ไปฉีด “เข็ม 3” มาแล้วครับ! ได้ชื่อใหม่ “ไฟเซอร์” มาฝาก

ผมไปฉีดวัคซีนป้องกันโควิด–19 “เข็ม 3” หรือบูสเตอร์โดส (Booster Dose) มาเรียบร้อยแล้วครับ นับได้ 24 ชั่วโมงพอดิบพอดี ขณะที่เขียนต้นฉบับวันนี้…ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เจ้าประจำของผม เมื่อบ่าย 2 โมง วันอังคารที่ผ่านมา

ดูเหมือนผมจะเคยเล่าแล้วว่าผมฉีด แอสตราเซเนกา สำหรับเข็มแรก และเข็มที่สอง เมื่อเดือนเมษายนกับเดือนมิถุนายน โดยประมาณในฐานะคนไข้ที่มีความเสี่ยงสูง ทั้งอายุมาก และเป็นสารพัดโรค ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เขามีประวัติเอาไว้พร้อม

จากนั้นก็รออยู่ว่าจะมีโอกาสฉีดเข็มสามกะเขาบ้างไหมหนอ? และถ้ามีโอกาสจะฉีดเมื่อไร? เพราะเราคงจะต้องกระจายการฉีดไปสู่พี่น้องประชาชนอย่างทั่วถึงเสียก่อน

ผลก็ปรากฏว่า จากการกระจายการฉีดอย่างรวดเร็วและทั่วถึง ทำให้เปอร์เซ็นต์ของผู้ฉีดเข็มแรกและเข็มสองขึ้นมาสูงมากอย่างที่เป็นข่าวคราว จึงทำให้ผู้อาวุโสรุ่นแรกๆ ที่ฉีดไปแล้ว 2 เข็ม ได้รับหมายเรียกตัว…เอ๊ย “เมสเสจ” ตามตัวให้ไปฉีดตามเวลาและสถานที่ที่หมอพร้อมจัดสรรไว้ให้

2 ครั้งแรกทางโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติจะเรียกผมโดยตรง…แต่ครั้งหลังนี้มาจากแอป “หมอพร้อม” เลยนะครับ

ผมตื่นเต้นมากที่พบว่าผมเป็นคนไข้ใน “ระดับชาติ” ไปเสียแล้ว ไม่ใช่คนไข้ของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เท่านั้น เพราะบัดนี้ชื่อและข้อมูลของผมไปอยู่กับ “หมอพร้อม” ของกระทรวงสาธารณสุขเรียบร้อยแล้ว ต่อไปนี้มีอะไรท่านคงจะติดต่อมาที่ผมโดยตรงว่างั้นเถอะ

ซึ่งผมก็ไปตามนัดและก็รู้สึกตื่นเต้นเป็นครั้งที่ 2 เมื่อพบว่ามีพี่น้องประชาชนอีกมากมายที่ได้เวลานัดใกล้เคียงกับผมมานั่งรอฉีดวัคซีน อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ดังกล่าว

เหมือนนั่งเก้าอี้รอคิวขึ้นรถตู้ยังไงยังงั้น…พอคนแรกขึ้นรถปุ๊บ คนถัดไปก็ขยับมานั่งแทนและขยับไปเรื่อยๆ จนกว่าเราจะได้ขึ้นรถในที่สุด

นี่ก็เช่นกัน พอคนแรกได้รับการขานชื่อจากเจ้าหน้าที่ให้เข้าไปฉีด…คนถัดไปก็ขยับเก้าอี้ไปนั่งตัวที่ 1 เพื่อรอการเรียกเข้าไปฉีดเป็นคนต่อไป

แผล็บเดียวก็ได้ฉีดแล้วครับ เร็วกว่าไปนั่งเก้าอี้รอรถตู้หลายเท่าเลยละ

ฉีดเสร็จก็ไปนั่งรอดูอาการว่าจะมีอะไรแทรกซ้อนหรือไม่เหมือน 2 เข็มแรก…แต่คราวนี้ใช้เวลาสั้นกว่า เหลือแค่ 15 นาทีเท่านั้นเอง

