค่อยๆลืม
เหมือนภาษิตไทยที่ว่า “พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง” โดยเฉพาะวลีหลัง “นิ่งเสียตำลึงทอง” จะเหมาะที่สุด สำหรับกรณียักษ์นนทก และสำหรับอีกหลายๆกรณีจากนี้เป็นต้นไป
ยังมีอีกภาษิตหนึ่งที่ความจริงก็ดีมากๆ และเหมาะสมในหลายๆเรื่อง นั้นก็คือภาษิตที่ว่า “ตัดไฟแต่ต้นลม” ซึ่งหมายถึงความพยายามที่จะตัดไฟเสียตั้งแต่เริ่มต้น ตั้งแต่ลมยังไม่พัดมา ซึ่งจะทำให้ไฟดับลงก่อนและไม่ลุกลามออกไปอย่างกว้างขวาง
อย่างไรก็ตาม หากจะนำภาษิตนี้มาใช้ในทางการเมือง จะต้องระมัดระวังมากๆ เพราะการ “ตัดไฟแต่ต้นลม” ทางการเมืองเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่งในขณะเข้าไปตัด
ยิ่งในช่วงขาลงด้วยแล้ว จะยิ่งต้องระวังอีกหลายๆเท่าตัว เพราะแทนที่จะดับได้ อาจลุกลามกลายเป็นไฟใหญ่ในชั่วพริบตา
ใช้ภาษิตนิ่งเสียตำลึงทองซะบ้าง น่าจะดีที่สุด เพราะตอนนี้ลมอะไรต่างๆก็แรงขึ้นมากแล้ว อย่าใช้วิธีตัดไฟแต่ต้นลม ประเภทอะไรนิดหน่อยก็ห้าม ก็เตือน ก็ปรามบ่อยนัก เดี๋ยวไฟจะลุกลามซะเปล่าๆ
นึกถึงคณะมวยดังเมื่อ 20 ปีก่อนคณะหนึ่งไว้ครับ คือคณะ “ศิษย์เส่ย” ซึ่งเป็นเจ้าตำรับยก 5 ถอยวน ไม่ออกหมัดออกเท้าอะไรเลย เต้นวนไว้จนครบยกก็ชนะไปเอง
จนคำว่า “ศิษย์เส่ย” กลายเป็นคำสแลงที่มีความหมายถึงการถอยวน หรือการอู้ในทุกๆรูปแบบอยู่พักใหญ่ๆ
หันมาเล่นทฤษฎี “ศิษย์เส่ย” ก็ได้ครับ วนไปเรื่อยๆ… แม้กุมภาพันธ์หน้าอีกตั้งปีเต็มๆกว่าจะเลือกตั้งจะยาวนานมาก แต่ถ้าวนให้ดีอย่าให้บอบช้ำมากนัก ยังมีโอกาสกลับมาชกต่อ
ฝากเอาไว้ให้คิดเล่นๆเป็นการบ้านก็แล้วกัน ชาวคณะ “ศิษย์ตู่” ทั้งหลาย!
“ซูม”