ให้กำลังใจ “คนช่างฝัน” เดินหน้าสู่ “แผนพัฒนา 13”

เมื่อวานนี้ผมเขียนแนะนำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 (พ.ศ.2566-2570) มาจนถึงช่วงที่ว่าแผนพัฒนาฉบับนี้ ได้กำหนดหมุดหมายไว้ 13 ประการ…ก็พอดีจบคอลัมน์เสียก่อน

วันนี้ขออนุญาตเขียนต่อเลยนะครับว่า ทั้ง 13 “หมุดหมาย” หรือความตั้งใจที่แผนพัฒนาฉบับนี้มีความประสงค์จะให้เกิดขึ้นแก่ประเทศไทยของเรานั้น มีอะไรบ้าง…เรียงลำดับตั้งแต่หมุดหมายแรกจนถึงหมุดหมาย “ลักกี้นัมเบอร์” อันดับ 13 ดังนี้ครับ

  1. ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง
  2. ไทยเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน
  3. ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก
  4. ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง
  5. ไทยเป็นประตูการค้าการลงทุน และยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค
  6. ไทยเป็นฐานการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะที่สำคัญของโลก
  7. ไทยมีวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม ที่เข้มแข็งมีศักยภาพสูง และสามารถแข่งขันได้
  8. ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่มาก ปลอดภัย และเติบโตได้อย่างยั่งยืน
  9. ไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลง และคนไทยทุกคนมีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอเหมาะสม
  10. ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนตํ่า
  11. ไทยสามารถลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  12. ไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต
  13. ภาครัฐทันสมัย มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ประชาชน

ครับ! ทั้งหมดนี้คือหมุดหมายหลักที่แผน 13 อยากเห็นและอยากให้เกิดขึ้นในประเทศไทยของเรา ซึ่งในแต่ละหมุดหมาย เขาจะมี เป้าหมาย ที่ตั้งไว้ และจะมี “กลยุทธ์” สำคัญในการดำเนินการให้เกิดขึ้น ตาม “เป้าหมาย” และ “หมุดหมาย” และต่างๆ ในที่สุด

แผน 13 คาดหวังว่าหลังจากดำเนินการตาม 13 หมุดหมายด้วยกลยุทธ์ต่างๆ อย่างครบถ้วนแล้ว “จุดหมายปลายทาง” ของประเทศไทยในปี 2570 จะเป็นดังนี้

หนึ่ง เศรษฐกิจมูลค่าสูงบนฐานของเทคโนโลยีและนวัตกรรม สอง การผลิตและการบริโภคมีความยั่งยืน สาม เกิดสังคมแห่งโอกาสสำหรับทุกกลุ่มคนและทุกพื้นที่ สี่ มีกำลังคนสมรรถนะสูง และ ห้า พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่

ในฐานะ “คนช่างฝัน” คนหนึ่ง ผมขอชื่นชมว่า เอกสาร “แผน 13” เป็นเอกสารที่ฝันถึงอนาคตของประเทศไทยในท่ามกลางความเสี่ยงเฉพาะหน้าสารพัดได้ค่อนข้างครบถ้วน

แต่การจะเดินไปให้ถึงเป้าหมายไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย โดยเฉพาะในประเทศไทยของเรา ซึ่งจะมี “ตัวแปร” อีกนับสิบนับร้อย ตัวแปรที่น้องๆ “นักฝัน” ชาวสภาพัฒน์ อาจคาดไม่ถึง

ก็ขอให้นึกถึงคำพูดของ บิลล์ คลินตัน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เคยกล่าวให้กำลังใจนักฝันทั้งหลายว่า “เราทุกคนควรมีความฝันที่ยิ่งใหญ่พร้อมกับออกเดินไล่ล่าความฝันอย่างไม่ย่อท้อ”

“แม้คุณอาจจะผิดหวังและไปไม่ถึงฝัน…แต่สิ่งมหัศจรรย์จะเกิดขึ้นเสมอๆ บนเส้นทางของความพยายาม”

ความฝันในแผน 13 ข้างต้นนี้ ไม่ใช่ความฝันของ สภาพัฒน์…เท่านั้นแต่เป็นความฝันของคนไทยหลายกลุ่มหลายคณะ ในหลายภูมิภาคหลายจังหวัด ที่ สภาพัฒน์ ไปจัดเวทีจุดประกายความฝันไว้ให้

ผมเชื่อเหมือนบิลล์ คลินตัน ครับ ถ้าคนไทยที่ร่วมฝันกับสภาพัฒน์ ช่วยกันสานฝันคนละมือคนละไม้

แม้อีก 5 ปีข้างหน้าเราจะไปไม่ถึงฝัน-แต่สิ่งมหัศจรรย์อะไรบางอย่าง หรือหลายๆ อย่างจะเกิดขึ้นแก่ประเทศไทยของเราอย่างแน่นอน.

“ซูม”

ข่าว, สภาพัฒน์, แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, เทคโนโลยี, เศรษฐกิจ, ดิจิทัล, ประเทศไทย, ซูมซอกแซก