ขบวนการแก้ (ความ) จน จาก “ป๋าเปรม” ถึง “ลุงตู่”

ขณะที่ผมนั่งเขียนต้นฉบับวันนี้ หนังสือพิมพ์ทุกฉบับรายงานข่าวนายกรัฐมนตรีบิ๊กตู่ พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรีอยู่ระหว่างเตรียมตัวจะเดินทางไปตรวจราชการและแก้ไขปัญหาความยากจนที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน

รายละเอียดและผลการตรวจราชการของท่านจะเป็นอย่างไรบ้าง โปรดติดตามข่าวคราวกันต่อไปนะครับ

ที่ผมหยิบเรื่องแม่ฮ่องสอนมาเกริ่นนำก่อนก็เพื่อจะเป็นการย้ำเตือนว่าช่วงนี้ท่านนายกฯบิ๊กตู่และคณะของท่านให้ความสนใจเรื่องแก้ปัญหาคนยากจนมากเป็นพิเศษ

มีทั้งจัดงบประมาณและโครงการลงไปช่วยคนจนเฟส 2 ถึง 35,000 ล้านบาท อย่างที่ผมเขียนถึงไปแล้ว

เมื่อวานนี้ผมอ่านคอลัมน์ของคุณ “ลม เปลี่ยนทิศ” ข้างๆ ผมนี่แหละ ทำให้ทราบว่าท่านได้แต่งตั้งคณะกรรมการ เพื่อดูแลคนจน และกำกับการดำเนินงาน เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายของเฟส 2 ขึ้นมาแล้ว 1 ชุด

ในชื่อว่า “คณะกรรมการนโยบายพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” หรือเรียกชื่อย่อว่า คนส. มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานด้วยตนเอง มี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ เป็นรองประธาน และมีท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ เป็นกรรมการอยู่ด้วย

คุณ ลม เปลี่ยนทิศ รายงานด้วยว่า นอกจากกรรมการนโยบายระดับชาติแล้ว ยังมีคณะอนุกรรมการระดับจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และมีตัวแทนบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี จำกัด ร่วมเป็นกรรมการทั้ง 76 จังหวัด ยกเว้น กทม. ที่จะมีท่าน ปลัด กทม. รับหน้าที่ประธาน

เสร็จแล้วก็จะมีคณะทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตในระดับอำเภอ ที่เรียกกันว่า “ทีมหมอประชารัฐสุขใจ” และในเขตต่างๆของ กทม. โดยรวมแล้ว 878 ชุด เพื่อเป็นกลไกของภาครัฐที่จะลงไปเคาะประตูบ้านผู้มีรายได้น้อยแบบรายคนกันเลย

โดยจะมีเจ้าหน้าที่ธนาคารออมสิน 20,000 คน และเจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส. 10,000 คน เป็นหน่วยเคลื่อนที่ ในส่วน “ผู้ดูแลบัตรสวัสดิการรัฐ” ลงไปคลุกคลีกับคนจนที่มีบัตรแบบ 1 ต่อ 30 หรือ 50 เพื่อมิให้ผู้ขึ้นทะเบียนคนจนไว้ 11.4 ล้านคน หลุดพ้นไปจากการดูแล

โครงสร้างนี้ ข่าวบอกว่า พล.อ.ประยุทธ์เลียนแบบมาจากรัฐบาลจีนที่จะส่งเจ้าหน้าที่ลงไปพบปะทุกครอบครัวในระดับพื้นที่

อ่านแล้วก็นึกไปถึงท่านอาจารย์ โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ อดีตรองเลขาธิการสภาพัฒน์และอดีตประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ ผู้ล่วงลับไปแล้ว

ในฐานะที่อาจารย์โฆสิตท่านเป็นนักเศรษฐศาสตร์ไทยคนแรก ที่ริเริ่มจัดทำแผนช่วยเหลือคนจนในประเทศไทยขึ้นเป็นครั้งแรกในยุค ป๋าเปรม เป็นนายกรัฐมนตรี

อาจารย์โฆสิตท่านจัดทัพแบบไทยๆ ไม่ได้ไปเลียนแบบใคร ใช้ระบบราชการที่มีอยู่แล้วเป็นหลัก โดยมีกรรมการระดับชาติที่ท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นประธาน

ในระดับจังหวัดก็มอบท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ยกเว้น กทม. เพราะยุคนั้นมุ่งแก้ปัญหาความยากจนในชนบทเป็นอันดับแรกก่อน

สำหรับระดับอำเภอก็มีนายอำเภอเป็นประธาน และลึกลงไปถึงระดับตำบลก็จะเป็น 4 สหาย ที่อยู่ในตำบลอยู่แล้ว ได้แก่ เกษตรตำบล สาธารณสุขตำบล พัฒนากรตำบลและครูหนึ่งคนมาร่วมด้วย

เคาะประตูได้ทุกบ้านเช่นกัน และก็สามารถจัดเก็บข้อมูลได้ด้วยเข้าใจว่าทุกวันนี้ข้อมูลระดับครอบครัวที่เรียกว่า “จปฐ.” กับระดับหมู่บ้านที่เรียกว่า “กชช. 2 ค” ทางกรมพัฒนาชุนชนก็ยังเก็บกันอยู่

ข้อแตกต่างก็คือยุคโน้นรัฐบาลแก้ความจนแบบปูพรม คือ มุ่งไปในการพัฒนาระดับพื้นที่ ไม่ได้เจาะจงตัวบุคคล หรือคัดเลือกคนจนแบบระบุตัวบุคคลชัดเจนอย่างยุคนี้

ผมเรียนแล้วว่าการปูพรมกับการเจาะจงก็มีดีมีเสียไปคนละแบบ…ของแบบเจาะจงหรือรู้ตัวคนจนอย่างที่ทำอยู่ทุกวันนี้จะต้องเลือกให้ดีๆ และได้คนจนจริงๆ มิใช่คนแกล้งจนที่มักจะแอบแฝงเข้ามา

ถือเป็นวิวัฒนาการของ “ขบวนการแก้ (ความยาก) จน” ของประเทศไทย ที่จะต้องติดตามต่อไป ว่าจะเกิดผลสัมฤทธิ์แค่ไหน เพราะวิธีการน่าจะถูกต้องแล้ว…จากนี้ไปก็อยู่ที่การปฏิบัติละครับลุงตู่.

“ซูม”