เมื่อครบเวลาดูอาการตามกำหนดแล้ว ผู้เข้ารับการฉีดก็จะเดินต่อไปยื่นเอกสารที่ห้องอีกห้องหนึ่ง ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลมาจัดการออกใบรับรองการฉีดให้แก่เราอย่างเป็นทางการอีก 1 ฉบับ

เพื่อจะได้นำไปเป็นหลักฐานในการทำ วัคซีนพาสปอร์ต หรือนำไปใช้แสดงในกรณีที่จำเป็นสำหรับสถานที่บางแห่ง

ซึ่งก็รออีกแผล็บเดียว ทุกอย่างก็แล้วเสร็จอย่างรวดเร็ว

จากใบรับรองที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ออกให้และจาก “หมอพร้อม” ที่ผมมาตรวจสอบภายหลังนี่เอง พบว่ามีบางประเด็นที่ควรจะทำความเข้าใจเพื่อที่ผู้คนจะได้ไม่เกิดความสงสัยว่า คุณหมอ หรือคุณพยาบาล “ฉีดวัคซีนผิด” ให้หรือเปล่า

เพราะเราได้รับนัดไปว่าจะฉีดไฟเซอร์ แต่ใบรับรองกลับเขียนชื่อวัคซีนที่เราฉีดในเข็มที่ 3 นี้ว่า “Comirnaty” ไปเสียนี่…ไม่ยักกะเขียนว่า Pfizer หรือไฟเซอร์อย่างที่คาดไว้

เรื่องนี้หลายท่านอาจทราบแล้ว เพราะเป็นข่าวมานานแล้ว แต่เนื่องจากเรายังพูดคุย ยังเขียนข่าว ยังบอกข่าว และบอกกล่าวกันอย่างคุ้นเคยว่า “ไฟเซอร์” อยู่ตลอดเวลา จนทำให้ลืมชื่อวัคซีนที่แท้จริงไปเสียสนิท

ถ้าท่านผู้อ่านจำได้ เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา หลังจาก อย.สหรัฐฯ รับรองวัคซีนนี้อย่างเป็นทางการ และ WHO ก็รับรองเรียบร้อยแล้ว ทางบริษัทไฟเซอร์ก็แถลงออกมาเป็นข่าวใหญ่ว่า เขาจะเรียกชื่อวัคซีนตัวนี้ว่า Comirnaty …แถมบอกด้วยว่าให้อ่าน ว่า “โค-เมียร์-นา-ที” หรือ “นา–ตี้”

มีการอธิบายเพิ่มเติมว่า คำคำนี้เป็นคำที่ผสมผสานมาจาก Covid-19 immunity บวกกับอักษรย่อ mRNA หรือสารพันธุกรรมในการพัฒนาวัคซีนประเภทนี้…จึงออกมาเป็น “Comirnaty” ดังกล่าว

แต่จะเป็นเพราะชื่อนี้ออกเสียงยาก แม้แต่ฝรั่งด้วยกันยังส่ายหัว…ก็เลยไม่ค่อยได้รับความนิยม…ผู้คนทั่วโลกรวมทั้งสื่อมวลชนทั่วโลกด้วยมั้งยังคงเรียกวัคซีนตัวนี้ว่า ไฟเซอร์ (ซึ่งเป็นชื่อบริษัท ต่อไปตามเดิม)…ยกเว้นในใบกรอกของโรงพยาบาลต่างๆ และในแอป “หมอพร้อม” อย่างที่ว่า

เพราะฉะนั้น หากใครได้คิวไปฉีดวัคซีน “เทพ” ไฟเซอร์แล้วไปเจอ “โคเมียร์นาตี้” ก็อย่าตกใจว่าเป็นวัคซีน “อสูร” หรือนึกว่าคุณพยาบาลฉีดยา “ผิดเข็ม” นะครับ…ยี่ห้อเดียวกันจ้า!

“ซูม”

ข่าว, วัคซีน, เข็ม 3, ไฟเซอร์, โคเมียร์นาตี้, Comirnaty, หมอพร้อม, ซูมซอกแซก