ที่มาของเพลง…”สดุดีมหาราชา”

ซอกแซกสัปดาห์นี้ขออนุญาตปฏิบัติตามสัญญาที่บอกกล่าวไว้ในคอลัมน์ “เหะหะพาที” เมื่อวันอังคารว่า จะนำข้อเขียนของ “ชรินทร์ นันทนาคร” ว่าด้วยเบื้องหน้าเบื้องหลังของการ แต่งเพลง “สดุดีมหาราชา” มาลงในฉบับวันอาทิตย์

อย่างที่ผมเขียนเอาไว้แหละครับว่าอ่านข้อเขียนชิ้นนี้แล้วก็เกิดขนลุกซู่และตื้นตันใจเหลือที่จะกล่าวได้ จึงอยากจะให้อ่านแบบรวดเดียวจบ…มาลงวันอาทิตย์มีเนื้อที่เยอะหน่อยว่างั้นเถอะ

แต่เอาเข้าจริงๆเนื้อที่ก็ยังไม่พออยู่ดี

ผมขออนุญาตพี่ชรินทร์เล็มออกเล็กๆน้อยๆ ที่ไม่เสียใจความนะครับ เพราะไม่อยากจะให้อ่านต่ออาทิตย์หน้า…ครั้นจะไปต่อหน้าอื่นไทยรัฐเขาก็ไม่ยอมให้ครับ ต้องจบในคอลัมน์เท่านั้น
ขอเชิญอ่านได้ละครับ

“ซูม”

ผมทราบข่าวการเสียชีวิตของ “น้าหมาน” สมาน กาญจนะผลิน จากคุณเพชรา เชาวราษฎร์ ทางโทรศัพท์ ขณะทัวร์คอนเสิร์ตอยู่ที่อเมริกา กลับมาก็ได้ไปแสดงความเสียใจต่อบรรดาทายาทของน้าหมานและได้รับการขอร้องให้เขียนเล่าถึงเบื้องหลังบทเพลงสำคัญที่สุดที่ชื่อ “สดุดีมหาราชา”

รับปากแล้วลังเล เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมาผมไม่เคยเอาชื่อตัวเองเข้าไปผูกพันกับผลงานแต่งเพลง จนกระทั่ง คุณพูลศรี เจริญพงษ์ ผู้รวบรวมข้อเขียนไว้อาลัย โทร.มาบอกว่าให้เขียนเถอะเพราะความจริงไม่ใช่สิ่งเสียหาย

ก็ขอย้อนหลังไปเมื่อปี พ.ศ. 2507 ผมมีโอกาสขึ้นไปดูสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ที่บ้านป๋าแป๋ ที่มีน้ำพุร้อนสวยที่สุดที่เชียงใหม่ เห็นแม๊วเป๊อะของเต็มกระบุงขึ้นดอยมา ที่ขอบกระบุงมีธง ภ.ป.ร. ผืนน้อยเสียบอยู่ ถามดูได้ความว่าซื้อมาจากในเมืองอันละ 8 บาท จะเอาไปติดบูชาที่ประตูบ้านในวันสำคัญของเจ้าพ่อหลวง ผมมองตามธงผืนนั้น ไกลออกไป ในระหว่างหุบเขา และจะด้วยอะไรก็ไม่รู้ ผมนึกชื่อขึ้นมาได้ชื่อหนึ่งว่า “สดุดีมหาราชา”

เก็บชื่อและคิดว่าจะทำอะไรอยู่เกือบ 2 ปี จึงได้ไปพบผู้มีพระคุณท่านหนึ่ง ซึ่งผมนับถือเสมือน “พ่อ” ท่านคือ พระยาศรีวิศาลวาจา กราบเรียนถามท่านว่า ถ้าเราจะแต่งเพลงรักและบูชาพระเจ้าอยู่หัวและพระราชินีของเรา โดยใช้ถ้อยคำธรรมดาง่ายๆ แบบชาวบ้านจะเป็นการมิบังควรหรือเปล่า ท่านบอกเป็นความคิดที่ดีมาก รีบไปทำได้เลย

นักประพันธ์เพลงที่ฝีมือดีมีมากมายในบ้านเรา แต่ผู้ที่จะมาสร้างทำนองเพลงอันสำคัญนี้ คงจะเป็น ใครไปไม่ได้นอกจาก “น้าหมาน” หรือ คุณสมาน กาญจนะผลิน เพราะตลอด 10 ปีที่ผ่าน เคยบันทึกเสียงเพลงด้วยกันมา ผมทราบดีว่าคนคนนี้ “อัจฉริยะ”

ปัญหาอยู่ที่เนื้อร้อง ผมตรงไปพบ คุณสุรัฐ พุกกะเวส นักประพันธ์เพลงอาวุโส และช่วงนั้นท่านเป็นนายกสมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงด้วย ท่านขอเวลา 2 วัน ถึงเวลาไปรับเนื้อเพลงมา ปรากฏว่ายาวมาก ถ้อยคำส่วนใหญ่จะเป็นราชาศัพท์ ก็ไม่ตรงกับใจที่หวังไว้ ถึงอย่างไรก็ถือว่าได้เริ่มต้นกันแล้ว
คิดอยู่อีกนานว่าจะทำอย่างไร เผอิญได้พบกับ คุณชาลี อินทรวิจิตร ในร้านอาหาร “สีทันดร” ผมระบายความในใจและสิ่งที่อยากจะได้ให้เขาฟังบอกชื่อเพลงเขาไปว่า “สดุดีมหาราชา”

รุ่งขึ้นรับชาลีท่ีบ้านหลังศาลเจ้าแซ่ซิ้ม ธนบุรี ตี 5 ครึ่ง บึ่งไปบ้านน้าหมานในซอยข้างวัดเทพธิดาราม

