จะเอาตัวรอดได้อย่างไร? ในสถานการณ์ “เงินเฟ้อ”

คอลัมน์นี้เป็นคอลัมน์แรกๆ ที่ออกมาเตือนตั้งแต่ปีที่แล้วว่า “ภาวะเงินเฟ้อ” หรือภาวะ “ของแพง” จะเกิดขึ้นแน่ๆ

เริ่มเขียนถึงคำว่า Stagflation ที่มีคำจำกัดความว่า เป็นภาวการณ์ที่เกิดความผิดปกติทางเศรษฐศาสตร์ขึ้นคือ เกิดภาวะเงินเฟ้อ (Inflation) และภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจจากการว่างงาน หรือรายได้ตกต่ำขึ้นพร้อมๆ กัน…ซึ่งแก้ยากมาก

เหตุที่ผมหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาเขียน เพราะมีข่าวว่า เกิดภาวะเงินเฟ้อที่สหรัฐอเมริกาขึ้นก่อนที่ราคาน้ำมันจะพุ่งกระฉูดเสียอีก

ช่วงนั้น ดูเหมือนธนาคารกลางสหรัฐฯ และนักเศรษฐศาสตร์สหรัฐฯ จะมองว่าเป็นเรื่องที่แก้ไม่ยากเท่าไรนัก เพราะจะเป็นเรื่องชั่วคราว

มาถึงวันนี้ สถานการณ์เปลี่ยนไปมาก แม้แต่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ก็ยอมรับแล้วว่าไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะจัดการ ขณะที่ผมเขียนต้นฉบับ

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินว่าจะขึ้นดอกเบี้ยเมื่อไร? เท่าไร? และอย่างไร? ยังไม่จบ

แต่มีการคาดเดาว่าอาจใช้มาตรการที่ “เข้มข้น” กว่าที่เคยพูดไว้…ส่งผลให้หุ้นสหรัฐฯร่วงระเนนระนาดมาหลายวันติดกัน

ลงท้ายแล้วสหรัฐฯ จะแก้ปัญหาของเขาอย่างไร? และแก้ได้สำเร็จหรือไม่? คงต้องติดตามกันต่อไป

นอกจากติดตามสหรัฐฯ แล้วคงติดตามไปทั่วโลกนั่นแหละ เพราะปัญหาเงินเฟ้อกลายเป็นปัญหาโลกไปเรียบร้อย

ของเราความจริงก็เฟ้อมาตลอด แต่ยังเฟ้ออ่อนๆ อยู่ จึงไม่รู้ร้อน รู้หนาว จนกระทั่งเมื่อราคาน้ำมันพุ่งขึ้นเรื่อยๆ ค่อยรู้สึกและเริ่มมีเสียงโอดครวญขึ้นมาบ้าง

มาร้องสุดเสียงเอาตอน “หมูแพง” เหตุเพราะเกิดโรคระบาดหมู ทำให้ปริมาณเนื้อหมูหายไปจากท้องตลาดเกือบครึ่งหนึ่ง ถึงได้รู้ตัวว่า

บ้านเราก็ตกอยู่ในภาวะเงินเฟ้อ (ค่อนข้างแรง) ด้วยเหมือนกัน

จำได้ว่าผมไม่ได้เสนอแนะอะไรเลย เพราะรู้ตัวดีว่าตำราหรือวิธีแก้ที่ผมเคยเรียนคงเอามาใช้กับยุคนี้ไม่ได้แน่นอน เพราะความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วทางเทคโนโลยีของโลก

ผมจึงฝากความหวังไว้กับนักเศรษฐศาสตร์รุ่นน้อง บางคนรุ่นลูกแล้วด้วยซ้ำ ขอให้เอาชนะเงินเฟ้อครั้งนี้ได้สำเร็จด้วยเถิด

