เรียนรู้แผน “ฮัลยู” เกาหลี ส่งออก “วัฒนธรรม” พิชิตโลก

เมื่อวานนี้ ผมเขียนแสดงความยินดีย้อนหลังโดยอ้างรายงานของ “สภาพัฒน์” ที่ว่าประเทศไทยเราได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีอิทธิพลทางวัฒนธรรมสูงเป็นอันดับ 5 ของโลก จากการสำรวจของ CEO WORLD MAGAZINE

แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง เกาหลีใต้ซึ่งมีอิทธิพลทางวัฒนธรรมอยู่แค่อันดับ 23 จากการสำรวจของแมกกาซีนที่ว่านี้…กลับสามารถนำวัฒนธรรมของเขาไปต่อยอดนำเงินเข้าประเทศ และทำให้คนรู้จักประเทศของเขาอย่างมากมายมหาศาล

รายงานของสภาพัฒน์ระบุว่า เกาหลีใต้ได้นำ “วัฒนธรรม” ของตน มาใช้เพื่อการนี้ ตั้งแต่ พ.ศ.2540 เป็นต้นมา โดยกำหนดเป็นเป้าหมายและแนวทางไปพร้อมกับการใช้นโยบายที่เรียกว่า “คลื่นเกาหลี” หรือ Hallyu (อ่านว่า ฮัลยู) เป็นแม่บท

เริ่มจาก ฮัลยู 1.0 ซึ่งใช้ละคร เกาหลีใต้ ในการขับเคลื่อน เพื่อส่งออกและผลักดันวัฒนธรรมของตนเองไปให้โลกภายนอกยอมรับ

ต่อมาระยะสอง หรือ ฮัลยู 2.0 เกาหลีใต้ มีนโยบายส่งเสริม K-Pop มากขึ้น ตามมาด้วย ฮัลยู 3.0 เน้นการส่งเสริมด้านอาหาร เครื่องแต่งกาย ตลอดจนการเปิดการแสดงของศิลปินและการเผยแพร่หนังซีรีส์

ส่วน ฮัลยู 4.0 จะเป็นการหลอมรวม Korean Style โดยเน้นการสร้างนิเวศทางวัฒนธรรม (เกาหลี) ให้แผ่ขยายไปทั่วโลก

ถ้าเราสังเกตจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ไปด้วย ก็เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่เขาวางไว้แทบจะเป๊ะ 100 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

เริ่มจากภาพยนตร์ชุด “แด จัง กึม” ที่ฮิตไปกว่าครึ่งโลก ตามมาด้วย K-pop และภาพยนตร์ซีรีส์ต่างๆ ตลอดจนอาหารเกาหลีต่างๆ

ทุกวันนี้น่าจะมาถึงขั้น ฮัลยู 4.0 คือการหลอมรวมทุกสิ่งทุกอย่าง เข้าด้วยกันแล้วกระมัง…เพราะเราจะเห็นว่าเกือบทุกอย่างที่เอ่ยถึงเมื่อสักครู่ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ โดยเฉพาะภาพยนตร์ซีรีส์ดูแล้วน้ำหูน้ำตาไหลท่วมมือถือ เข้ามายึดประเทศไทยเราอย่างเหนียวแน่นมาก และก็น่าจะยึดประเทศอื่นๆ ได้ตามสมควร

ความพยายามอันยิ่งใหญ่ของเขาที่แสดงให้เห็นล่าสุดก็คือการที่จะใช้ K-pop เข้ายึด “โลกตะวันตก” ให้มากขึ้น หลังจากยึดทวีปอื่นๆ ได้เป็นส่วนใหญ่ (โดยเฉพาะเอเชีย) แต่ยังไปได้ช้าในยุโรปและอเมริกา

ล่าสุด เพลง “Money” ของ ลลิษา มโนบาล ในนาม ลิซ่า แบล็กพิงก์ สามารถบุกเข้าตลาดอเมริกาและยุโรปได้อย่างเหลือเชื่อ จากการติดอันดับสูงๆ ของชาร์ตสำคัญๆ ทั้งในอเมริกาและยุโรป อย่างไม่เคยมีนักร้อง K-pop คนไหนทำได้มาก่อน

ถือเป็นก้าวยาวอีกก้าวหนึ่งของ K-pop ในการบุกตีตลาดสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งจะเป็นการเบิกทางให้เพลง K-pop อื่นๆตามมา

รายงานของสภาพัฒน์ระบุด้วยว่า การดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนนโยบาย ฮัลยู ทั้งหมดข้างต้นนี้ รัฐบาลเกาหลีได้มอบหมายให้กระทรวงหลายกระทรวงไป “บูรณาการ” และช่วยกันคนละไม้คนละมือ

มีการจัดหางบประมาณให้มีการตั้งหน่วยประธานการดำเนินงานอย่างเอาจริงเอาจัง ร่วมมือกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน

สำหรับของไทยเรานั้น รายงานสภาพัฒน์ทิ้งท้ายว่า ได้มีการดำเนินในเรื่องนี้มาบ้างแล้ว และเข้าใจว่าต่อไปจะเน้นหนักมากขึ้น ผมก็ฝากไว้เลยว่าในแผนฉบับ 13 ที่กำลังจัดทำอยู่นี้ให้ถือเรื่องนี้เป็นเรื่องเอกด้วย เรื่องหนึ่งก็แล้วกัน

อย่าท้อแท้ว่าจะสู้เกาหลีเขาไม่ได้ หรือเขาทำมานานแล้ว เราทำทีหลังคงไม่ทันเป็นอันขาด

ต้องคิดอยู่เสมอว่า รสนิยม ของโลกจะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา พวก “Soft Power” ทั้งหลายจึงมักจะผลัดกันฮิต

K-pop ฮิตมานานแล้ว คนอาจเบื่อแล้วก็ได้…ทำดีๆ เพลง T-pop สไตล์ไทยๆ อาจจะแซงหรือเอาชนะเขาได้เหมือนกัน

ผมก็ขอเชียร์ให้เราส่งออก “Thai-Pop” ไปสู้เขาตั้งแต่บัดนี้

ฝากภาครัฐผมไม่แน่ใจ…ฝากภาคเอกชนดีกว่า…ซึ่งในวงการบันเทิง ผมก็รู้จักแต่คุณ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม เจ้าพ่อ “แกรมมี่” อยู่คนเดียวเท่านั้น…ไม่รู้จะฝากใครก็ฝาก อากู๋–ไพบูลย์ นี่แหละ

จะมีหนทางสร้าง T-pop ไปสู้กับ K-pop บ้างไหมครับ…อากู๋?

“ซูม”

ข่าว, K-pop, Soft Power, วัฒนธรรม, วงการบันเทิง, ฮัลยู, สภาพัฒน์, ซูมซอกแซก