พอเริ่มแต่งเพลง ชาลีก็เริ่มเกร็ง เนื้อร้องต้องมาก่อน เอาง่ายๆ แบบชาวบ้านแต่ประทับใจ ผมบอก ชาลีเถียง นั่นแหละยากแล้ว ชาลีก็ถามผมขึ้นมาลอยๆ ว่า “เออ ชรินทร์ ถ้าเผอิญในหลวงท่านมาในซอยนี้แล้วเราไปเจอพระองค์ท่าน เราจะทำยังไง” ผมก็บอกไปว่า “เราคงต้องนั่งหรือคุกเข่าพนมมือ” ขอเดชะข้าพระพุทธเจ้า แล้าเรามีอะไรก็กราบบังคมทูลพระองค์ท่าน ชาลีรีบเขียนในกระดาษ

ขอเดชะองค์พระประมุขภูมิพล มิ่งขวัญปวงชนประชาชาติไทย…เหมือนลมเย็นพัดมาวูบหนึ่ง แล้วก็พาความวิตกกังวลที่สุมอยู่ในหัวใจผมมานานหายไปในพริบตา ผมดึงเนื้อเพลงบรรทัดนั้นส่งให้น้าหมาน ท่านพรมนิ้วลงบนคีย์เปียโนไล่เสียงไม่นานเลย แล้วทำนองเพลงก็หลั่งไหลมาครั้งเดียวก็ดีเยี่ยม เป็นทำนองที่เราท่านทั้งหลายร้องสดุดีมหาราชาจากวันนั้นถึงวันนี้ ได้บรรทัดแรกมา เราสามคนก็หายจากอาการ เกร็ง ฟ้าดินเป็นใจเราแล้ว ก็แต่งต่อจนจบท่อนสดุดี มหาราชินี

แล้วชาลีก็พูดขึ้นอีกว่า ต่อไปนี้เป็นท่อนจบ ความไพเราะทั้งหลายทั้งปวงจะต้องมารวมกันอยู่ที่ตรงนี้ และนี่คือเนื้อเพลง

…อ่าองค์พระสยมบรมราชันย์ขวัญหล้า…อ่านบรรทัดที่หนึ่งผมก็นิ่ง ชาลีเขาอ่านสีหน้าผมออก ยิ่งกว่าอ่านแบบเรียนเร็ว

ชาลีพูดเสียงดัง “กูตามใจมึงมา 8 บรรทัดแล้ว จะแต่งตามใจกูสักบรรทัดไม่ได้เชียวหรือวะ…ชรินทร์”

เออ ก็ต้องรีบประนีประนอมขอฟังทำนองจากน้าหมานก่อน ถ้าเพราะก็คงไม่ยาก น้าหมานอ่านเนื้อแล้วไล่คีย์เปียโนบอกว่าทำนองจะขาดไป 2 ห้อง ต้องทำสะพานดนตรีลงมารับกับคำร้องท่อนสุดท้าย อ่าองค์พระสยม…แล้วท่านก็ดีดให้ฟัง

อีกครั้ง อัจฉริยชนคนธรรมดาสำแดงฤทธิ์ทางดนตรี ดีดทีเดียวก็ไพเราะจับใจ ท่านผู้อ่านลองร้องดูเถอะครับ

…อ่าองค์พระสยมบรมราชันย์ขวัญหล้า เปล่งบุญญาสมสง่าบารมี ผองข้าพระพุทธเจ้า น้อมเกล้าขออัญชุลี สดุดีมหาราชา…สดุดีมหาราชินี…

เพลงสดุดีมหาราชาเผยแพร่สู่ประชาชนครั้งแรก โดยบรรจุไว้ในภาพยนตร์เพลงพระราชทาน “ลมหนาว” ที่ผมสร้างฉายที่ศาลาเฉลิมกรุงเมื่อปี 09 เป็นตอนใกล้จบเรื่อง มีภาพนักโทษการเมืองและพระเอกของเรื่องที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา เดินออกจากคุกและพร้อมใจกันก้มกราบระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ

ผู้คนที่เข้ามาดูภาพยนตร์ในรอบแรกต่างลุกขึ้นยืนถวายความเคารพ คนเฝ้าประตูใหญ่ด้านข้าง ของเฉลิมกรุงก็เปิดประตู ผู้คนเข้าใจว่าภาพยนตร์จบแล้ว ต่างก็กรูกันออกไปเต็มถนนเจริญกรุง

ไม่นานก็ได้เรื่อง ตำรวจพาตัวผมไปที่โรงพักพระราชวังเพราะมีคนไปแจ้งความว่า ผมเอาเพลงอะไรก็ไม่รู้มาเปิดแทนเพลงสรรเสริญพระบารมี อธิบายให้ตำรวจฟังยังไงก็ไม่เข้าใจ ทางโรงก็ไม่กล้าฉายหนัง ผมก็ต้องโทร.ถึงที่พึ่งของผม

พักใหญ่ที่พึ่งของผมท่านก็มา ตำรวจตั้งแถวกันพรึ่บพรั่บทั่วโรงพัก และทุกอย่างก็จบลงด้วยรอยยิ้มและความเข้าใจ ภาพยนตร์ก็ฉายได้ตามปกติ

จากวันนั้นถึงวันนี้ เพลง “สดุดีมหาราชา” ได้กลายเป็นเพลงของประชาชนคนไทยทั้งประเทศไปแล้ว ถ้าสวรรค์มีจริงอัจฉริยชนคนธรรมดาและเป็นคนดีที่พร้อมอย่างน้าหมาน ท่านคงยิ้มอย่างเป็นสุขอยู่บนนั้น.

ชรินทร์ นันทนาคร