วันนี้ที่หยิบประเด็นนี้มาเขียนก็ไม่มีข้อเสนอแนะใดๆ จากผม เช่นเคยเพียงแต่ไปอ่านเจอข้อคิดของอาจารย์ท่านหนึ่งในเฟซบุ๊กแล้วเห็นด้วยกับท่าน จึงขออนุญาตนำมาแชร์ต่ออีกทอดหนึ่ง

ดร.ปฐมพงษ์ โพธิ์ประสิทธินันท์ นักวิชาการทางบูรพคดีศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล น่ะครับ…โพสต์ไว้ตั้งแต่สัปดาห์แรกๆ ของเดือนมกราคมแล้ว แต่เพิ่งมีคนส่งมาถึงผมเมื่อ 2-3 วันนี้เอง

ท่านเริ่มเหมือนที่ผมเคยเขียนไว้แหละครับว่า “ของแพง เป็นปัญหาเงินเฟ้อทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย” คนไทยควรมองให้เป็นวัตถุวิสัย อย่ามองแล้วใช้อารมณ์ปรุงแต่งมากจะเป็นทุกข์มากเสียเปล่าๆ

“ในสภาวะแบบนี้ถ้าใครจนไม่เป็นจะอยู่ยาก ก่อนนี้ใครเคยซื้อของฟุ่มเฟือย วิ่งตามตัณหาของตนได้ตลอด อยากได้อะไรก็ซื้อ อยากกินอะไรก็กิน ปัญหาช่วงนั้นไม่มี เพราะเงินหาง่ายกว่า”

“แต่มาถึงตอนนี้ เกิดวิกฤติโควิด-19 ระบาด แถมเงินเฟ้อมากขึ้น เงินทองหาได้ยากขึ้น หากจนไม่เป็น ประหยัดไม่เป็น อดมื้อกินมื้อไม่เป็น อาจต้องฆ่าตัวตาย เพราะหาเงินรับใช้ตัณหาที่มีมากของตนเองไม่ทัน”

“แต่ถ้าใครจนเป็นหันไปซื้ออย่างอื่นที่ถูกกว่าแทน ประหยัดมากขึ้น เลิกกินอาหารนอกบ้าน หาอยู่หากินตามอัตภาพ ไม่โทษใคร เพราะเงินเฟ้อเป็นเรื่องสากล เจริญจิตภาวนาให้จิตสงบ ไม่ดิ้นรนไปตามความอยาก หนักเอาเบาสู้ไม่ถอย วิกฤติของแพงก็เรื่องเล็ก”

ในช่วงท้ายท่านเสนอแนะว่า “เมืองไทยแสนวิเศษ สามารถปลูกพืชผักสวนครัว หรือผักริมรั้วลดค่าใช้จ่ายลงได้ ใครทำก็จะลดค่าใช้จ่ายลงได้มาก…สรุปว่าช่วงนี้คน “จนเป็น” จะรอดแน่นอน”

ผมเห็นด้วยกับท่านครับ และขอบคุณที่ท่านเสนอมาทั้งหมดนี้

ขอร้องอย่างเดียว “บิ๊กตู่” หรือรัฐมนตรีในรัฐบาลท่านใดท่านหนึ่งอย่าหยิบไปแนะนำประชาชนเด็ดขาด เดี๋ยวจะเกิดปฏิกิริยาเชิงลบว่าแก้ปัญหาไม่เป็นแล้วยังมาเสนออะไรเชยๆ อีก (แบบที่บิ๊กตู่เคยเผลอเสนอให้เลี้ยงไก่บ้านละ 2 ตัว คราวก่อน)

ห้ามบิ๊กตู่พูด…คนในรัฐบาลอย่าพูด พวกเราประชาชนพูดกันเอง––ขอบคุณท่านอาจารย์นะครับ ที่เสนอวิธี “จนเป็น” ซึ่งผมเชื่อว่าจะทำให้คนไทยและประเทศไทยเอาตัวรอดได้อีกครั้ง.

“ซูม”

ข่าว, เศรษฐกิจ, เงินเฟ้อ, ของแพง, เศรษฐศาสตร์, รายได้, โควิด-19, ซูมซอกแซก