“หมูแพง” รับ “ปีใหม่” 1 ในปัญหา “เขย่า” ลุง

หนังสือพิมพ์หลายฉบับพาดหัวข่าวตรงกันว่า ช่วงนี้ “ราคาเนื้อหมู” แพงขึ้นมากจนชาวบ้านไม่กล้าจะรับประทานหมูอยู่แล้ว…มีอย่างที่ไหนราคาหมูบนเขียงทุกวันนี้กระฉูดไปถึงกิโลละ 220-250 บาท

ร้านข้าวหมูแดงเริ่มขยับตัวว่าต้องขอขึ้นราคาบ้างแล้วล่ะไม่งั้นจะอยู่ไม่ได้…ร้านข้าวขาหมูก็โอดเช่นกันว่าจะต้องขอขึ้นราคาในอีกไม่กี่วันอย่างแน่นอน…ฯลฯ

จริงๆ แล้วข่าวว่าปลายๆ ปี 2564 หมูจะแพงเริ่มกระเส็นกระสายมาพอสมควร…ผมจำได้ว่ายังเคยอ่านเจอข่าวอยู่ครั้งหรือ 2 ครั้ง

มีการหยิบตัวเลขการเลี้ยงสุกรรายปีย้อนหลังไป 3-4 ปีมาให้ดูพบว่าเฉลี่ยแล้วเกษตรกรไทยจะเลี้ยงหมูออกสู่ท้องตลาดประมาณปีละ 20 ล้านตัวเศษๆ นิดหน่อย

แต่แล้วจู่ๆ เมื่อกลางปี 2564 หรือปีกลายนี่เองตัวเลขเลี้ยงหมูก็ลดฮวบลงอันเป็นผลมาจากการระบาดของโรคในสุกรสายพันธุ์อะไรสักอย่าง ทำให้สุกรแม่พันธุ์เสียหายไปเกือบครึ่งหนึ่ง

การที่จำนวนหมูลดลงอย่างมากมายเช่นนี้ แม้ว่าปริมาณการบริโภคโดยรวมจะลดลงด้วยเพราะโควิด-19 แต่อย่างไรเสียก็จะไม่ลดลงมากเท่ากับจำนวนที่ผลิตน้อยลงแน่นอน

เมื่อเอาหลักเศรษฐศาสตร์มาจับ…ก็คือ “ดีมานด์” อาจลดลงบ้างก็จริงแต่ “ซัพพลาย” ลดเยอะกว่ามากๆ…ยังไงๆ ราคาก็ต้องแพงขึ้นแน่ๆ

นักวิชาการจึงออกมาฟันธงตั้งแต่แรกๆ แล้วว่ายังไงๆ ปลายปี 2564 จะเกิดกรณี “หมูแพง” มากระหน่ำซ้ำเติมประชาชนแน่นอน

แต่กระทรวงเกษตรฯ และรัฐบาลอาจจะไม่เชื่อคำเตือนก็ได้จึงเฉยๆ และไม่มีการเตรียมการล่วงหน้า

คือแม้แต่จะบอกให้ประชาชนรู้ตัว จะได้ทำใจล่วงหน้าไว้ก่อนก็ยังไม่มีใครออกมาบอกเลยด้วยซํ้า

ดังนั้น จู่ๆ เมื่อราคาพรวดขึ้นจริงๆ  อย่างทุกวันนี้…ประชาชนที่ไม่รู้ตัวมาก่อนจึงรู้สึกช็อกและออกมาโวยวายดังที่เป็นข่าว

ในขณะที่กระทรวงพาณิชย์ก็เพิ่งจะออกมาแถลงว่าจะเอาหมูราคาถูกไปขายตรึงราคาที่โน่นที่นี่เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

ซึ่งเอาเข้าจริงๆ ผมก็เดาว่าคงทำไม่ได้นาน เพราะเมื่อราคาเนื้อหมูมันแพงขึ้นด้วยกลไกทางเศรษฐศาสตร์แบบนี้เสียแล้ว ก็แปลว่าหมูจะต้องแพงเหมือนๆ กันหมด

กระทรวงพาณิชย์จะหาหมูราคาถูกๆ ที่ไหนไปขายตรึงราคาได้ล่ะครับ

นักวิชาการหลายๆ ท่านดูเหมือนจะออกความเห็นด้วยว่าอย่าไปตรึงราคา อย่าไปแทรกแซงอะไรเลย ปล่อยมันไปตามกลไกตลาดเถิด

ราคาหมูช่วงนี้แม้จะสูงมาก แต่ประโยชน์ส่วนหนึ่งก็ตกอยู่กับเกษตรกรเลี้ยงหมู ที่ทำให้พอมีกำรี้กำไรชดเชยในช่วงที่ขาดทุนสาหัส ขณะโควิด-19 ระบาดหนักได้

ต่อไปราคาที่สูงขึ้นก็จะจูงใจให้เกษตรกรที่เลิกเลี้ยงหมูไปมาก หันกลับมาเลี้ยงตามเดิม ราคาก็จะค่อยๆ ลดลงมาเอง

ผมค่อนข้างเห็นด้วยกับแนวคิดนี้ อยากให้กลไกตลาดทำหน้าที่ของมันให้ถึงที่สุด

ขณะเดียวกัน เราก็ช่วยกลไกตลาดด้วยอีกแรง คือหันไปบริโภคโปรตีนอย่างอื่นๆ แทนหมูให้มากขึ้น…เช่น ไก่ ปลา หรือเนื้อ เป็นต้น

แต่ผมก็ไม่ทักท้วงหรอกครับที่มีเสียงบ่นเสียงติงรัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงเกษตรฯ ที่ปล่อยให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น เพราะผมเห็นว่าความผิดส่วนหนึ่งก็มาจากกระทรวงเกษตรฯ และรัฐบาลเช่นกัน

เพราะรู้อยู่แล้วว่ามีโรคระบาดหมู จนแม่พันธุ์ตายไปเป็นครึ่งแต่ไม่ทำอะไรสักอย่าง

อย่างน้อยออกมาบอกกล่าวออกมาเตือนให้ประชาชนรับรู้และเตรียมตัวเตรียมใจล่วงหน้าอย่างที่ว่าก็ยังดี

ระวังให้ดีเถอะ…หมูแพง เนื้อแพง ไก่แพง ยังไม่หนักเท่า “ไข่แพง” เพราะจะมีคนเอา “ไข่ (ยุค) บิ๊กตู่” ที่เรียกย่อๆ ว่า “ไข่บิ๊กตู่” ไปเปรียบเทียบกับไข่ในยุคอื่นๆ

เช่นเทียบกับ “ไข่ทักษิณ” “ไข่อภิสิทธิ์” “ไข่ชวน” “ไข่บรรหาร” ย้อนหลังไปเรื่อยๆ

เตือนล่วงหน้าไว้เลยครับ หาก “ไข่บิ๊กตู่” แพงกว่าทั้งๆ ที่ “ฟองเล็กกว่า” ละก็…โดนอภิปรายไม่ไว้วางใจแน่นอน…จะบอกให้.

“ซูม”

ข่าว,​ ราคา, หมู, แพง, ขึ้นราคา, โควิด 19, เนื้อหมู, ซูมซอกแซก